แผลกดทับคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร

แผลกดทับ

แผลกดทับคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ผู้ดูแลจะสามารถช่วยผู้ป่วยติดเตียงหลีกเลี่ยงพฤติกรรม หรือท่าทางที่ทำให้เกิดแผลกดทับได้หากรู้ถึงสาเหตุการเกิดแผลกดทับ ลองจินตนาการว่าคุณไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้ตามใจนึก ต้องนอนอยู่บนเตียงในท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ คุณจะรู้สึกอย่างไร คุณอาจทรมานเมื่อทำอะไรที่อยากทำไม่ได้ แต่สำหรับผู้ป่วยติดเตียงแล้ว หนึ่งในอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นตามมาคือแผลกดทับ ที่สร้างความเจ็บปวดต่อร่างกายและจิตใจ วันนี้เราจะพาคุณมาค้นหาสาเหตุของอาการแทรกซ้อนดังกล่าวให้มากขึ้น เพื่อคุณจะได้หลีกเลี่ยงท่าทางหรือเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดแผลกดทับ และหากว่าวันหนึ่งเมื่อมีแผลกดทับเกิดขึ้นกับคนที่คุณรัก คุณจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที

แผลกดทับคืออะไร

แผลกดทับคืออะไร แผลกดทับเกิดจากอะไร

แผลกดทับ เป็นพื้นผิวที่ถูกทำลายจากการนั่งหรือนอนในท่าเดิมเป็นเวลานาน โดยแผลกดทับมักจะเกิดในบริเวณที่กระดูกอยู่ใกล้กับผิวหนัง หรือ บริเวณปุ่มกระดูก ซึ่งมีบริเวณส้นเท้า ข้อเท้า สะโพก ก้นกบ หรือ ข้อศอก โดยแรงกดที่มากกว่าแรงดันของหลอดเลือดฝอยเป็นเวลาต่อเนื่องในบริเวณเหล่านี้ จะไปบีบทับหลอดเลือดฝอย ที่ทำหน้าที่ส่งอ๊อกซิเจน และสารอาหารที่สำคัญ หากเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้เพียงพอ เซลล์ผิวหนังก็จะตาย และทำให้เกิดเป็นแผลกดทับ เพราะฉะนั้นการเลือกที่นอนให้ผู้ป่วยติดเตียงจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความสามารถของที่นอนในการกระจายแรงกดทับให้กับผู้ป่วยติดเตียงให้ต่ำกว่าแรงดันเส้นเลือดฝอย ซึ่งก็คือให้ต่ำว่า 60 มิลลิเมตรปรอท ทั่วทั้งร่างกายนั้นเอง ยิ่งเป็นผู้ที่มีรูปร่างผอมบางยิ่งเสี่ยงมากขึ้นเพราะผิวหนังบางกว่าคนรูปร่างแบบอื่น รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น มีโรคเกี่ยวกับเบาหวานและหลอดเลือด ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ ความอับชื้นหรือเชื้อโรคบนที่นอนผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น

วิธีการตรวจสอบแผลกดทับ

วิธีการตรวจสอบแผลกดทับ

แม้จะไม่ใช่แพทย์คุณก็สามารถสังเกตอาการของแผลกดทับเบื้องต้นได้เช่นกัน โดยสังเกตผิวหนังตามอวัยวะต่าง ๆ ว่ามีสีซีดลงหรือไม่ ใช้การสัมผัสเพื่อตรวจสอบว่าผิวหนังบริเวณนั้นมีความแข็งหรือนุ่มกว่าที่ควรจะเป็นตามปกติหรือไม่ หากพบว่ามีอาการผิดปกติดังกล่าวให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

ลักษณะแผลกดทับ

แผลกดทับมีลักษณะเป็นอย่างไร

แผลกดทับถูกแบ่งตามระดับความรุนแรงของแผล โดยในระยะที่ 1-3 ยังสามารถรักษาและฟื้นฟูได้

