การดูแลผู้ป่วยติดเตียงเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจสำหรับใครหลาย ๆ คน เพราะมีหลายเรื่องที่จะต้องดูแลและใส่ใจอยู่ตลอดเวลา ยิ่งโดยเฉพาะเรื่องเสื้อผ้าของผู้ป่วย จะรู้เพียงวิธีการสวมใส่เสื้อผ้าให้กับผู้ป่วยไม่พอ ต้องรู้วิธีการถอดเปลี่ยนเสื้อผ้าให้กับผู้ป่วยด้วย ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งงานที่หลายคนมักกังวลใจและรู้สึกไม่มั่นใจที่จะทำ ดังนั้นในครั้งนี้เราจึงมีเทคนิคง่าย ๆ ในการถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยที่ช่วยเหลือดูแลตัวเองไม่ได้มากระซิบบอกกับทุก ๆ คน จะมีอะไรบ้างนั้นมาดูกันเลย
ผู้ป่วยติดเตียงควรเปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อยแค่ไหน
การพิจารณาความเหมาะสมและความถี่ในการเปลี่ยนเสื้อผ้าให้กับผู้ป่วยติดเตียงนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย สิ่งแรกผู้ดูแลต้องทำความเข้าใจบริบทสภาวะแวดล้อม สภาพร่างกาย และอาการของผู้ป่วยติดเตียงก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง ผู้ป่วยทานอาหารเคี้ยวง่ายย่อยง่ายตามปกติได้หรือไม่ หรือว่าต้องให้อาหารผ่านถุงอาหาร การขับถ่ายของผู้ป่วยติดเตียงเป็นอย่างไร ผู้ป่วยเป็นคนร้อนง่ายมีเหงื่อเยอะหรือไม่ ผิวของผู้ป่วยติดเตียงบอบบางและระคายเคืองง่ายเพียงใด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่จะชี้ว่าเราควรเปลี่ยนเสื้อผ้าให้กับผู้ป่วยติดเตียงบ่อยแค่ไหน
ผู้ป่วยติดเตียงบางคนแม้จะนอนบนที่นอนป้องกันแผลกดทับแล้ว แต่ด้วยเป็นคนแพ้ง่าย ผิวสัมผัสความชื้นหรือเหงื่อเพียงเล็กน้อยก็ทำให้เป็นผื่นและอาจจะกลายเป็นแผลกดทับได้ในภายหลัง บางคนอาจมีปัญหาเรื่องการกลืนยากเวลารับประทานอาหาร ทำให้อาหารมักเลอะเสื้อผ้า ผู้ป่วยติดเตียงบางคนอาจมีปัญหาเรื่องการขับถ่าย กรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาแบบนี้ก็ควรจะเปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อยสักหน่อย โดยควรเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง เพราะถ้าเสื้อผ้าเลอะแล้วเราไม่เปลี่ยนก็จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัว เมื่อไม่สบายตัวก็จะส่งผลต่อการนอนหลับทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะหลับยาก ไม่เพียงแค่นั้นสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่ถูกหมักหมมจะนำมาซึ่งแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย จนอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ ดังนั้นถ้าพิจารณาแล้วว่าผู้ป่วยมีความอ่อนไหวทางด้านร่างกายค่อนข้างมากก็ควรจะเปลี่ยนเสื้อผ้าให้กับผู้ป่วยบ่อยสักหน่อย เพื่อสุขอนามัยที่ดีของผู้ป่วยนั่นเอง
เทคนิคและขั้นตอนการถอดเสื้อผ้าให้กับผู้ป่วยติดเตียง
อย่างที่ทราบกันว่าเสื้อผ้าที่เหมาะกับผู้ป่วยที่ดูแลช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็จะเป็นเสื้อประเภทที่สวมใส่ง่าย ระบายอากาศได้ดี เพื่อที่เวลาจะทำการถอดเปลี่ยนก็ง่ายและสะดวกไปด้วย อันได้แก่ เสื้อคอกระเช้ากับเสื้อผ่าหน้า รวมถึงกางเกงแบบผูกหรือการนุ่งเป็นผ้าเตี่ยว ดังนั้นเราจึงจะขอแนะนำเทคนิคในการถอดเปลี่ยนเสื้อผ้าเหล่านี้สำหรับผู้ป่วยติดเตียงกัน
การถอดเสื้อคอกระเช้าให้กับผู้ป่วย
