แนวทางในการลดความเครียดให้ผู้ป่วยติดเตียงและผู้ดูแล

ลดความเครียดผู้ป่วย

ผู้ที่สภาพร่างกายเสื่อมโทรม เจ็บป่วย ไม่สามารถช่วยเหลือดูแลตัวเองได้จนต้องนอนติดเตียง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ไม่เพียงแค่เรื่องของสุขภาพร่างกาย แต่ผู้ป่วยติดเตียงเหล่านี้ยังต้องการการดูแลเรื่องอารมณ์และสุขภาพทางใจด้วย เพราะการที่ผู้ป่วยต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา ก็ทำให้สภาพจิตใจอ่อนแอ มีความอ่อนไหวทางอารมณ์มากขึ้น ผู้ป่วยคนไหนที่ยังมีสติรับรู้ ยังรู้สึกตัวดี การที่ต้องมานอนอยู่บนเตียงอย่างเดียว ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบปกติได้แบบนี้ ก็คงจะไม่สบายใจ รู้สึกเครียดที่ต้องกลายเป็นภาระต่อลูกหลาน ผู้ป่วยบางราย สมองอาจจำอะไรไม่ได้แล้วก็จริง แต่ก็ยังมีอารมณ์รับรู้ การที่ต้องอยู่สภาวะเดิมนาน ๆ ก็อาจทำให้เครียดได้ ซึ่งการที่ผู้ป่วยเกิดความเครียดก็จะยิ่งทำให้ผู้ดูแล ดูแลผู้ป่วยยากขึ้นไปอีก ดังนั้นเรามาดูแนวทางในช่วยบรรเทาความเครียดให้กับผู้ป่วยที่นอนติดเตียงพร้อมกับตัวเราที่เป็นผู้ดูแลกันเลย

ก่อนดูแลผู้อื่นต้องเริ่มต้นจากดูแลใจของตนเอง

การที่เราจะสามารถทำให้ผู้อื่นมีความสุขได้ ยิ้มได้ ผ่อนคลายไม่เครียด สิ่งแรกคือต้องเริ่มจากตัวเราก่อน เราจะต้องปรับตัว ปรับความคิด ปรับอารมณ์ความรู้สึกของเราให้เข้มแข็งและมีความสุขกับภาระที่เราจะต้องรับมือนี้ให้ได้เสียก่อน เพราะหากเรายังเต็มไปด้วยความทุกข์ ความเครียด เราก็จะไม่สามารถจัดการอะไรได้ ยิ่งทำก็ยิ่งเครียดทั้งผู้ดูแลและผู้ป่วย จะไม่มีใครได้รับประโยชน์อะไรเลย ในทางกลับกันผู้ป่วยอาจจะยิ่งมีอาการแย่ลงเพราะสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ ดังนั้นเราจึงควรเริ่มต้นจากการหาวิธีการทำให้ตนเองไม่เครียดเมื่อต้องดูแลผู้ป่วยก่อน ซึ่งจริง ๆ แล้วก็มีหลากหลายหนทาง แต่สิ่งที่จะขอแนะนำมี 2 ประการดังนี้

1. ปรับ Mindset ของตัวเรา

แน่นอนว่าการที่ครอบครัวของคุณมีผู้ป่วยติดเตียงอยู่ในบ้าน อาจจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ หรือปู่ย่าตายายของเรา ไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะดีใจมีความสุข แต่เราก็ไม่ควรเอาเรื่องนี้มาเก็บเป็นปมความทุกข์ด้วยเช่นกัน แล้วเราควรจะเปลี่ยนมุมมองและชุดความคิดของตัวเราเองต่อเรื่องนี้อย่างไร? คำแนะนำก็คือ มองให้เป็นเรื่องธรรมชาติ มนุษย์เราย่อมมีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย สิ่งเหล่านี้ก็คือสภาวะที่ทุกคนต้องเผชิญ ไม่ช้าก็เร็วก็อาจจะมาถึงเรา หากวันนี้สถานการณ์นี้เกิดขึ้นกับเราแล้ว ก็แค่อยู่กับปัจจุบัน แล้วเดินหน้าทำหน้าที่ไปตามธรรมชาติอย่างดีที่สุด เท่านี้เราก็จะได้ไม่ต้องกังวลใจใด ๆ

2. เอาใจเขามาใส่ใจเรา

ลองคิดดูว่าถ้าเป็นตัวเราที่กลายเป็นผู้ป่วยที่ต้องนอนติดเตียง ไปไหนก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้อีกแล้ว เราจะรู้สึกอย่างไร แน่นอนเลยว่าเราคงเครียด ซึมเศร้า อารมณ์คงจะแปรปรวนน่าดู ซึ่งผู้ป่วยติดเตียงที่เราดูแลก็รู้สึกไม่ต่างกัน ดังนั้นเวลาที่ผู้ป่วยทำอะไรที่ไม่ได้ดั่งใจเรา ผู้ป่วยดื้อหรือแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เราต้องพยายามตั้งสติ ควบคุมอารมณ์ พยายามทำความเข้าใจสภาวะจิตใจของผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา ว่าเขาควบคุมตัวเองและควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่ควรแสดงออกถึงความหงุดหงิดไม่สบายใจของเราใส่ผู้ป่วย ให้ปล่อยผ่านแล้วคิดว่าเดี๋ยวสิ่งต่าง ๆ ก็จะผ่านไป

