การจัดท่านอนที่เหมาะสม สำหรับผู้ป่วยติดเตียง นอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยสบายตัวแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับให้กับผู้ป่วยติดเตียงได้อีกด้วย เพราะข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้ป่วยติดเตียง ทำให้การใช้ชีวิตของผู้ป่วยมักจะค้างอยู่ในท่าเดิม เสี่ยงกับภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง รวมถึงการเกิดแผลกดทับในบริเวณปุ่มกระดูกต่าง ๆ หากโดนกดทับเป็นเวลานาน ดังนั้นการหมั่นพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียง และการจัดท่านอนที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วยจึงมีความสำคัญในการช่วยลดความเสี่ยงได้
โดยท่านอนสำหรับผู้ป่วยติดเตียงจะมีหลัก ๆ อยู่ 3 ท่า คือท่านอนหงาย ท่านอนตะแคงทับข้างที่อ่อนแรง และท่านอนตะแคงทับข้างที่มีแรง แต่ไม่ว่าจะเป็นท่านอนแบบไหน ผู้ดูแลก็ควรเปลี่ยนท่าให้ผู้ป่วยติดเตียงทุก ๆ 2 ชั่วโมงสลับกัน หรือบ่อยขึ้นหากผู้ป่วยมีรูปร่างผอม หรือมีความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับสูง ในการเปลี่ยนท่านอนให้ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ดูแลต้องอาศัยเทคนิคการพลิกตัวที่ถูกต้องในการปรับเปลี่ยนท่าให้ผู้ป่วย พร้อมทั้งจัดท่านอนให้ผู้ป่วยรู้สบาย และลดความเสี่ยงการเกิดแผลกดทับดังนี้
1. ท่านอนหงาย
เมื่อผู้ป่วยนอนหงายแล้ว เราต้องเช็คดูว่าท่านอนของผู้ป่วยถูกต้องดีไหม เริ่มจากศรีษะลงมาที่เท้า
- โดยศีรษะของผู้ป่วยควรอยู่ในแนวตรง ไม่เอียง พับ ไปด้านใดด้านหนึ่ง ไม่หนุนหมอนที่สูงหรือเตี้ยจนเกินไป ให้สังเกตดูว่า ผู้ป่วยสามารถหายใจได้สะดวก
- ต่อมาคือช่วงไหล่ของผู้ป่วย เช็คว่าหัวไหล่ของผู้ป่วยผ่อนคลายหรือไม่ มีการเกร็งหรือไม่ มีการกดทับหรือไม่ หากรู้สึกว่าไม่สบาย มีการเกร็ง มีแรงกดทับที่มาก ควรนำหมอนมาสอดรองหัวไหล่ไว้ เพื่อช่วยรองรับและลดแรงกด
- สำหรับหลังส่วนล่างของผู้ป่วย เราต้องเช็คดูว่ามีช่องว่างระหว่างหลังกับที่นอนหรือไม่ หากมีให้ลองนำหมอนมาหนุนใต้หัวเข่าทั้ง 2 ข้างของผู้ป่วย แต่หากยังมีแรงกดที่มากอยู่บริเวณหลังส่วนล่าง อาจเพิ่มหมอนบาง ๆ อีกใบ เพื่อช่วยรองหลัง
- สำหรับข้อศอก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่อาจเกิดแผลกดทับได้ง่าย ต้องตรวจดูว่ามีแรงกดที่มากเกินไปหรือไม่ หากมากเกิน ควรนำหมอนใบเล็กๆ มาสอดรองไว้ เพื่อช่วยพยุงรับน้ำหนัก
- เช่นเดียวกันกับข้อศอก คือหากมีแรงกดที่เยอะบริเวณข้อมือ ให้ลดแรงกดด้วยการนำหมอนใบเล็กมาสอดรองไว้เช่นกัน โดยขนาดของหมอนควรเลือกให้เหมาะสมกับแต่ละส่วนของร่างกาย
- ขาทั้ง 2 ข้างของผู้ป่วยควรเหยียดตรง ไม่บิดหมุนหรือแบะออก เท้าตั้งขึ้นทั้ง 2 ข้าง หากพบว่าปลายเท้าบิด เหยียดเกร็ง หรือมีการหดเกร็งของปลายนิ้วเท้า นำหมอนมาวางดันไว้ที่ด้านข้างขา และปลายเท้าของผู้ป่วย เพื่อป้องกันการแบะหรือบิดเข่า รวมถึงป้องกันปลายเท้าตก
- ตาตุ่ม และส้นเท้า ควรนำหมอนมารองบริเวณเอ็นรอยหวาย เพื่อให้ส้นเท้าลอยเล็กน้อย เป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับที่ส้นเท้า และต้องระวังไม่ให้เข่าแอ่นตึงเกินไป
หมายเหตุ: สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเกร็ง ควรนำหมอนใบเล็กๆ หรือผ้าขนหนูผืนเล็กมาม้วนแล้วมาวางในอุ้งมือผู้ป่วย
หลังจากจัดท่าให้ผู้ป่วยเรียบร้อยแล้ว ผู้ดูแลควรควรสอบถามผู้ป่วยด้วยว่ารู้สึกสบายดีหรือไม่ รู้สึกเจ็บ หรือปวดเมื่อยตรงไหนอย่างไร และอย่าลืมว่าเราจะปล่อยให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในแต่ละท่า ไม่เกิน 2 ชั่วโมง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ
2. ท่านอนตะแคงทับข้างที่อ่อนแรง
- เมื่อผู้ป่วยอยู่ในท่านอนตะแคงแล้ว ศีรษะของผู้ป่วยควรอยู่ระนาบเดียวกันกับลำตัว ไม่ก้ม เงย หรือหมุนคว่ำจนผิดปกติ ไม่หนุนหมอนที่สูงหรือเตี้ยจนเกินไป
- ต่อมาคือช่วงไหล่ของผู้ป่วย โดยข้างที่โดนทับจะเป็นข้างที่อ่อนแรง เราต้องระวังไม่ให้แขนข้างที่อ่อนแรงโดนทับ โดยจัดท่าทางให้แขนข้างที่อ่อนแรงเหยียดกางออกพร้อมกับงอขึ้นเล็กน้อย ส่วนแขนข้างที่มีแรงให้วางพาดลำตัวไว้หรือวางพาดบนหมอน
- หลังจากจัดแขนเรียบร้อยแล้ว ให้หาหมอนมาช่วยพยุงดันหลังให้ผู้ป่วยสามารถพิงได้ เพื่อเป็นการช่วยลดแรงกดทับที่หัวไหล่และแขนข้างที่อ่อนแรง
- ในส่วนของขา ขาข้างที่อ่อนแรงจะเป็นข้างที่โดนทับ ให้จัดขาข้างที่อ่อนแรงเหยียดตรง ไม่ให้เกิดการขัดบิด ส่วนขาข้างที่มีแรงให้จัดในท่างอไว้ พร้อมกับนำหมอนมารองขาข้างที่มีแรงให้พอดี
หลังจากที่จัดท่าเรียบร้อยแล้ว ก็มาดูว่ามีบริเวณไหนในร่างกายที่โดนกดมากเกินไปไหม มีความไม่สบายอยู่หรือไม่ บิดผิดท่าหรือไม่ เริ่มจากศีรษะ ไหล่ ข้อศอก ข้อมือ สะโพก หัวเข่า ตาตุ่ม หากพบว่ามีแรงกดทับที่บริเวณไหน มีความไม่สบายอยู่ หรือผิดท่าอยู่ ให้ลองขยับท่าเล็กน้อย หรือนำหมอนใบเล็กมาช่วยลดแรงกด
สุดท้ายอย่าลืมสอบถามผู้ป่วยด้วยว่ารู้สึกสบายดีหรือไม่ รู้สึกเจ็บ หรือปวดเมื่อยตรงไหนอย่างไรนะคะ และอย่าลืมว่าเราจะปล่อยให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในแต่ละท่า ไม่เกิน 2 ชั่วโมง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ
3. ท่านอนตะแคงทับข้างที่มีแรง
การจัดท่านอนตะแคงทับข้างที่มีแรง จะคล้าย ๆ กับการจัดท่านอนตะแคงทับข้างที่อ่อนแรง คือศีรษะของผู้ป่วยควรอยู่ระนาบเดียวกันกับลำตัว ไม่ก้มเงยหรือบิดหมุน ไม่หนุนหมอนที่สูงหรือเตี้ยจนเกินไป และสามารถนำหมอนมาช่วยพยุงหลังให้ผู้ป่วยได้เช่นเดียวกับท่านอนตะแคงทับข้างที่อ่อนแรง เพราะนอกจากจะช่วยพยุงหลังให้ผู้ป่วยพิงได้แล้ว ยังช่วยจัดให้หลังผู้ป่วยตรงด้วย เพียงแต่ในท่านี้ จะมีส่วนที่แตกต่างกันที่ควรระวังดังนี้
- ในท่านี้ แขนข้างที่อ่อนแรงจะอยู่ด้านบน ผู้ดูแลจึงควรนำแขนข้างที่อ่อนแรงมาทางด้านหน้า นำหมอนมารองแขนไว้เพื่อไม่ให้แขนห้อยตก
- เช่นเดียวกับการจัดแขนนะครับ ให้นำหมอนมารองขาข้างที่อ่อนแรง พร้อมทั้งจัดขาด้านที่มีแรงให้เหยียดตรง
หลังจากที่จัดท่าเรียบร้อยแล้ว ก็มาดูว่ามีบริเวณไหนในร่างกายที่โดนกดมากเกินไปไหม เริ่มจากศีรษะ ไหล่ ข้อศอก ข้อมือ สะโพก หัวเข่า ตาตุ่ม หากพบว่ามีแรงกดทับที่บริเวณไหน ให้ลองขยับท่าเล็กน้อย หรือนำหมอนใบเล็กมาช่วยลดแรงกด
สุดท้ายอย่าลืมสอบถามผู้ป่วยด้วยว่ารู้สึกสบายดีหรือไม่ รู้สึกเจ็บ หรือปวดเมื่อยตรงไหนอย่างไรนะครับ และอย่าลืมว่าเราจะปล่อยให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในแต่ละท่า ไม่เกิน 2 ชั่วโมง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับนะคะ
สรุป
การจัดท่านอนที่เหมาะสม สำหรับผู้ป่วยติดเตียง นอกจากจะช่วยป้องกันการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อแล้ว ยังเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับ จากแรงกด หรือแรงไถลของท่าทางที่ผิดได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามนอกจากการจัดท่านอนที่ถูกต้องแล้ว ผู้ดูแลต้องไม่ลืมที่จะค่อยพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงทุก ๆ 2 ชั่วโมง และให้ความสำคัญกับการเลือกที่นอนป้องกันแผลกดทับที่ดี เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดแผลกดทับ และเพื่อเพิ่มความสบายให้กับผู้ป่วยติดเตียงที่คุณรักนะคะ