- ให้เริ่มต้นจากการจับชายเสื้อด้านหน้าเลิกขึ้นมาด้านบน โดยดึงขึ้นมาให้ได้เยอะที่สุด จนรู้สึกว่าชายเสื้อตึงจนเลิกขึ้นไม่ได้แล้ว
- ต่อมาให้พลิกตะแคงตัวผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงซีกหนึ่ง ให้เราพลิกตะแคงด้านที่ผู้ป่วยพอมีแรงขึ้นมาก่อน จากนั้นให้เลิกชายเสื้อด้านหลังของผู้ป่วยขึ้นมาให้ได้สูงที่สุด อาจจะรั้งขึ้นมาให้เลยหัวไหล่ผู้ป่วยก็ได้ กรณีที่ผู้ป่วยอ่อนแรงทั้งสองข้างจะพลิกตะแคงข้างไหนก่อนก็ได้แล้วแต่ความสะดวกของเรา
- พลิกตะแคงตัวผู้ป่วยไปอีกด้านแล้วเลิกชายเสื้ออีกข้างให้สูงขึ้นในระดับเดียวกันกับที่ทำครั้งแรก
- ให้ผู้ป่วยนอนหงาย จากนั้นให้จับปลายชายเสื้อด้านหลังทั้งสองข้างที่เราเลิกขึ้นมาก่อนหน้านี้ไว้ แล้วค่อย ๆ ดึงเสื้อออกจากศีรษะของผู้ป่วย
- หากผู้ป่วยมีการใช้สายให้อาหารก็จะต้องใช้ความระมัดระวังสักเล็กน้อย อาจเก็บปลายสายให้อาหารวางไว้บนอกของผู้ป่วยก่อนก็ได้ โดยใช้มือข้างหนึ่งยึดสายให้อาหารให้อยู่กับที่ไว้หนึ่งจุด จากนั้นใช้มืออีกข้างขยับปลายสายไปข้างไว้ด้านบนของหมอนหนุนศีรษะผู้ป่วย เมื่อเก็บสายให้อาหารเรียบร้อย ก็ค่อย ๆ ถอดเสื้อออกจากแขนผู้ป่วยทีละข้าง เท่านี้ก็เป็นอันเรียบร้อย
การถอดเสื้อผ่าหน้าให้กับผู้ป่วย
- เริ่มต้นจากการแก้เชือกของเสื้อที่ผูกกันไว้ให้หมด จากนั้นพลิกตะแคงตัวผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงซีกหนึ่ง ให้เราพลิกตะแคงด้านที่อ่อนแรงขึ้นมาก่อน จากนั้นเลิกชายเสื้อด้านหลังให้สูงขึ้น ส่วนถ้าผู้ป่วยอ่อนแรงทั้งสองด้านก็จะทำข้างไหนก่อนก็ได้
- พลิกตัวผู้ป่วยให้นอนหงาย ถอดเสื้อฝั่งที่ผู้ป่วยยังพอมีแรง รั้งผ้าจากหัวไหล่ลงไปยังบริเวณศอก จากนั้นยกประคองแขนผู้ป่วยขึ้นเล็กน้อย แล้วดึงเสื้อออกจากแขนผู้ป่วย
- นำชายเสื้อข้างที่ถอดแล้ว สอดเข้าไปที่บริเวณท้ายทอยของผู้ป่วย ให้ปลายเสื้อโผล่ไปอีกฝั่ง
- จากนั้นพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยเหมือนครั้งแรกอีกหนึ่งรอบ จากนั้นก็ดึงเสื้อทั้งหมดออกจากตัวผู้ป่วย ตรงแขนเสื้อข้างที่เหลือก็ให้ยกประคองแขนผู้ป่วยขึ้นเล็กน้อย แล้วรูดเสื้อออกได้เลย เป็นอันจบขั้นตอนการถอดเสื้อผ่าหน้า
การถอดกางเกงให้กับผู้ป่วย
การถอดกางเกงให้กับผู้ป่วยนั้นก็เทคนิคและขั้นตอนก็จะคล้าย ๆ กับการถอดเสื้อ ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
- เริ่มต้นจากการปลดเชือกที่มัดกางเกง คลายให้กางเกงหลวม จากนั้นค่อย ๆ ปลดขอบกางเกงลงจากสะโพกของผู้ป่วยทั้งสองข้าง ปลดกางเกงลงมาด้านล่างให้ถึงระดับเข่าได้ยิ่งดี
- จากนั้นให้ถอดกางเกงจากขาข้างที่มีแรงก่อน โดยประคองขาข้างที่มีแรงของผู้ป่วยขึ้นมาอยู่ในท่าชันเข่า แล้วถอดกางเกงออกจากขา หลังจากนั้นวางขาที่ยกชันเข่าวางราบลงไปเช่นเดิม
- ต่อมาให้ทำแบบเดียวกันกับข้อ 2 แต่เปลี่ยนข้างเป็นการถอดกางเกงจากขาข้างที่อ่อนแรง หลังจากดึงกางเกงออกจากขาผู้ป่วยได้แล้วก็วางขาที่ยกชันเข่าวางราบลงไป เป็นอันจบขั้นตอนการถอดกางเกงผู้ป่วย
นี่คือ เทคนิคการถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยติดเตียงที่เราขอมากระซิบให้กับทุกคนได้รับทราบกัน ใครที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่ช่วยเหลือดูแลตนเองไม่ได้ ลองนำไปปรับใช้ดูได้เลย แล้วการดูแลผู้ป่วยติดเตียงจะเป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวกขึ้น