การเจาะคอใส่ท่อหลอดลมถือเป็นหนึ่งในการรักษาทางการแพทย์ที่เราพบได้บ่อยในผู้ป่วยวิกฤตหรือผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งการเจาะนั้นเป็นทั้งแบบชั่วคราวหรือถาวรก็ขึ้นอยู่กับสภาวะของผู้ป่วยรายนั้นๆตามที่แพทย์เห็นสมควร เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
การเจาะคอ
คือการเปิดรูบริเวณด้านหน้าของลำคอ เพื่อสร้างทางติดต่อระหว่างหลอดลมกับผิวหนัง เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาการหายใจสามารถหายใจได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยที่ไม่ต้องผ่านช่องทางจมูก
สาเหตุที่ต้องเจาะคอ
- มีการหายใจลำบากเนื่องมีเสมหะคั่งค้างที่ไม่สามารถขับออกมาได้
- มีการอุดกั้นทางเดินหายใจ เช่น โรคหลอดลมอุดตัน มะเร็งที่คอ กล่องเสียงทะลุจากอุบัติเหตุ มีก้อนหรือสิ่งแปลกปลอม ในหลอดลมหรือกล่องเสียง เป็นต้น
- ผู้ป่วยไม่มีสติ อาการโคม่า เป็นอัมพาต
- ได้รับการผ่าตัด ศรีษะ คอ หรือมีการบาดเจ็บ คอหรือผนังทรวงอกอย่างรุนแรง
ท่อหลอดลมคอ
คือ ท่อทีใส่เข้าไปในหลอดลมคอภายหลังจากการเจาะคอ โดยใส่ผ่านผิวหนังและกล้ามเนื้อคอ เพื่อเป็นทางผ่านให้อาการผ่านเข้าสู่หลอดลมและปอดโดยไม่ต้องผ่านทางจมูกและส่วนบนของลำคอ และยังเป็นทางให้ผู้ป่วยไอขับเสมหะออกจากหลอดลม หรือดูดเสมหะออกมาได้
ชนิดของท่อหลอดลม
- ชนิดพลาสติก
- ชนิดโลหะ
ส่วนประกอบของท่อหลอดลม
- ท่อชั้นนอก (outer tube)
- ท่อชั้นใน (inter tube)
การดูแลท่อหลอดลมคอ
- ทำความสะอาดแผล และผ้าก๊อซอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือเมื่อมีการเปียกแฉะ สกปรก
- ทำความสะอาดท่อหลอดลมชั้นในวันละ 2 ครั้ง หรือมากกว่าขึ้นอยู่กับความเหนียว มาก ของเสมหะ
- ควรใช้ผ้าพันคอคลุมปิดรูของท่อหลอดลมคอ เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมหรือฝุ่นละอองเข้าหลอดลม
การทำความสะอาดท่อหลอดลมคอชั้นใน
- หมุนล็อคท่อหลอดลมคอ แล้วถอดท่อหลอดลมคอใช้ในออก
- ใช้แปรงหรือผ้าดันเสมหะออกจากท่อให้หมด
- ใช้แปรงหรือผ้าชุบน้ำยาล้างจานหรือสบู่ถูทั้งภายนอกและในท่อ
- ในกรณี ท่อโลหะ ล้างน้ำให้สะอาด ต้มน้ำเดือดนาน 30 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
- ในกรณี ท่อพลาสติก ล้างแล้วแช่ในน้ำยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซต์ 30 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
- ก่อนนำกลับไปใส่สลัดท่อให้แห้งสนิท ไม่มีหยดน้ำขังค้างอยู่ภายในท่อ
วิธีการทำความสะอาดแผลท่อหลอดลมคอ
- จัดท่าให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย หนุนต้นคอด้วยผ้าหรือหมอนเล็กน้อย เพื่อให้คอแอ่นขึ้นเล็กน้อย
- ใช้กรรไกรตัดพลาสเตอร์ที่ติดบนก๊อซออก แล้วดึงผ้าก๊อซที่รองใต้ท่อหลอดลมคอออก
- ล้างมือให้สะอาดและเช็ดมือให้แห้ง
- ใช้ปากคีบสำลีชุบน้ำเกลือหรือแอลกอฮอล์หมาดๆเช็ดผิวหนังรอบๆท่อหลอดลมคอ
- ใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำเกลือ เช็ดใต้ท่อหลอดลมคอทั้งด้านบนและด้านล่างให้สะอาด
- สอดผ้าก๊อซตัดรูปตัว Y รองใต้ท่อหลอดลม
- แล้วปิดพลาสเตอร์บริเวณชายผ้าก๊อซด้านล่างให้สนิท
หมายเหตุ : อุปกรณ์ที่ใช้แล้ว ได้แก่ กรรไกร ปากคีบ ให้ล้างและต้มน้ำฆ่าเชื้อทันทีในน้ำเดือนนาน 30 นาที ส่วนสิ่งของสกปรกใส่ถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้แน่นก่อนทิ้ง
ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่ใส่ท่อหลอดลมคอ
- การเปลี่ยนเชือกผูกเองควรทำอย่างระมัดระวัง อย่าให้ท่อชั้นนอกหลุด หากไม่แน่ใจควรไปเปลี่ยนกับโรงพยาบาลหรือผู้เชี่ยวชาญ
- ระวังในการจัดท่าสำหรับผู้ป่วยติดเตียง เพื่อไม่ให้กระทบต่อท่อหลอดลม
- ถ้าหลอดลมคอชั้นในหลุดหรือหายให้มาพบแพทย์
- ระวังน้ำเข้าท่อหลอดลม โดย ระวังในการอาบน้ำ สระผม ไม่สาดน้ำ เช็ดทำความสะอาด
หากมีอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์
- ท่อหลอดลมหลุด ท่อชั้นในหายหรืใส่เข้าไม่ได้
- หอบเหนื่อย หายใจลำบาก
- มีการติดเชื้อที่แผลเจาะคอ เช่น ปวด บวม แดง มีหนอง
- มีเลือดออกจากท่อหลอดลม หรือ รอบๆท่อมีการติดเชื้อในปอด หรือหลอดลม
การเจาะคออาจทำให้ตัวขอผู้ป่วยมีความกังวล สูญเสียความมั่นใจ ความรู้สึกไม่ดีต่อภาพลักษณ์ของตนเองและมีการจำกัดด้านการสื่อสาร อีกทั้งยังส่งผลต่อความกังวลในการดูแลผู้ป่วยแต่หากเรามีการเตรียมความพร้อมหรือมีแนวทางในการปฏิบัติก็สามารถเป็นแนวทางในการลดความเครียดได้อีกด้วยและในส่วนไหนที่ยังไม่เข้าใจก็สามารถปรึกษากับโรงพยาบาลใกล้บ้านหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำปรึกษา