วิธีดูแลผิวหนังให้ผู้ป่วยติดเตียง เพื่อให้ห่างไกลจากแผลกดทับ

ดูแลผิวหนังผู้ป่วย

วิธีดูแลผิวหนังให้ผู้ป่วยติดเตียง เพื่อให้ห่างไกลจากแผลกดทับ และเพื่อให้ผิวหนังซึ่งเป็นอวัยวะส่วนสำคัญที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีความแข็งแรงอยู่เสมอตามหลักสุขอนามัยที่ดี สำหรับผู้ป่วยติดเตียง การดูแลผิวหนังอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทำได้ด้วยตัวเองทุกวัน เนื่องจากภาวะติดเตียงที่ต้องพึ่งพาผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด และมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับที่เป็นปัญหาสำคัญ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ดูแลจะต้องให้การช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงในเรื่องนี้ โดยการดูแลผิวหนังให้ผู้ป่วยติดเตียงมีรายละเอียดที่ควรคำนึงถึงดังต่อไปนี้

1. ตรวจผิวหนังของผู้ป่วยติดเตียงอย่างสม่ำเสมอ

ผู้ดูแลควรตรวจผิวหนังของผู้ป่วยติดเตียง อย่างน้อยวันละครั้ง เพื่อสังเกตดูว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นที่ส่วนใดหรือไม่ โดยเฉพาะบริเวณปุ่มกระดูก เช่นบริเวณส้นเท้า ข้อเท้า นิ้วเท้า ก้นกบ สะโพก และกระดูกเชิงกราน หากพบว่าผิวแห้ง มีขุ่ย ถลอก มีรอยแดง มีตุ่ม หรือมีแผลเกิดขึ้น ต้องทำการบันทึกไว้ พร้อมทั้งทำการดูแลรักษาให้เหมาะสมตามอาการ เช่นหากเป็นรอยแดง ควรเช็คว่ารอยแดงเป็นแบบชั่วคราวหรือเป็นอาการระยะแรกของแผลกดทับ เพื่อที่จะได้รักษาให้ถูกต้อง คลิกเพื่อดูตารางการตรวจเช็คร่างกายผู้ป่วย

2. ดูแลรักษาความสะอาด

ควรใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีค่าความเป็นกรดหรือด่างเหมาะสมสำหรับผิว คือควรมีค่า pH 5.5 ซึ่งถือเป็นค่าที่มีความสมดุลกับผิวของเราที่สุด นอกจากเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่เหมาะสมกับร่างกายแล้ว ก็ต้องทำความสะอาดให้ผู้ป่วยติดเตียงทันทีเมื่อผู้ป่วยปัสสาวะหรืออุจจาระ เพราะการทำความสะอาดทันทีจะช่วยป้องกันไม่ให้มีแบคทีเรียและเชื้อโรคสะสมอยู่บนผิวหนังของผู้ป่วยติดเตียง เนื่องจากแบคทีเรียและเชื้อโรคเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้แผลติดเชื้อ จนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอันตรายตามมา นอกจากการดูแลความสะอาดของผิวหนังผู้ป่วยแล้ว ควรรักษาความสะอาดของที่นอนผู้ป่วยติดเตียงด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อสิ่งสกปรกหมักหมมอยู่บนที่นอนเป็นเวลานาน ที่นอนอาจกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคและแบคทีเรียได้

3. ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความแข็งแรงและชุ่มชื้นให้กับผิว

ผู้ป่วยติดเตียงส่วนมากมักเป็นผู้สูงอายุ ผิวหนังจึงเป็นอวัยวะที่เสื่อมประสิทธิภาพในการซ่อมแซมตัวเองลงเป็นธรรมดา จึงต้องมีตัวช่วยเป็นโลชั่นหรือครีมที่ช่วยเรื่องความแข็งแรงและความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต้องระวังเรื่องความอับชื้น โดยใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ทาผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ป่วยอย่างเบามือ และหากมีคนรู้จักที่สมาชิกในครอบครัวเป็นผู้ป่วยติดเตียง การเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวให้เป็นของขวัญเยี่ยมผู้ป่วย ถือเป็นตัวเลือกที่ดีอย่างหนึ่ง

