5 วิธีป้องกันการเกิดแผลกดทับ ตามหลัก SSI-ET Bundle

ป้องกันการเกิดแผลกดทับ

5 วิธีป้องกันการเกิดแผลกดทับ ตามหลัก SSI-ET Bundle (เอส ไซ เอ็ด บันเดล) ของโรงพยาบาลศิริราช ที่หากผู้ดูแลปฎิบัติตามแล้ว จะช่วยลดโอกาสการเกิดแผลกดทับให้ผู้ป่วยติดเตียงได้เป็นอย่างดี เพราะแผลกดทับเป็นปัญหาสำคัญของผู้ป่วยติดเตียง การหาวิธีป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรกเมื่อคนใกล้ตัวตกอยู่ในสภาวะพึ่งพาตนเองไม่ได้

การป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไป เพียงแต่ต้องอาศัยความเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปด้วยกันอย่างราบรื่น โดยใช้วิธีการทั้ง 5 ข้อดังต่อไปนี้

1. การให้ความสำคัญกับพื้นผิวสัมผัส (SURFACE) โดยการใช้อุปกรณ์ในการลดแรงกด เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ

ที่นอน: เนื่องจากสภาพทางร่างกายที่ทำให้ผู้ป่วยติดเตียงเคลื่อนไหวได้น้อย ทำให้กิจกรรมของผู้ป่วยติดเตียงส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนที่นอน หรืออีกนัยหนึ่งคือ ที่นอนคือพื้นผิวสัมผัสที่ผู้ป่วยติดเตียงต้องใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุดนั้นเอง ดังนั้นการเลือกที่นอนที่มีคุณสมบัติในการช่วยลดแรงกดทับจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับให้กับผู้ป่วยติดเตียงได้เป็นอย่างดี โดยผู้ดูแลต้องตรวจสอบอุปกรณ์ที่นอนลดแรงกดทับนั้น ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อผู้ป่วยนอนแล้ว สะโพกของผู้ป่วยจะไม่จมลงในที่นอน จนสะโพกและก้นสัมผัสกับพื้นเตียง คือเมื่อผู้ป่วยนอนลงไปแล้ว ระยะห่างระหว่างตำแหน่งที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับกับพื้นหรือเตียงต้องไม่น้อยกว่า 2.5 เซนติเมตร เพื่อป้องกันการเกิด “bottom out” หรือขาดประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดแผลกดทับนั้นเอง

ผ้าปู: นอกจากการเลือกที่นอนป้องกันแผลกดทับที่เหมาะสมกับผู้ป่วยติดเตียงแล้ว การดูแลผ้าปูที่นอนให้สะอาด แห้ง และเรียบตึงอยู่เสมอ ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดูแล เพื่อป้องกันการเสียดสีกับผิวหนังของผู้ป่วย

หมอน: การใช้หมอนสอดคั่นระหว่างเข่าและขาทั้งสองข้าง และการใช้หมอนรองใต้น่องเพื่อยกส้นเท้าผู้ป่วยให้ลอยจากพื้นผิวเตียง ก็ถือเป็นการป้องกันการเสียดสีและลดแรงกดทับระหว่างปุ่มกระดูกได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

หมายเหตุ: หลีกเลี่ยงการใช้ถุงมือน้ำ ห่วงยางรองนั่ง หมอนรูปโดนัทหรือวงแหวน เพราะจะทำให้เกิดแรงกดทับเนื้อเยื้อโดยรอบแทน

2. การดูแลความชุ่มชื้นของผิวหนัง (SKIN) และการใช้ผลิตภัณฑ์ในการป้องกันผิวหนังจากแรงเสียดสีและแรงกด

ระหว่างการทำกิจกรรมดูแลผู้ป่วยติดเตียง เช่น ทานอาหาร เช็ดตัว อาบน้ำ ให้ผู้ดูแลคอยตรวจสอบสภาพผิวหนังของผู้ป่วยติดเตียงอยู่เสมอ หรือขออนุญาตผู้ป่วยสำรวจร่างกายโดยแจ้งความห่วงใยและจุดประสงค์อย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกว่ากำลังถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัว ในการตรวจผิวหนังผู้ป่วยติดเตียงให้สังเกตผิวหนังทุกส่วนในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณปุ่มกระดูก พร้อมทั้งคอยบำรุงผิวหนังของผู้ป่วยให้ชุ่มชื้น แต่ไม่เปียกแฉะอยู่เสมอ ด้วยโลชั่น ครีม หรือปิโตเลียมออยท์เมนต์ เพื่อลดความเสี่ยงจากการที่ผิวหนังถูกทำลายได้ง่าย และหลีกเลี่ยงการนวดผิวหนังบริเวณปุ่มกระดูกของผู้ป่วย

การหมั่นตรวจสอบผิวหนังของผู้ป่วยอยู่เสมอ จะช่วยให้ผู้ดูแลเห็นอาการระยะแรกของแผลกดทับบนผิวหนังได้เร็ว ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดแผลลุกลามได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีสายหรือเครื่องมือทางการแพทย์พาดผ่านหู ให้หาวัสดุปิดแผล ปิดที่ร่องหู อาจจะเลือกใช้วัสุดปิดแผล ปิดตามปุ่มกระดูก เพื่อป้องกันการเสียดสีกับที่นอนร่วมด้วยได้

3. การดูแลผิวหนังเพื่อป้องกันการถูกทำลายจากภาวะกลั้นปัสสาวะ/อุจจาระไม่ได้ (INCONTINENCE)

