การนวดเพื่อให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ถือเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันผู้ป่วยติดเตียงจากอาการยึดติดของกล้ามเนื้อ ถือเป็นวิธีการเสริมที่ใช้ควบคู่กับ การทำกายภาพบำบัด ได้เป็นอย่างดี เพราะสำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว การใช้ชีวิตส่วนใหญ่จึงอยู่บนเตียง ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเมื่อยล้า ปวดตึง ระบบไหลเวียนเลือดในร่างกายติดขัด อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับอีกด้วย ผู้ดูแลจึงควรหาตัวช่วยในการบรรเทาอาการปวดเมื่อยตึงต่าง ๆ และหนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยม คือ การนวด
การนวด เป็นทักษะที่ติดตัวเรา ตัวอย่างที่สามารถพูดถึงได้ คือ เมื่อเราประสบอุบัติเหตุ เช่น ข้อเท้าพลิก แน่นอนว่าจะมีอาการปวดที่ข้อเท้า เราจะเห็นว่า จะมีการนวดคลึงที่ข้อเท้าด้วยตนเอง ณ ตำแหน่งที่ปวด หรือ เมื่อเรามีอาการปวดท้อง เราก็มักจะเห็นการกดบีบเพื่อบรรเทาอาการ ดังนั้นการนวดจึงไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินไป ไม่ซับซ้อน แต่หากต้องการให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ได้ผลมากที่สุด จึงเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และฝึกฝน โดยการนวดเพื่อให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจก่อนนวด และการเตรียมตัว
การทำความเข้าใจก่อนนวด และการเตรียมตัว
ก่อนนวด ผู้ดูแลจำเป็นที่จะต้องเข้าใจก่อนว่า เนื้อเยื่อผู้ป่วยไม่ได้แข็งแรง ง่ายต่อการบาดเจ็บ ดังนั้นการนวดจึงต้องนิ่มนวล ไม่ออกแรงเพื่อเอาชนะหรือบี้ขยี้เพื่อให้หายปวด เราต้องคิดเสมอว่า เรามีหน้าที่ในการดูแล เข้าใจ และมีความปรารถนาดี ไม่ใช่การบีบเค้น หรือใช้แรงเพียงอย่างเดียว แรงนวดที่ใช้ต้องพอประมาณ
การออกแรงนวด กด คลึง ต้องเริ่มจากเบา ๆ ก่อน แล้วถึงค่อย ๆ เพิ่ม ไม่ใช่กดลงไปด้วยแรงเต็มที่ ต้องค่อยๆ เพิ่มแรง เมื่อแรงพอเหมาะแล้วถึงค่อยรักษาแรงให้คงที่ตลอดการนวด และเมื่อต้องถอนแรงออกจาก ณ ตำแหน่งที่นวด ให้ค่อยๆ ถอนแรงออก ไม่ชักมือหรือนิ้วขึ้นทันที
การนวดในผู้ป่วยติดเตียง เรามีวัตถุประสงค์ เพื่อผ่อนคลาย เพิ่มการไหลเวียนเลือด และยังช่วยในการลดอาการตึงเกร็งได้ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแลได้