4. อาหารและโภชนาการที่ดี

เรารู้กันดีว่าสารอาหารที่ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายคือโปรตีน ดังนั้น อาหารที่มีโปรตีนจึงเหมาะกับการทำเมนูเพื่อบำรุงผิวพรรณผู้ป่วยด้วย อย่างไรก็ตามอาหารสำหรับผู้ป่วยติดเตียงควรมีเนื้อสัตว์ควบคู่กับผักและผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสม เนื้อสัมผัสอ่อนนุ่ม ทานง่าย ย่อยง่าย ก็จะช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยดูดซึมสารอาหารบำรุงผิวหนังได้ง่ายขึ้น และนอกจากอาหารที่หลากหลายและมีประโยชน์กับร่างกายแล้ว ผู้ดูแลต้องอย่าลืมให้ผู้ป่วยติดเตียงดื่มน้ำให้เพียงพอสำหรับแต่ละวันด้วย เนื่องจากความลำบากในการเข้าห้องน้ำของผู้ป่วยติดเตียง ทำให้ผู้ป่วยติดเตียงหลาย ๆ ท่านเลือกที่จะดื่มน้ำน้อยลง ส่งผลให้ผิวแห้งและบอบบางลงจนเกิดแผลได้ง่าย ผู้ดูแลจึงควรให้ความใส่ใจกับปริมาณน้ำที่ผู้ป่วยดื่มด้วย

5. หลีกเลี่ยงการเกิดแรงเสียดสีที่ผิวหนัง

ในการทำความสะอาดร่างกายผู้ป่วยติดเตียง ผู้ดูแลควรหลีกเลี่ยงการขัดถูบริเวณผิวหนังของผู้ป่วยติดเตียง เพื่อไม่ให้มีการเสียดสีของผิว อันจะไปทำลายผิวหนังได้ โดยผู้ดูแลควรใช้ผ้าขนหนูนุ่ม ๆ ซับผิวหนังให้แห้ง แทนการถูผ้าเช็ดตัวลงบนผิวของผู้ป่วย พร้อมทั้งเลือกสวมเสื้อผ้าเนื้อนุ่ม เบาสบาย ไม่หนาหรือบางจนเกินไป เสื้อผ้าควรเป็นแบบปล่อย ๆ ไม่ควรรัดตัวผู้ป่วย เพื่อลดการการเสียดสีระหว่างเนื้อผ้ากับผิวของผู้ป่วย

6. การจัดท่าทางให้ถูกต้อง และปรับเปลี่ยนท่านั่ง ท่านอนให้ผู้ป่วยในระยะเวลาที่เหมาะสม

การจัดท่านั่งและท่านอนก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการดูแลผิวของผู้ป่วยเช่นกัน เนื่องจากน้ำหนักตัวและแรงโน้มถ่วงจะทำให้ร่างของผู้ป่วยไถลอยู่บนที่นอนผู้ป่วยติดเตียง หรือท่านั่งบางท่าอาจทำให้เกิดแรงกดที่มากกว่าปกติที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ผู้ดูแลจึงควรปรับเปลี่ยนท่านั่งให้ผู้ป่วยติดเตียงทุก ๆ 1 ชั่วโมง และทุก ๆ 2 ชั่วโมงสำหรับท่านอน พร้อมทั้งจัดท่านั่ง-ท่านอนให้ผู้ป่วยติดเตียงอย่างถูกต้องด้วยทุกครั้ง เพื่อป้องกันผิวหนังบาดเจ็บจากการนั่งนอนผิดท่า

แผลกดทับแม้จะเป็นโรคแทรกซ้อนที่มักพบในผู้ป่วยติดเตียง แต่ก็สามารถป้องกันหรือรักษาให้หายได้ หากเพียงแต่ต้องได้รับความเข้าใจ และใส่ใจในการดูแลผิวหนังให้ผู้ป่วย เพราะแผลกดทับไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่ยังเป็นบั่นทอนสภาพจิตใจของผู้ป่วยและผู้ดูแล การป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับในผู้ป่วย จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ควรปฎิบัติ