ปัจจัยที่ทำให้เกิดแผลกดทับ ในผู้ป่วยติดเตียง

ปัจจัยที่ทำให้เกิดแผลกดทับ ในผู้ป่วยติดเตียง เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้ เพราะหากเราสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ได้ ก็จะเป็นการป้องกันผู้ป่วยจากความเจ็บปวดจากแผล และโรคแทรกซ้อนที่อาจตามมากับแผลกดทับ โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดแผลกดทับแบ่งได้เป็นปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ดังนี้

ปัจจัยภายนอก

ประกอบไปด้วย แรงกด ระยะเวลาของแรงกด แรงเฉือน แรงไถล และความเปียกชื้น

1. แรงกด (pressure intensity)

เป็นแรงภายนอกที่กระทำโดยตรงต่อส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยแรงกดที่มีมากกว่า 2 เท่าของแรงดันภายในหลอดเลือดแดงฝอยซึ่งมีค่าประมาณ 32 มิลลิเมตรปรอท จะมีผลขัดขวางการส่งผ่านของออกซิเจนและสารอาหารที่ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ ถึงแม้ว่าโดยปกติแล้วร่างกายของเราจะทนต่อแรงกดทับที่สูงกว่าค่าแรงดันในหลอดเลือดแดงฝอยได้ ถ้าแรงนั้นกระจายออกไปเท่ากันอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าแรงกดลงไปที่จุดเดียวโดยเฉพาะบริเวณปุ่มกระดูก เนื้อเยื่อผิวหนังทุกชั้น ปุ่มกระดูก รวมถึงหลอดเลือดที่อยู่บริเวณนั้นจะถูกกดทับไปด้วยจนเกิดแผลเป็นรูปกรวย
ยิ่งถ้าแรงกดลงมานานเกินกว่า 2 ชั่วโมง จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นถูกทำลายอย่างถาวร ในขณะเดียวกันแรงกดในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่เกิดซ้ำหลาย ๆ ครั้ง ก็ทำลายเนื้อเยื่อที่ผิวหนังได้เช่นกัน

2. แรงเฉือน (shearing)

เป็นแรงที่เกิดจากเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังถูกดึงให้เคลื่อนที่ ในขณะที่ผิวหนังยังคงยึดอยู่กับพื้นผิว เช่น ผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอนแล้วลำตัวเลื่อนไถลลงมา เนื้อเยื่อบริเวณกระดูกกระเบนเหน็บจะถูกกดมากกว่าปกติและเคลื่อนที่ ในขณะที่ผิวหนังด้านนอกยังเกาะติดอยู่กับเบาะ เกิดเป็นแรงกระทำในทิศทางขนานกัน ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดทำงานได้ไม่สะดวก

3. แรงเสียดสี (friction)

เป็นแรงที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของพื้นผิวในทิศทางตรงข้ามกัน เช่น การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยวิธีการดึงหรือออกแรงลากบ่อย ๆ ผลต่อมาคือผิวหนังชั้นนอกจะเป็นแผลถลอก พอง หรือฉีกขาดได้ หากผิวหนังเปียกชื้นด้วยยิ่งทำให้เกิดแรงเสียดสีมากขึ้น

4. ความเปียกชื้น (Humidity)

ความเปียกชื้นทำให้ผิวหนังอ่อนแอมากขึ้น หากเกิดเป็นเวลานาน จะทำให้เนื้อเยื้อเปื่อย เกิดการทำลายของผิวหนังมากขึ้น โดยปกติความเปียกชื้ออย่างเดียวจะไม่ทำให้เกิดแผลกดทับ แต่จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ความทนทานของเนื้อเยื่อต่อแรงกด แรงเฉือน และแรงเสียดสีลดลง

ปัจจัยภายในบุคคล

ประกอบไปด้วย อายุ ปัญหาด้านการรับรู้ความรู้สึก ภาวะโภชนาการ ภาวะอ้วนผอม โรคและการเจ็บป่วยบางอย่าง ปัญหาด้านการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ และปัญหาด้านสุขภาพจิต

