การจัดท่านั่งที่เหมาะสม สำหรับผู้ป่วยติดเตียง

การจัดท่านั่งที่เหมาะสม

การจัดท่านั่งที่เหมาะสม สำหรับผู้ป่วยติดเตียง มีความสำคัญไม่แพ้การจัดท่านอนอย่างถูกต้องให้กับผู้ป่วยติดเตียง เพราะท่านั่งที่ถูกต้องนอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยสบายตัวแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับให้กับผู้ป่วยติดเตียงได้อีกด้วย เนื่องจากท่านั่งเป็นท่าที่ทำให้เกิดแรงกดทับที่จุดใดจุดหนึ่งมากกว่าท่านอน ซึ่งเป็นท่าที่แรงกดทับยังกระจายไปทั่วตัว ดังนั้นผู้ดูแลจึงไม่ควรละเลยการจัดท่านั่งให้ถูกต้อง และเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยติดเตียง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และการเกิดแผลกดทับ

ท่านั่งหลัก ๆ สำหรับผู้ป่วยติดเตียงมีอยู่ 3 ท่า นั้นก็คือ ท่านั่งบนรถเข็น ท่านั่งบนเตียง และท่านั่งบนขอบเตียง จุดสำคัญของท่านั่งคือควรทำให้ลำคอและศีรษะตั้งตรง โดยอาจหาอุปกรณ์ที่จำเป็นมารองคอผู้ป่วยไว้ เพื่อให้กิจกรรมต่าง ๆ เช่น การทานอาหาร การออกกำลังกาย ทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นควรหมั่นสังเกตบริเวณจุดที่มีความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับสำหรับท่านั่ง ซึ่งก็คือ บริเวณกระดูกก้นกบ หลัง ไหล่ ส้นเท้า และข้อศอก เพราะฉะนั้นในการจัดท่านั่งให้ผู้ป่วยติดเตียง เราจะต้องเน้นสังเกตที่บริเวณเหล่านี้เป็นพิเศษ

การจัดท่านั่งบนรถเข็น สำหรับผู้ป่วยติดเตียง

  • เราต้องจัดท่านั่งให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าหลังตรง พิงพนัก ให้สะโพกเข้าไปชิดพนักหลังให้มากที่สุด ผู้ดูแลอาจนำผ้ามาผูกกับพนักเพื่อช่วยหยุงตัวผู้ป่วยไว้ในกรณีที่ผู้ป่วยนั่งทรงท่าไม่ได้นาน
  • จากนั้นนำเท้าของผู้ป่วยมาวางบนที่วางเท้าให้เรียบร้อย ไม่ให้เท้าของผู้ป่วยตกละพื้นซึ่งอาจเป็นอันตรายได้
  • วางมือข้างที่อ่อนแรงไว้บนหมอนที่วางบนตัก ระวังอย่าปล่อยให้แขนทั้ง 2 ข้างตกออกไปด้านข้างรถเข็น

เมื่อผู้ป่วยนั่งบนรถเข็นไประยะหนึ่ง ควรเปลี่ยนอิริยาบถผู้ป่วยทุก ๆ 15 นาที เช่น การเอียงตัวซ้าย-ขวา โน้มตัวไปข้างหน้าข้างหลัง โดยทำครั้งละ 10-20 วินาที เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับ และลดความเมื่อยล้าจากการนั่งในท่าเดิมนานๆ

หมายเหตุ:

  • อย่าลืมที่จะล็อครถให้เรียบร้อยก่อนทำการช่วยผู้ป่วยเปลี่ยนอิริยาบถเสมอ เพื่อความปลอดภัย
  • ไม่ควรนั่งบนห่วงยางหรือหมอนโดนัท เพราะจะทำให้เกิดแรงกดที่สูงบริเวณผิวหนังรอบ ๆ ก้น
  • ไม่ควรให้ผู้ป่วยนั่งในแต่ละท่านานเกิน 1 ชั่วโมง เพราะแรงกดจากท่านั่งจะมีมากกว่าท่านอน

