สวนปัสสาวะผู้ป่วยติดเตียง อย่างไรให้ถูกต้อง ไม่เสี่ยงติดเชื้อ

สวนปัสสาวะ ผู้ป่วยติดเตียง

ผู้ที่มีสุขภาพดีควรปัสสาวะวันละ 5-6 ครั้ง หากน้อยหรือมากกว่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนบางอย่างให้คุณดูแลร่างกายตัวเองมากขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยติดเตียงซึ่งอยู่ในขั้นที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ อาจต้องอาศัยวิธีการสวนปัสสาวะเพื่อให้ร่างกายขับถ่ายของเสียออกมา เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการ เช่น กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะไม่มีแรง เส้นประสาทที่ควบคุมการปัสสาวะผิดปกติ โรคเกี่ยวกับสมอง ที่ทำให้ไม่สามารถปัสสาวะด้วยตัวเองได้ เป็นต้น ดังนั้นจึงจำเป็นที่ผู้ดูแลจะต้องดูแลการสวนปัสสาวะให้ผู้ป่วยติดเตียงอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยผู้ดูแลสามารถดูแลรักษาสุขอนามัยของระบบขับถ่ายปัสสาวะให้กับผู้ป่วยได้ ดังนี้

1. การเตรียมอุปกรณ์และจัดท่าทาง

ผู้ป่วยควรอยู่บนที่นอนผู้ป่วยติดเตียงที่มีความมั่นคงดี จัดสภาพแวดล้อมโดยปิดม่านกั้นให้มิดชิดเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว เตรียมอุปกรณ์ที่ต้องใช้ให้เรียบร้อย โดยอุปกรณ์หลัก ๆ ที่ต้องมีได้แก่ สายสวนปัสสาวะ, เจลหล่อลื่น, ถุงมือ, น้ำเกลือหรือน้ำยาทำความสะอาด, ถาดใส่อุปกรณ์ทำความสะอาด, สำลี, และภาชนะรองปัสสาวะ เมื่อผู้ดูแลประเมินดูความเรียบร้อยแล้ว ให้ผู้ดูแลล้างมือทำความสะอาดแล้วใส่ถุงมือให้พร้อม พร้อมทังแจ้งให้ผู้ป่วยทราบก่อนทำการสวนปัสสาวะ จากนั้นให้ช่วยผู้ป่วยชันเข่าขึ้นแล้วแยกขาออก

2. การทำความสะอาดก่อนสวนปัสสาวะ

ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศของผู้ป่วยด้วยสำลีให้ทั่วถึง โดยแยกสำลีแต่ละชิ้นกับการเช็ดอวัยวะแต่ละส่วน ในกรณีของผู้หญิงจะเป็นหัวหน่าว แคมนอก แคมใน ช่องปัสสาวะ และรูทวาร ในกรณีของผู้ชายจะเป็นหัวหน่าว องคชาต รูปัสสาวะ ไปจนถึงอัณฑะและรูทวาร เพราะหากไม่ทำความสะอาดอย่างทั่วถึงจะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะได้ เมื่อทำความสะอาดเสร็จแล้วให้เปลี่ยนถุงมืออีกครั้งก่อนทำการสวนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

3. วิธีสวนและการดำเนินการระหว่างการสวนปัสสาวะ

ใช้เจลหล่อลื่นทาปลายสายสวนปัสสาวะประมาณ 1 นิ้วเพื่อลดอาการระคายเคือง เมื่อกำลังจะสอดสายปัสสาวะ ให้ทำความสะอาดช่องปัสสาวะอีกครั้ง แล้วแจ้งให้ผู้ป่วยทราบก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ ดันสายสวนปัสสาวะเข้าไป ผู้ป่วยหญิงให้สวนด้วยความลึกประมาณ 3 นิ้ว ผู้ป่วยชายให้ใส่ลึกจนสุดสาย แล้วปล่อยให้น้ำปัสสาวะไหลลงภาชนะรองรับจนกว่าจะหยุดไหล เมื่อหยุดไหลแล้วให้ใช้มือกดหัวหน่าวของผู้ป่วยเบา ๆ เพื่อให้ปัสสาวะไหลออกมาอีก ทำซ้ำ ๆ ระหว่างการดึงสายสวนออกทีละนิดเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีปัสสาวะตกค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วยติดเตียง จนกระทั่งสายสวนถูกดึงออกมาจนหมด

หมายเหตุ: ก่อนทาเจลหล่อลื่น ให้ทำการบีบเจลส่วนแรกทิ้งก่อน เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกที่อาจติดค้าง

4. การทำความสะอาดและเก็บอุปกรณ์หลังสวนปัสสาวะ

เมื่อสวนปัสสาวะจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เช็ดทำความสะอาดช่องปัสสาวะและบริเวณอวัยวะเพศอีกครั้ง อย่าลืมซับให้แห้งหลังทำความสะอาดเสร็จเพื่อป้องกันความอับชื้น ควรสังเกตและบันทึกลักษณะของน้ำปัสสาวะที่สวนออกมาด้วย ล้างอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการสวนให้สะอาด แล้วแช่สายสวนด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ก่อนเก็บรักษาไว้ให้พร้อมใช้สำหรับการสวนปัสสาวะครั้งถัดไป

ประโยชน์ของการช่วยสวนปัสสาวะที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วยติดเตียง นอกจากจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ และการเสื่อมสภาพของไตแล้ว ยังเป็นการช่วยรักษาความสะอาดบนที่นอนผู้ป่วยติดเตียง ป้องกันไม่ให้เกิดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ และช่วยลดปัจจัยที่จะก่อให้เกิดการติดเชื้อของแผลกดทับไปในตัว สำหรับความถี่และเวลาควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ทำได้อย่างถูกต้อง เพียงเท่านี้ก็จะช่วยดูแลการปัสสาวะของผู้ป่วยให้ถูกสุขลักษณะได้แล้ว