1. อายุมาก

เมื่ออายุมากขึ้น ชั้นไขมันใต้ผิวหนังจะบางลง เลือดไหลเวียนในบริเวณผิวหนังได้ลดลง รวมทั้งยังสูญเสียมวลกล้ามเนื้อบางส่วน ผิวหนังไม่มีความยืดหยุ่น ความทนทานต่อแรงกดหรือแรงเสียดสีจึงน้อยลงตามมา สุดท้ายผิวหนังเปราะบางจนเกิดการอักเสบเป็นแผล และการฟื้นตัวของแผลก็ไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่เท่าคนหนุ่มสาว เราจึงมักเห็นผู้สูงอายุเป็นแผลกดทับกันมาก

– ปัญหาด้านการรับรู้และการเคลื่อนไหว

โดยปกติเมื่อคนเรารับรู้ได้ถึงความรู้สึกที่เจ็บปวดหรือไม่สบายตัว เราก็จะเกิดการเปลี่ยนท่าทางได้ในทันที แต่เมื่อเกิดปัญหาด้านการรับความรู้สึกและการเคลื่อนไหว การตอบสนองด้วยการปรับท่าทางทำได้ไม่ดีหรือว่าทำไม่ได้เลย ระบบไหลเวียนเลือดทั่วร่างกายจึงทำงานไม่ได้เต็มที่
ลักษณะนี้มักพบในผู้ป่วยติดเตียง ที่เป็นอัมพาต สมองสูญเสียการรับรู้ ผู้ที่ได้รับยาสลบในระหว่างการผ่าตัดที่ยาวนาน หรือผู้ที่มีปัญหาด้านกระดูกและกล้ามเนื้อจนเคลื่อนไหวไม่สะดวก

2. ภาวะทุพโภชนาการ

ภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) หมายถึง ภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารในปริมาณไม่เหมาะสมจนเกิดความผิดปกติ เพราะฉะนั้นผู้ดูแลจึงจำเป็นต้องใส่ใจในเรื่องการเตรียมอาหารให้เหมาะสมกับผู้ป่วยติดเตียง
ตัวอย่าง กรณีโปรตีนอัลบูมิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกายเพื่อต่อต้านการติดเชื้อต่าง ๆ เมื่อร่างกายขาดโปรตีนตัวนี้ไปจะมีผลทำให้เซลล์บวม การส่งผ่านอาหารและออกซิเจนจากเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยงเซลล์จึงทำงานได้ไม่สมบูรณ์ เป็นผลให้เกิดแผลกดทับได้ง่าย ซึ่งงานวิจัยพบว่าเมื่อปริมาณอัลบูมินในเลือดลดลงทุก 1 กรัม จะเพิ่มโอกาสในการเกิดแผลกดทับมากขึ้นถึง 3 เท่า

3. ภาวะอ้วนหรือผอม

คนที่ผอมจนค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่าเกณฑ์ (low body mass index) จะมีโอกาสเกิดแผลกดทับได้มากกว่าคนที่มีภาวะอ้วน เนื่องจากผิวหนังมีชั้นไขมันน้อยกว่า เนื้อเยื่อส่วนปุ่มกระดูกจึงรับแรงกดมากกว่า แต่คนที่มีน้ำหนักเกินก็เกิดแผลกดทับได้เช่นกัน เนื่องจากเนื้อเยื่อชั้นไขมันมีการไหลเวียนเลือดได้ไม่ดี