การจัดท่านั่งบนเตียง สำหรับผู้ป่วยติดเตียง

สำหรับท่านี้เป็นท่านั่งที่มักใช้ขณะผู้ป่วยนั่งทานข้าว ขณะฟีดอาหาร หรือเพื่อนั่งพักผ่อน เปลี่ยนอิริยาบถขณะอยู่บนเตียง ในท่านั่งนี้ เราควรปรับเตียงเอียงขึ้นประมาณ 45-90 องศา แต่อาจน้อยกว่านี้ได้ขึ้นกับกิจกรรมและความพร้อมของผู้ป่วย ในการปรับเตียงให้กับผู้ป่วย ผู้ดูแลควรค่อย ๆ ปรับหัวเตียงขึ้น พร้อม ๆ กับปรับส่วนปลายของเตียงขึ้น (หากเตียงนอนไม่สามารถปรับระดับช่วงขาได้ สามารถนำหมอนมาหนุนรองใต้เข่าแทน) เพื่อไม่ให้ตัวผู้ป่วยไหลลงมา

เมื่อปรับเตียงเสร็จแล้ว ให้จัดคอ ศีรษะ ลำตัวของผู้ป่วยให้ตั้งตรง ไม่พับเอียง เมื่อผู้ป่วยนั่งพิงเตียงเรียบร้อยแล้ว นำหมอนมาหนุนรองแขน โดยเฉพาะข้างที่อ่อนแรงไว้เพื่อไม่ให้ไหล่ลู่ตกลง ส่วนของขาให้เหยียดตรง

การจัดท่านั่งบนขอบเตียง สำหรับผู้ป่วยติดเตียง

ท่านี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีกำลังพอ และสามารถนั่งทรงท่าได้เอง เป็นการนั่งข้างเตียงเพื่อเตรียมเคลื่อนย้าย เช่น จากเตียงไปยังรถเข็น หรือเพื่อเตรียมทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น เพื่อเตรียมลุกยืน

เมื่อผู้ป่วยนั่งอยู่ข้างเตียง เราต้องเฝ้าระวัง สังเกตว่าผู้ป่วยนั่งมั่นคง ไม่โอนเอน ผู้ดูแลต้องช่วยวางเท้าผู้ป่วยลงให้ราบบนพื้น หากเท้ายังไม่ราบกับพื้น ให้ปรับเตียงให้ต่ำลงอีก หรือขยับตัวผู้ป่วยให้ออกมามากขึ้น จากนั้นนำมือผู้ป่วยไปไว้บนเตียงเยื้องไปทางด้านหลังลำตัวประมาณ 30 องศา เพื่อช่วยในการทรงตัว ระวังอย่าให้เกิดลักษณะการล็อคแอ่นของข้อศอก พร้อมทั้งจัดท่านั่งให้ผู้ป่วยลงน้ำหนักตัวเท่ากันทั้งสองด้านของร่างกาย

สำหรับท่านี้ ไม่ควรปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านี้เพียงลำพังคนเดียวครับ และต้องเฝ้าสังเกตอาการ สีหน้าของผู้ป่วยด้วย

ไม่ว่าจะเป็นท่านั่ง หรือท่านอน หากผู้ป่วยสามารถบอกอาการความรู้สึกได้ เราควรสอบถามความรู้สึกของผู้ป่วยด้วย และควรหมั่นสังเกตว่า ผิวหนังของผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของแผลกดทับได้ ที่สำคัญคืออย่าปล่อยให้ผู้ป่วยนั่งอยู่ในท่าเดิมนานเกิน 1 ชั่วโมงด้วยนะคะ หากผู้ดูแลหมั่นเปลี่ยนท่านั่ง ท่านอนให้กับผู้ป่วยติดเตียง  อย่างถูกวิธีให้กับผู้ป่วยติดเตียงแล้ว ก็จะสามารถช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วย พร้อมทั้งยังเป็นการช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดแผลกดทับได้เป็นอย่างดีอีกด้วย