นอกเหนือจากการทำความสะอาดผิวหนังของผู้ป่วยติดเตียงเป็นประจำทุกวันแล้ว ผู้ดูแลต้องอย่าลืมทำความสะอาดผิวหนังของผู้ป่วยติดเตียงบริเวณที่สัมผัสโดนปัสสาวะหรืออุจจาระด้วย โดยใช้สำลีชุบน้ำเปล่า หรือผสมสบู่ pH 5.5 หรือใช้ทิชชู่เปียกสูตรอ่อนโยนช่วยเช็ดทำความสะอาดให้ผู้ป่วย แต่ไม่ควรขัดถูบริเวณผิวหนัง และอย่าลืมซับบริเวณผิวหนังให้แห้งทุก ๆ ครั้ง

สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ ผู้ดูแลอาจเพิ่มการป้องกันผิวหนังถูกทำลายจากความเปียกชื้นด้วยโลชั่นหรือปิโตเลียมออยท์เมนต์และ/หรือ Zn paste ผสมปิโตเลียมออยท์เมนต์ทาผิวหนัง หรือ ฟิล์มปกป้องผิวหนัง

4. ดูแลภาวะโภชนาการของผู้ป่วยติดเตียง (ENCOURAGE NUTRITION)

การคัดกรองภาวะโภชนาการและการดูแลให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ ตามค่าคะแนน MUST (Malnutrition Universal Screening Tool) มี 4 ขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่ 1: ประเมินค่า BMI ของผู้ป่วยติดเตียง
● หากค่า BMI > 20 🡪 ให้คะแนน = 0
● หากค่า BMI 18.5-20 🡪 ให้คะแนน = 1
● หากค่า BMI < 18.5 🡪 ให้คะแนน = 2

ขั้นตอนที่ 2: ประเมินน้ำหนักที่ลดลงภายในระยะเวลา 3-6 เดือน ของผู้ป่วยติดเตียง
● หากน้ำหนักลดลง < 5% 🡪 ให้คะแนน = 0
● หากน้ำหนักลดลง 5-10% 🡪 ให้คะแนน = 1
● หากน้ำหนักลดลง > 10% 🡪 ให้คะแนน = 2

ขั้นตอนที่ 3: ประเมินอาการหรือโรคของผู้ป่วยที่มีผลต่อการได้รับสารอาหาร หากผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการกลืน หรือไม่ได้รับสารอาหารมากกว่า 5 วัน ให้คะแนน 2

ขั้นตอนที่ 4: รวมคะแนนจากขั้นตอนที่ 1-3 เข้าด้วยกัน
● หากผู้ป่วยมีคะแนน = 0 หมายความว่าผู้ป่วยไม่มีความเสี่ยงเรื่องภาวะโภชนาการ
● หากผู้ป่วยมีคะแนน = 1 หมายความว่า ผู้ป่วยมีความเสี่ยงเรื่องภาวะโภชนาการปานกลาง ผู้ดูแลควรบันทึกการรับประทานอาหารของผู้ป่วยติดเตียงเป็นเวลา 3 วัน และดูแลให้ผู้ป่วยได้รับอาหารเสริมประเภทโปรตีน
● หากผู้ป่วยมีคะแนน = 2 หมายความว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงเรื่องภาวะโภชนาการสูง ผู้ดูแลควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับโภชนาการที่เหมาะสม เพื่อจัดการให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารให้เพียงพอ
ผู้ดูแลควรหมั่นสังเกต และประเมินภาวะโภชนาการผู้ป่วยซ้ำภายใน 1 สัปดาห์ หรือเมื่อมีอาการเปลี่ยนแปลง

5. การเปลี่ยนและจัดท่าทางเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ (TURN POSITION)

โดยทั่วไปแล้วควรพลิกตัวหรือเปลี่ยนท่านอนให้กับผู้ป่วยติดเตียงอย่างน้อยทุก ๆ 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ทั้งนั้นความถี่ในการพลิกตัวขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย ประกอบไปด้วย น้ำหนักตัวของผู้ป่วย อาการของแผลกดทับ ปัญหาในการนอนหลับของผู้ป่วยเอง และลักษณะของที่นอนว่าเป็นที่นอนป้องกันแผลกดทับโดยเฉพาะหรือไม่ เพราะคุณภาพของที่นอนมีผลต่อความถี่ในการพลิกตัวผู้ป่วย ควรหมั่นเปลี่ยนท่าทางของผู้ป่วยโดยใช้เทคนิคการพลิกตัวที่ถูกต้องอย่างเอาใจใส่อยู่เสมอ และจัดท่านั่ง-ท่านอนให้ผู้ป่วยอย่างถูกต้องตลอดเวลา นอกจากการเปลี่ยนท่าทางจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดแรงกดทับจากท่านอนเดิมแล้ว ยังเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ป่วยด้วย

เพียงมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแผลกดทับ และวิธีดูแลอย่างเอาใจใส่เพื่อป้องกันแผลกดทับตามแนวทาง SSI-ET Bundle (เอส ไซ เอ็ด บันเดล) ของโรงพยาบาลศิริราช และเลือกใช้ที่นอนที่มีคุณภาพ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดแผลที่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยได้ การใช้ตัวช่วยที่ดีจะทำให้ผู้ดูแลผ่อนคลายจากความเครียดไปได้บ้าง เพราะสุขภาพใจของผู้ดูแลก็สำคัญไม่แพ้ปัญหาเรื่องแผลกดทับของผู้ป่วยติดเตียงเลย

แหล่งข้อมูล: Pressure Ulcer Prevention: SSI-ET Bundle