ผู้ดูแลสามารถใช้ครีม โลชั่น ในกลุ่มบำรุงผิว เพื่อลดความฝืดในการนวดได้ และยังสามารถช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวผู้ป่วยได้ เพื่อประโยชน์ในการลดความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับ อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันนวดที่ฤทธิ์รุนแรง เผ็ดร้อนมาก ๆ เพราะอาจทำให้ผิวของผู้ป่วยแสบไหม้เป็นแผลได้
สำหรับผู้ป่วยติดเตียง ร่างกายผู้ป่วยด้านที่อ่อนแรงจะมีการตึงเกร็ง หรือไม่ก็อ่อนแรง มีการเคลื่อนไหวน้อย แน่นอนว่าย่อมมีการยึดติดแข็งของข้อต่อ มีการตึงแข็งเป็นลำของกล้ามเนื้อ และมีอาการตึงปวดเมื่อย
การนวดแขนและมือของผู้ป่วย
- การนวดมือ: ผู้ดูแลอยู่ในตำแหน่งที่หันหน้าเข้าหาผู้ป่วย ใช้มือทั้ง 2 ข้างรองรับและโอบรับมือของผู้ป่วย ให้นิ้วหัวแม่มืออยู่บนฝ่ามือของผู้ป่วย เริ่มด้วยการออกแรงที่นิ้วหัวแม่มือกดลงกลางฝ่ามือของผู้ป่วย คลึงเลื่อนออกไปตามเนินของนิ้วหัวแม่มือและนิ้วก้อย พร้อมกับออกแรงที่นิ้วมือที่โอบรองบริเวณหลังมือของผู้ป่วยพร้อมกัน ในลักษณะเปิดฝ่ามือผู้ป่วยออก ทำซ้ำ 3-5 รอบ หลังจากนั้นทำในลักษณะเดียวกับกับบริเวณกลางฝ่ามือในส่วนที่เหลือ
- หมายเหตุ: หากพบว่าผู้ป่วยมีการเกร็ง ไม่ต้องออกแรงเพิ่ม ให้ค่อยๆ ทำ หากยังพบว่ายังมีการเกร็งอยู่ตลอด ให้เปลี่ยนจากการนวดเป็นการยืดกล้ามนื้อแทนก่อน โดยจับให้ฝ่ามือผู้ป่วยหงายขึ้น กระดกข้อมือขึ้น จับที่นิ้วหัวแม่มือให้กางออก อีกมือหนึ่งจับนิ้วที่เหลือให้เหยียดกางออก ค้างไว้ประมาณ 10 วินาที ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง แล้วสังเกตว่า อาการเกร็งลดลงแล้วหรือไม่ หากยังมีอาการเกร็งให้ทำการยืดเหยียดซ้ำอีก เมื่ออาการเกร็งลดลง จึงกลับมานวดต่อได้
- การนวดนิ้วมือ: ใช้มือยกประคองมือของผู้ป่วยขึ้น มืออีกข้างจับที่นิ้วมือของผู้ป่วย นวดคลึงนิ้วมือโดยเริ่มจากโคนนิ้วออกไปทางปลายนิ้ว ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง แล้วจึงทำนิ้วถัดไปจนครบทุกนิ้ว
- การนวดบริเวณหลังมือ: จับมือผู้ป่วยให้อยู่ในท่าคว่ำมือ ผู้ดูแลโอบรองรับมือผู้ป่วยด้วยมือทั้ง 2 ข้าง ให้นิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 ข้าง นวดคลึงหลังมือตามแนวนิ้วและบริเวณหว่างนิ้วมือ โดยนวดในทิศไปทางปลายมือปลายนิ้ว ทำแนวละ 3-5 ครั้ง
