วิธีพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียง โดยนักกายภาพบำบัด หรือการพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงอย่างถูกวิธีถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับได้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถทำได้อย่างถูกต้อง การพลิกตัวผิดท่า นอกจากจะเกิดอันตรายกับผู้ป่วยแล้ว ยังอาจทำให้ผู้ดูแลได้รับบาดเจ็บ ก่อให้เกิดอาการปวดหลัง ปวดเอวกับผู้ดูแลได้ จึงจำเป็นต้องมีผู้มีความรู้เฉพาะทางอย่างนักกายภาพบำบัด ซึ่งผ่านการฝึกฝนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมาแล้วเป็นผู้แนะนำ โดยมี 5 ข้อสำคัญสำหรับการพลิกตัวผู้ป่วยอย่างถูกต้องที่ทำโดยนักกายภาพบำบัดคือ
1. จัดท่าจัดทาง ไม่ห่างไม่ชิด
ก่อนเริ่มพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียง นักกายภาพบำบัดจะทำการจัดตำแหน่งของผู้ป่วยไม่ให้ห่างหรือชิดขอบที่นอนจนเกินไป กล่าวคือควรให้ผู้ป่วยอยู่ห่างจากขอบที่นอนประมาณนึง เพื่อให้ผู้ป่วยมีพื้นที่หลังจากพลิกตัวและป้องกันการพลาดพลิกตกเตียง นอกจากนี้ให้ตรวจดูว่า มีสิ่งกีดขวางหรือเป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วยหรือไม่ด้วย พร้อมทั้งบอกให้ผู้ป่วยทราบก่อนการพลิกตัวทุกครั้งเพื่อลดอาการเกร็งจากความกังวลของผู้ป่วย และถือเป็นวิธีหนึ่งในการสร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยไว้วางใจผู้ดูแลนั้นเอง
2. พิจารณาถึงโรคที่ผู้ป่วยเป็นร่วมด้วย
ผู้ป่วยติดเตียงบางท่านเป็นโรคอัมพฤกษ์ครึ่งซีก ซึ่งควรหลีกเลี่ยงการกดทับบนร่างกายด้านที่เป็นอัมพฤกษ์หรือด้านที่อ่อนแรงนานจนเกินไป พร้อม ๆ กับใช้หมอนหนุนรองรับช่วงข้อศอก หัวไหล่ และตาตุ๋มข้างที่อ่อนแรงด้วย
3. เตรียมหมอนหนุนรองรับช่วงแขนขาก่อนการพลิกตัว
ก่อนทำการพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียง ผู้ดูแลควรเตรียมหมอน 2-3 มาวางเตรียมไว้ในที่หยิบจับได้สะดวก อาจวางไว้ข้างลำตัวผู้ป่วยในด้านเดียวกับผู้ดูแลก็ได้ เพื่อใช้ในการหนุนรองรับแขนและขาของผู้ป่วย เพื่อป้องกันการกดทับของแขนและขา และยังเป็นการช่วยจัดท่านอนให้ผู้ป่วยติดเตียงถูกต้องหลังจากพลิกตะแคงตัวด้วย
4. พลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงตะแคงเข้าหาตัวผู้ดูแลอย่างช้า ๆ และระมัดระวัง
สำหรับการพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยนั้น ทิศทางในการพลิกตัวให้พลิกหันเข้ามาหาทางด้านตัวผู้ดูแล ไม่ใช้การผลักออกจากตัวผู้ดูแล ระวังไม่ให้เกิดการพลิกตัวเป็นท่านอนคว่ำ ให้พลิกตัวผู้ป่วยเป็นท่านอนหงายหรือท่าตะแคงซ้ายขวาเท่านั้น
ก่อนเริ่มพลิกตัวให้กางแขนผู้ป่วยด้านที่อยู่ด้านเดียวกันกับผู้ดูแล ให้แขนผู้ป่วยกางออกเล็กน้อยและงอศอกเล็กน้อย ชันเข่าข้างตรงข้ามขึ้น หากขาของผู้ป่วยอ่อนแรงไม่สามารถทรงท่าได้ ผู้ดูแลควรจับประคองเข่าให้มั่นคง พร้อมทั้งจับแขนผู้ป่วยด้านไกลตัวผู้ดูแลมาวางบนตัวผู้ป่วยเอง ระหว่างการพลิกตัวให้จับที่ต้นขาและต้นแขนของผู้ป่วยด้านตรงข้ามกับผู้ดูแล โดยให้ท่อนแขนประคองหัวเข่าและขาผู้ป่วยไว้ พร้อมออกแรงดึงเข้าหาตัวผู้ดูแลช้า ๆ อย่างนุ่มนวล และออกแรงพลิกอย่างช้า ๆ อย่างระมัดระวัง คลิกเพื่อดูขั้นตอนการพลิกตัวอย่างละเอียด
เมื่อพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยได้แล้ว อย่ารีบปล่อยมือออกจากตัวผู้ป่วยเพราะตัวผู้ป่วยอาจจะพลิกคว่ำหรือหงายกลับได้ ค่อยๆ จัดท่าผู้ป่วยให้เรียบร้อยก่อน