การบรรเทาความเครียดให้ผู้ป่วยติดเตียง

หลังจากที่เราจัดการกับตัวเอง ปรับความคิด จิตใจและอารมณ์ของเราได้แล้ว ก็เท่ากับว่าเราพร้อมแล้วที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของผู้ป่วย และพร้อมแล้วที่จะมอบความสุข ความสบาย ความผ่อนคลายให้กับผู้ป่วยติดเตียงที่เราดูแล การบรรเทาความเครียด สร้างความสุข เพิ่มความผ่อนคลายให้กับผู้ป่วยสามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งจะขอแนะนำบางวิธีง่าย ๆ ที่ทำได้กับผู้ป่วยทุกคน ดังนี้

1. การแช่มือ แช่เท้าเพิ่มความผ่อนคลาย

การที่ผู้ป่วยติดเตียงเกิดอารมณ์แปรปรวนหงุดหงิดง่าย บางทีก็อาจมาจากการอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ ระบบไหลเวียนโลหิตไม่ดี จึงส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยเครียด ลองใช้เทคนิควารีบำบัดอย่างวิธีการแช่มือแช่เท้าให้กับผู้ป่วยด้วยน้ำอุ่นก็ช่วยได้ ไม่จำเป็นต้องแช่นาน อาจจะประมาณ 5-10 นาทีก็พอ หลังจากนั้นก็จะใช้ออยล์หรือโลชั่นนวดไปที่ผิวของผู้ป่วยเพื่อป้องกันผิวแห้ง ซึ่งการแช่มือแช่เท้าพร้อมกับนวดเบา ๆ จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น

2. นวดผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด

เป็นไปได้ว่าการที่ผู้ป่วยต้องนอนอยู่บนที่นอนนาน ๆ จะทำให้เลือดลมไหลเวียนไม่ดี เกิดอาการปวดหลัง ปวดตัว หรือมีปัญหาแผลกดทับ ซึ่งผู้ป่วยก็อาจอยากจะบอกกับเราว่ารู้สึกปวดหลังไม่สบายตัว แต่สื่อสารกับเราไม่ได้จึงทำให้รู้สึกเครียด หงุดหงิด และเพราะความไม่สบายตัวจึงส่งผลไปถึงการนอน ทำให้นอนหลับไม่สนิท พอมีปัญหาการนอนเข้ามาอีกก็ยิ่งเครียดหนักเข้าไปอีก ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ลองใช้วิธีการการนวดผ่อนคลายให้ผู้ป่วยติดเตียงเบา ๆ เข้าช่วย โดยจะทำการนวดหลังจากการเช็ดตัวให้ผู้ป่วย ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายได้ รวมไปถึงแนะนำว่าหากใช้ที่นอนธรรมดาอยู่ก็ควรเปลี่ยนมาใช้เป็นที่นอนป้องกันแผลกดทับ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาแผลกดทับแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดอาการปวดหลัง ปวดตัวและช่วยให้ผู้ป่วยนอนหลับได้สบายมากยิ่งขึ้นด้วย

3. การใช้เสียงหรือดนตรีบำบัด

หากผู้สูงอายุที่นอนติดเตียงเป็นพ่อ-แม่ หรือญาติผู้ใหญ่ของเราอยู่แล้ว เราก็คงพอจะทราบว่าพวกท่านชอบฟังเพลงอะไร ก็อาจจะหาเพลงเหล่านั้นมาเปิดคลอเบา ๆ ระหว่างวันก็ได้หรือจะเปิดเป็นบทสวดมนต์ ดนตรีสำหรับทำสมาธิ หรือเสียงSound ธรรมชาติแทนก็ได้เช่นกัน เสียงดนตรีเหล่านี้มีส่วนช่วยปรับอารมณ์ความรู้สึกของผู้ป่วยทำให้รู้สึกสงบ ผ่อนคลายและรู้สึกอารมณ์ดีขึ้นได้ วิธีนี้ถือเป็นวิธีลดความเครียดและลดความเบื่อหน่ายให้กับผู้สูงอายุที่นอนติดเตียงได้เป็นอย่างดี

เหล่านี้คือแนวทางง่าย ๆ ที่ช่วยบรรเทาความเครียดให้ผู้ป่วยติดเตียงอย่างได้ผล จะเห็นว่าไม่ได้ยากเลย สิ่งสำคัญก็คือ ทุกสิ่งที่คุณทำ ควรทำด้วยความสุขใจและจริงใจ ขอให้รู้ว่าผู้ป่วยท่านรับรู้ได้ถึงความจริงใจที่เรามอบให้เสมอ