- การนวดบริเวณข้อมือ: ยกงอแขนผู้ป่วยขึ้นประมาณ 90 องศา ผู้ดูแลโอบรองรับข้อมือผู้ป่วยด้วยมือทั้ง 2 ข้าง นิ้วหัวแม่มือจะอยู่ด้านหลังข้อมือ นิ้วที่เหลือวางตามแนวแขนใกล้ข้อมือ ออกแรงกดเบาๆ เข้าที่ข้อมือในลักษณะดันไปทางข้อศอก ค้างไว้ประมาณ 4 วินาที หรือนับ 1-4 ในใจ แล้วจึงผ่อนแรงออก ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง ระมัดระวังว่า ต้องไม่บีบหรือกด สังเกตว่า มือไม่ซีดอันเกิดจากการบีบโดนเส้นเลือด
- การนวดบริเวณแขน: วางแขนผู้ป่วยลงบนเตียงในท่าหงายมือ สามารถงอแขนขึ้นได้เพื่อความถนัด ผู้ดูแลใช้มือจับโอบท่อนแขน และใช้นิ้วแม่มือทั้ง 2 ข้างวางบนแขนผู้ป่วย ออกแรงคลึงในทิศเฉียงออกและนวดขึ้นไปหาข้อศอก ผู้ดูแลออกแรงสลับมือขวา-ซ้าย และเลื่อนขึ้นไปทางข้อศอก ทำซ้ำ 3-5 รอบ และทำเช่นเดียวกับท่อนแขนด้านหลัง
- การนวดบริเวณข้อศอก: บริเวณนี้ ต้องระมัดระวัง เนื่องจากบริเวณพับศอกมีหลอดเลือด เส้นประสาท และต่อมน้ำเหลืองอยู่ตื้น การนวดคลึงต้องนุ่มนวลขึ้น การนวดจะคล้ายกับการนวดที่แขน ใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งนิ้วนวดคลึงในทิศเฉียงออกและนวดขึ้นด้านบน นวดคลึงสลับมือซ้าย-ขวา 3-5 ครั้ง
- การนวดบริเวณต้นแขน: งอศอกผู้ป่วยและวางพิงตัวผู้ดูแล ผู้ดูแลจับโอบและวางมือในลักษณะเดียวกับการนวดที่แขน ใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งนิ้วนวดคลึงในทิศเฉียงออก และไล่ไปหัวไหล่ นวดสลับมือซ้าย-ขวา 3-5 รอบ เมื่อเสร็จบริเวณด้านหน้า จะเป็นการนวดที่ด้านหลังต้นแขน ผู้ดูแลยกแขนขึ้นโดยประคองที่ข้อศอก ใช้อีกมือหนึ่งจับที่ต้นแขนด้านหลังโดยใช้อุ้งมือและนิ้วมือนวดบีบคลึงและค่อยๆ เคลื่อนเลื่อนขึ้นไปทางหัวไหล่
การนวดบริเวณเท้าและขา
- การนวดบริเวณฝ่าเท้าและเท้า: ผู้ดูแลยืนบริเวณปลายเท้าของผู้ป่วย อาจนั่งบนเตียงบริเวณปลายเตียงได้ ยกขาผู้ป่วยขึ้นเล็กน้อยเพื่อความสะดวกในการนวด อาจนำหมอนมารองขาผู้ป่วย ผู้ดูแลใช้มือทั้ง 2 ข้างจับโอบเท้าของผู้ป่วย โดยนิ้วหัวแม่มืออยู่ที่ฝ่าเท้า มือและนิ้วมือโอบจับที่เท้าและหลังเท้า การนวดเริ่มจากออกแรงนวดคลึงแนวกลางฝ่าเท้าและออกแรงคลึงเฉียงออกทางด้านนอก เริ่มจากปลายเท้าไล่ลงมาถึงส้นเท้า มือและนิ้วมือที่โอบเท้าและหลังเท้าอยู่ออกแรงกดเบาๆ พร้อมกับออกแรงนวดคลึงที่ฝ่าเท้า ทำซ้ำ 3-5 รอบ
- การนวดบริเวณบริเวณนิ้วเท้าของผู้ป่วย: ผู้ดูแลใช้นิ้วมือจับนิ้วเท้าผู้ป่วย นวดคลึงทีละนิ้ว ไล่จากโคนนิ้วไล่ถึงปลายนิ้วเท้า
- การนวดบริเวณขา: วางขาผู้ป่วยในท่าเหยียดตรง เริ่มจากบริเวณข้อเท้า ผู้ดูแลจับโอบบริเวณข้อเท้า โดยวางนิ้วหัวแม่มือขนานไปตามหน้าแข้ง ใช้มือและนิ้วมือโอบน่อง ใช้ทั้งสองมือออกแรงนวดคลึงสลับซ้าย-ขวา โดยนวดไล่ขึ้นจนไปถึงหัวเข่า ทำซ้ำ 3-5 รอบ