4. โรคและอาการเจ็บป่วยบางอย่าง

โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด กลุ่มอาการหัวใจขาดเลือด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบการไหลเวียนของเลือดและการเคลื่อนย้ายออกซิเจนไปสู่ชั้นผิวหนัง ทำให้เกิดภาวะขาดเลือดจนเนื้อเยื่อเน่าตายได้ง่าย ส่วนคนที่เป็นโรคที่ต้องมีการกดภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเอดส์ โรคมะเร็ง การรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีรักษา ทำให้เซลล์ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ
ยิ่งถ้าใครที่เป็นโรคเบาหวานด้วยก็จะยิ่งทำให้แผลหายช้า และคนที่มีปัญหาด้านระบบทางเดินอาหาร เช่น เป็นโรคกระเพาะอักเสบ กระเพาะจะย่อยและดูดซึมสารอาหารและน้ำได้ไม่ดี โภชนาการในร่างกายจึงไม่สมบูรณ์ และแผลที่เป็นอยู่ก็จะหายได้ช้าเช่นกัน
อาการเจ็บป่วยอีกอย่างคือภาวะไข้ เมื่อร่างกายเกิดอาการติดเชื้อจนมีอุณหภูมิสูงขึ้น เนื้อเยื่อจะเกิดการเผาผลาญและต้องการออกซิเจนมากขึ้น หากออกซิเจนไหลเวียนได้ไม่ดีพอ เซลล์จึงสูญเสียความสมบูรณ์และความคงทนจนเป็นแผล และถ้าใช้ที่นอนที่ระบายความร้อนได้ไม่ดี ยิ่งเสี่ยงเกิดแผลกดทับได้ง่ายขึ้น

5. ปัญหาด้านการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ

ผู้ที่กลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ ผิวหนังบริเวณช่วงหลังส่วนล่างหรือก้นจึงเปียกชื้นอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลให้ชั้นผิวหนังป้องกันเชื้อโรคได้ลดลง เกิดอาการเปื่อยยุ่ย และทนต่อแรงกดทับจากร่างกายได้น้อย ทำให้ผิวหนังอักเสบ ติดเชื้อ และกลายเป็นแผล การดูแลการขับถ่ายให้ผู้ป่วยติดเตียงอย่างถูกวิธี และทันทีจึงมีความสำคัญในการป้องกันการเกิดแผลกดทับ

6. ปัญหาด้านสุขภาพจิต

ปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า ผู้ป่วยมักมีอาการขาดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ คนที่มีอาการรุนแรงจนขยับร่างกายน้อยมาก จึงเสี่ยงที่จะเป็นแผลกดทับได้สูงกว่าคนทั่วไป และบางรายทานอาหารน้อยจนเป็นโรคขาดสารอาหาร ก็ยิ่งทำให้แผลที่เป็นอยู่หายช้าลงไป นอกจากนั้น คนที่เป็นมีอาการเครียดบ่อย ๆ ต่อมหมวกไตจะเพิ่มการหลั่งกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid Hormone) ซึ่งจะขัดขวางการสร้างคอลลาเจน ทำให้เนื้อเยื่อถูกทำลายได้ง่าย

สิ่งหนึ่งผู้ดูแลทำได้ควบคู่ไปกับการเข้ารับการรักษากับแพทย์ คือ การใช้ที่นอนผู้ป่วยติดเตียงที่ออกแบบมาให้เป็นที่นอนป้องกันแผลกดทับโดยเฉพาะ ซึ่งโดยทั่วไปมักจะมีแบบเป็นที่นอนลมป้องกันแผลกดทับ ซึ่งจะมีเครื่องปั๊มไฟฟ้าทำให้ที่นอนเคลื่อนไหวได้โดยอัตโนมัติ หรืออาจเลือกใช้ที่นอนป้องกันแผลกดทับแบบอื่น ๆ เช่น ทำจากโฟม หรือยางพารา ที่ช่วยให้แรงกดจากน้ำหนักตัวกระจายทั่วถึงกัน

พร้อมทั้งคอยช่วยเปลี่ยนท่านอนให้ผู้ป่วยที่บ้านบ่อย ๆ หมั่นดูแลสุขภาพและมอบความรักให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่บ้านเสมอ หาวิธีช่วยให้คลายความกังวล ลดเครียด ก็จะทำให้อาการแผลกดทับลดลงได้ในเร็ววัน