  • แผลกดทับระดับที่ 1 ผิวหนังจะมีรอยแดง เมื่อใช้มือกดแล้วรอยแดงไม่จางหายไป
  • แผลกดทับระดับที่ 2 ผิวหนังเสียหายบางส่วน เห็นเป็นแผลเปิดตื้นๆ หรืออาจเห็นชั้นหนังแท้สีแดงเพราะชั้นหนังกำพร้าฉีกขาด อาจมีตุ่มน้ำใส มันวาว ผิวหนังรอบๆแผลแดง หรือระคายเคือง
  • แผลกดทับระดับที่ 3 ผิวหนังเสียหายทั้งหมด จะสูญเสียชั้นผิวหนังจนมองเห็นชั้นไขมัน และเริ่มมีเนื้อตายปรากฏให้เห็น
  • แผลกดทับระดับที่ 4 เป็นระดับที่รุนแรงที่สุด เกิดแผลลึกลงไปถึงกล้ามเนื้อและกระดูก
    ในปี 2007 The National Pressure Ulcer Advisory Panel ได้เพิ่มระดับแผลกดทับอีก 2 ระดับคือ แผลกดทับที่คาดว่ามีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อชั้นลึกและ แผลกดทับที่ไม่สามารถบอกระดับได้
  • แผลกดทับที่คาดว่ามีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อชั้นลึก โดยยังไม่มีการฉีดขาดของผิวหนัง แต่ลักษณะของผิวมีการเปลี่ยนแปลงเป็นสีม่วงหรือสีน้ำตาลแดง หรือมีผิวหนังพองที่มีเลือดอยู่ข้างใน ที่ผิวหนังมีลักษณะเช่นนี้เป็นเพราะว่ามีการถูกทำลายของเนื้อเยื่อภายใต้ผิว
  • แผลกดทับที่ไม่สามารถบอกระดับได้ คือการสูญเสียผิวหนังทั้งหมด แต่ไม่สามารถวัดปริมาณเนื้อเยื้อที่สูญเสียไปได้ เนื่องจากพื้นแผลทั้งหมดถูกคลุมไว้ด้วยเนื้อตายที่เป็นสะเก็ดหนาสีดำ

การรักษาแผลกดทับ

การรักษาแผลกดทับเบื้องต้น

เพื่อป้องกันการติดเชื้อในแผลกดทับ แพทย์จะทำความสะอาดแผล โดยใช้น้ำเปล่าผสมสบู่อย่างอ่อนๆ หรือใช้น้ำเกลือ หากแผลมีความรุนแรง แพทย์อาจจะทำการตัดเศษเนื้อตายออกจากแผล และเพื่อปกป้องและควบคุมความชุ่มชื้นของแผล แพทย์อาจปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลชนิดพิเศษ

ในการหลีกเลี่ยงการเกิดแผลกดทับ ผู้ดูแลถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในการป้องกันและหลีกเลี่ยงแผลกดทับให้ผู้ป่วยติดเตียง เพราะนอกจากการเลือกที่นอนป้องกันแผลกดทับที่ดีให้กับผู้ป่วยแล้ว ผู้ดูแลยังต้องใส่ใจเรื่องการพลิกตัว การจัดท่านั่ง ท่านอนที่ถูกต้อง การทำกายภาพ การเลือกอาหารที่เหมาะสม และการดูแลผิวหนังให้กับผู้ป่วยด้วย เพราะนอกจากแรงกดทับที่มากเกินแรงดันเส้นเลือดฝอยที่ทำให้เกิดแผลกดทับแล้ว แรงเสียดสีจากการนั่งนอนไม่ถูกท่า การที่ร่างกายไม่ได้ขยับเขยื้อน การขาดสารอาหาร และการที่ผิวแห้งกร้านขาดความชุ่มชื้น ก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้เกิดแผล และการขาดการไหลเวียนของเลือดที่ผิวหนังได้เช่นกัน มาร่วมกันหมั่นสังเกตผิวหนังของผู้ป่วยติดเตียง เพื่อป้องกันแผลกดทับลุกลาม เพราะยิ่งพบเร็วยิ่งแก้ไขได้ทันนะคะ