- ในกรณีของท่าตะแคง เมื่อพลิกตัวได้แล้วให้จัดท่าไม่ให้แขนกับขาด้านล่างถูกทับมากเกินไป สังเกตว่าผู้ป่วยสามารถหายใจได้สะดวก ผู้ป่วยไม่ได้นอนทับไหล่ แขน มือ ของผู้ป่วยเอง ตรวจสอบว่าขา เข่า เท้า ให้อยู่ท่าทางที่ถูกต้อง ลำตัวของผู้ป่วยจะต้องอยู่ท่าที่ถูกต้อง ไม่บิดคดเอียงเช่นกัน รวมถึงตรวจสอบสายท่อต่างๆ ว่าอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ เมื่อตรวจสอบและจัดท่าทางเรียบร้อยแล้ว นำหมอนที่เตรียมไว้มารองแขนผู้ป่วย จัดหมอนรองที่ขาข้างที่พลิกมาโดยขาจะอยู่ท่างอเล็กน้อย ส่วนขาด้านล่างให้เหยียดออก และสามารถนำหมอนอีกใบมาหหนุนรองด้านหลังของผู้ป่วยเพื่อป้องกันการพลิกหงายกลับมาของป่วยเอง
- ในกรณีของท่านอนหงาย เมื่อผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงายแล้วจัดท่าทางของผู้ป่วยให้ถูกต้อง จัดศีรษะผู้ป่วยให้ตรง ไม่พับ เอียงไปทางใดทางหนึ่ง และศีรษะต้องไม่ก้มงอหรือเชิดเงยคางเกินไป เพราะอาจทำให้ลำลักได้ง่าย และหายใจได้ลำบาก ต้องสังเกตว่าการหายใจของผู้ป่วยต้องเป็นปกติด้ว ย ถ้ามีสายท่อต่างๆ ตรวจสอบความเรียบร้อยของสายท่อต่างๆ ที่มีให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องเหมาะสม สามารถนำหมอนมารองเข่าทั้ง 2 ข้าง ขาจะอยู่ในท่างอเล็กน้อย รวมถึงนำผ้าขนหนูหรือหมอนใบเล็กๆ มาหนุนรองขาด้านนอก ตาตุ่มด้านนอกเพื่อจัดท่าทางของขาผู้ป่วยให้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น และยังช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับได้ด้วย
ไม่ว่าการพลิกตัวจะทำบนที่นอนป้องกันแผลกดทับแบบยางพารา หรือที่นอนลมป้องกันแผลกดทับ ก็ควรใช้ความระมัดระวังไม่ต่างกัน ในแต่ละท่านอนนั้นสามารถปล่อยให้ผู้ป่วยนอนค้างได้ซักพัก แต่ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง เพื่อช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับ
5. ใช้หมอนหนุนที่จุดสำคัญ
อุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อป้องกันแผลกดทับและช่วยในการพลิกตัว คือหมอนหนุนที่มีความนุ่มและแน่นอย่างพอดี เพราะถึงแม้ผู้ป่วยจะอยู่บนที่นอนป้องกันแผลกดทับอยู่แล้ว การใช้หมอนมาเสริมจะช่วยป้องกันจุดสำคัญซึ่งส่วนใหญ่เป็นปุ่มกระดูกไม่ให้ถูกกดทับมากขึ้น
สำหรับท่าตะแคงข้างให้ใช้หมอน 2-3 ใบ คือ
- หมอนใบที่ 1 ให้ใช้รองเข่าของขาด้านบนที่งอขึ้น ผู้ป่วยจะมีท่าทางคล้ายกับใช้ขาก่ายหมอน ส่วนขาอีกข้างหนึ่งที่อยู่ด้านล่างให้อยู่ในลักษณะกึ่งเหยียดกึ่งงอ
- หมอนใบที่ 2 ให้ใช้รองใต้แขนบริเวณข้อศอกด้านบนที่งอขึ้น ส่วนแขนอีกข้างที่อยู่ด้านล่างให้ระวังไม่ให้ถูกทับ
- ส่วนหมอนใบที่ 3 ให้ใช้รองที่หลัง เพื่อป้องกันไม่ให้ลำตัวพลิกกลับไปเป็นท่านอนหงายระหว่างเปลี่ยนเป็นท่าตะแคงอยู่
สำหรับท่านอนหงาย ให้ใช้หมอนรองบริเวณข้อพับใต้หัวเข่า หรืออาจไม่รองก็ได้หากรองแล้วผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัว แต่จุดสำคัญที่อาจใช้ผ้าขนหนูรองได้คือส่วนส้นเท้าและข้อศอก
ระยะเวลาในการพลิกตัวที่เหมาะสมที่นักกายภาพบำบัดแนะนำ คือควรพลิกตัวทุก ๆ 2 ชั่วโมง ซึ่งขึ้นอยู่กับการเลือกชนิดที่นอนของผู้ป่วยด้วย หากที่นอนมีความแข็งมากก็จำเป็นต้องกำหนดเวลาพลิกตัวที่ถี่กว่านั้น และควรบอกผู้ป่วยติดเตียงทุกครั้งก่อนทำการพลิกตัว เพื่อป้องกันความเครียดและความกังวลกับผู้ป่วย ผู้ดูแลทุกท่านจำเป็นต้องเรียนรู้ขั้นตอนการพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียง แบบละเอียด เพื่อลดโอกาสการเกิดแผลกดทับ และช่วยผ่อนแรงผู้ดูแลในการพลิกตัว ให้การพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ทำได้ทุก ๆ 2 ชั่วโมงนะคะ