เลือกอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยติดเตียงอย่างไรดี เมื่อร่างกายของผู้ป่วยติดเตียงโดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุต้องประสบกับภาวะถดถอยมากกว่าการเจริญเติบโต อาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยบำรุงรักษาร่างกายของผู้ป่วยให้แข็งแรง แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายการรับประทานอาหารตามปกติอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากภาวะบกพร่อง เช่น ภาวะจากโรคแทรกซ้อน หรือภาวะกลืนลำบาก จึงจำเป็นต้องได้รับอาหารเสริมเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูสมรรถนะต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
เมื่อไรที่ผู้ป่วยติดเตียงควรได้รับอาหารเสริม
อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยติดเตียงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “อาหารทางการแพทย์” โดยแพทย์จะพิจารณาว่าผู้ป่วยควรได้รับอาหารเสริมเมื่อมีอาการผิดปกติ ได้แก่ น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วผิดปกติ, กล้ามเนื้อลดลงมากเกินไปในเวลาอันรวดเร็วเนื่องจากอยู่บนที่นอนผู้ป่วยติดเตียงเป็นเวลานาน, มีอาการท้องผูก และมีโรคประจำตัวที่ต้องดูแลเรื่องโภชนาการเป็นพิเศษ เมื่อมีปัจจัยดังกล่าวร่วมกับระบบการย่อยอาหารของผู้ป่วยที่ยังทำงานได้เป็นปกติ ก็ควรให้ผู้ป่วยติดเตียงทานอาหารเสริมควบคู่กับมื้ออาหารตามปกติ หรือใช้ทดแทนตามความเหมาะสม
การเลือกอาหารเสริมที่ดี
อาหารเสริมที่ดีควรมีสารอาหารที่ครบถ้วน โดยมีสารอาหารหลักคือโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน ผสมกับวิตามินและแร่ธาตุ เมื่อบริโภคตามอัตราส่วนที่ระบุไว้แล้วผู้ป่วยควรได้รับพลังงานวันละ 1,000-1,500 กิโลแคลลอรี ไม่ควรมีส่วนผสมของน้ำตาลแลคโตสเพื่อป้องกันอาการไม่สบายท้องเพราะการย่อยน้ำตาลแลคโตสไม่ได้ มีรสชาติที่รับประทานง่ายหรือเป็นรสชาติที่ผู้ป่วยชอบเพื่อกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหาร สำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องการโปรตีนให้พิจารณาปริมาณโปรตีนเป็นหลัก หากเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่มีอาการท้องผูกให้พิจารณาเรื่องใยอาหารเป็นหลัก
การเลือกอาหารเสริมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว
สำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่มีโรคเบาหวาน ผู้ดูแลควรเลือกสูตรที่เหมาะสมคือ มีคาร์โบไฮเดรตต่ำกว่าและมีใยอาหารมากกว่าอาหารเสริมสูตรทั่วไป ซึ่งจะทำให้ค่าน้ำตาลจากอาหารเสริมน้อยกว่าสูตรทั่วไปนั่นเอง
ส่วนผู้ป่วยที่มีโรคไตเรื้อรัง ควรเลือกสูตรที่มีปริมาณแร่ธาตุต่ำ ร่วมกับการพิจารณาปริมาณโปรตีน เพราะหากเป็นผู้ป่วยโรคไตที่ยังไม่ได้รับการบำบัดรักษาไต ไม่ควรได้รับโปรตีนมากเกินไป
สำหรับผู้ที่มีโรคตับ ให้พิจารณาเลือกอาหารเสริมสูตรที่มีไขมันต่ำ มีโปรตีนสูง โดยโปรตีนดังกล่าวควรเป็นโปรตีนที่ย่อยง่าย ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้งานได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการย่อยโปรตีนที่ตับ
สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องเสริมภูมิคุ้มกันเป็นพิเศษ เช่น โรคมะเร็ง ให้เลือกสูตรที่เน้นโปรตีนสูงกว่าสูตรอื่น ๆ โดยเฉพะในกรณีที่ผู้ป่วยมีแผลกดทับ สารอาหารจากโปรตีนก็จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
นอกจากอาหารเสริมแล้ว การให้ผู้ป่วยได้รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ได้รับวิตามินในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้ป่วย ก็ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี โดยวิตามินแต่ละประเภทมีส่วนช่วยซ่อมแซม และเสริมสร้างร่างกายที่แตกต่างกัน ผู้ดูแลจึงควรเลือกประเภทของวิตามินให้ถูกต้อง ดังนี้
วิตามินเอ (Vitamin A) ส่งเสริมการเจริญเติบโตหรือการงอกใหม่ของเยื่อบุผิวใหม่ ถ้าขาดวิตามินเอ แผลจะหายช้า ปริมาณความต้องการ 60 มิลลิกรัม/วัน เช่น แครอท นม กล้วย ส้ม มะละกอ ผักใบเขียว
วิตามินซี (Vitamin C) ช่วยในการสังเคราะห์เส้นใยคลอลาเจน และหลอดเลือดฝอยใหม่ ทําให้หลอดเลือดฝอยใหม่มีความแข็งแรงไม่แตกง่าย ช่วยกระตุ้นการทํางานของเซลล์ไฟโบรบลาสท์และป้องกันการติดเชื้อเพราะเป็นองค์ประกอบสําคญในระบบภูมิคุ้มกัน ปริมาณความต้องการ 60 มิลลิกรัม/วัน แหล่งของวิตามินซีเช่น ฝรั่ง มะขามเทศ มะขามป้อม พุทรา แอปเปิล ส้มเขียวหวาน ส้มโอ กล้วยน้ำว้า
วิตามินบี (Vitamin B) ช่วยลดการติดเชื้อที่แผล ทําหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นเอ็นไซม์หรือโครเอ็นไซม์ในกระบวนการเผาผลาญโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรท ส่งเสริมให้เม็ดเลือดขาวทําหน้าที่ทําลายเชื้อแบคทีเรียในแผลได้ดี ปริมาณความต้องการวิตามินบี 1 1.5 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 1.7 มิลลิกรัม แหล่งวิตามินบี เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต หมูเนื้อแดง ตับ ถั่ว รําข้าว ยีสต์ที่ตายแล้ว
สังกะสี ( Zinc ) ช่วยการงอกใหม่ของเยื่อบุผิวที่ขึ้นปกคลุมแผล ช่วยให้ผนังเซลล์แข็งแรง กรณีขาดสังกะสี จะมีอาการผิวหนังบวมแดงอักเสบ ท้องร่วง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ติดเชื้อง่าย หากขาดในเด็กจะทำให้เด็กมีอัตราการเจริญเติบโตลดลง โดยปริมาณความต้องการสังกะสีต่อวันคือ 15 มิลลิกรัม แหล่งของสังกะสี คือ ตับ ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วเมล็ดแห้ง หอยนางรม
เหล็ก ( Iron ) ช่วยสงเคราะห์ใยคอลลาเจนทําให้เซลล์เม็ดเลือดขาวกําจัดเชื้อแบคทีเรียได้ดีขึ้น ถ้าขาดเหล็กจะทําให้แผลได้รับออกซิเจนน้อยลงแผลจะหายช้าลง ปริมาณความต้องการเหล็กต่อวันคือ 15 มิลลิกรัม แหล่งของเหล็กคือ ตับ ไข่แดง ถั่วเมล็ด ผักใบเขียวเข้ม เช่น ใบชะพู ใบยอ ใบขี้เหล็ก ผักคะน้า ใบผักโขม บร็อคโคลี่
ทั้งนี้ เมนูอาหารตามปกติยังเป็นสิ่งที่แพทย์เห็นควรว่าสำคัญที่สุด ผู้ดูแลจึงต้องใส่ใจเรื่องการเตรียมอาหารเป็นพิเศษ โดยใช้อาหารเสริมเป็นตัวช่วยให้ผู้ป่วยติดเตียงได้รับสารอาหารครบถ้วนมากยิ่งขึ้น เมื่อผู้ป่วยทานอาหารอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายบริหารอวัยวะต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้นได้