- การนวดบริเวณน่อง: ผู้ดูแลนั่งบริเวณปลายเท้า งอขาผู้ป่วยตั้งขึ้น สามารถจัดให้เท้าของผู้ป่วยยันที่ขาของผู้ดูแล ผู้ดูแลจับโอบน่องผู้ป่วยโดยใช้นิ้วมือและอุ้งมือจับโอบไว้ ออกแรงนวดคลึงจากบริเวณเอ็นรอยหวายไล่ขึ้นมาทางข้อพับเข่า โดยนวดจากกลางน่องคลึงออกทางด้านข้าง สลับมือซ้าย-ขวา เมื่อถึงข้อพับเข่าแล้ว เริ่มนวดจากเอ็นร้อยหวายใหม่ ทำซ้ำ 3-5 รอบ
- การนวดบริเวณเข่าและข้อพับเข่า: บริเวณหัวเข่าด้านหน้า สามารถนวดคลึงได้โดยลักษณะมือของผู้ดูแลจะคล้ายกับบริเวณขา โดยระมัดระวังว่าอย่าออกแรงกดที่มาเกินไปบริเวณลูกสะบ้า ส่วนบริเวณข้อพับเข่า ให้งอเข่าผู้ป่วยขึ้น ผู้ดูแลโอบจับบริเวณข้อพับเข่าโดยนิ้วมืออยู่บริเวณขอบนอกของข้อพับเข่าทั้งสองด้าน ออกแรงนวดคลึงออกทางด้านนอก ทำทั้ง 2 มือไปพร้อมกัน ทำซ้ำประมาณ 3-5 ครั้ง
- การนวดบริเวณต้นขาด้านหน้า: วางขาผู้ป่วยในท่าตรง เริ่มจากวางมือทั้ง 2 ข้างบนหน้าขาผู้ป่วยใกล้หัวเข่า นวดคลึงโดยออกแรงไปทางด้านข้างและไล่ขึ้นไปถึงต้นขาใกล้พับขา และทำซ้ำ 3-5 ครั้ง ระวังบริเวณข้อพับขา เนื่องจากในตำแหน่งนี้จะใกล้กับหลอดเลือด เส้นประสาท และต่อมน้ำเหลือง
- การนวดบริเวณต้นขาด้านใน: บริเวณนี้ เนื้อเยื่อค่อนข้างอ่อนไหว ไวต่อแรงกด ผู้ดูแลต้องระมัดระวังมากขึ้น จัดให้ขาผู้ป่วยงอเล็กน้อย และวางบนหมอนที่เตรียมไว้ รองบริวณหัวเข่า ผู้ดูแลวางมือทั้ง 2 ข้างบริเวณต้นขาด้านในออกแรงนวดคลึง และไล่จากบริเวณใกล้เข่าจนถึงพับขาด้านใน เช่นเดียวกัน ต้องระวังบริเวณพับขาเนื่องจากเป็นตำแหน่งที่หลอดเลือด เส้นประสาท และต่อมน้ำเหลืองจำนวนมาก
การนวดบริเวณไหล่ สะบัก แผ่นหลัง สะโพก ต้นขาด้านหลังและด้านข้าง
ต่อไปจะเป็นการนวดในท่านอนตะแคง ในท่านี้จะต้องระมัดระวังเรื่องการพลิกตกเตียงของผู้ป่วยด้วย หากมีราวกันตก ให้ยกราวกันตกขึ้นด้วย
- การนวดบริเวณไหล่และสะบัก: ผู้ดูแลยืนทางด้านหลังของผู้ป่วย
- ท่าที่ 1 – ผู้ดูแลจับบริเวณหัวไหล่ของผู้ป่วย อีกมือหนึ่งใช้สันมือด้านนิ้วก้อยหรือนิ้วมือรองที่ขอบสะบัก ผู้ดูแลออกแรงดึงหัวไหล่ผู้ป่วยมาทางด้านหลัง โดยอีกมือหนึ่งออกแรงดันเล็กน้อยตามขอบสะบักพร้อมกัน เพื่อเปิดยืดกล้ามเนื้อหน้าอกและสะบัก ทำซ้ำประมาณ 3-5 ครั้ง
- ท่าที่ 2 – ผู้ดูแลจับประคองผู้ป่วยไว้เพื่อความปลอดภัย อีกมือหนึ่งนวดคลึงนวดที่สะบัก ไหล่ กลางหลัง โดยใช้ทั้งฝ่ามือเป็นจุดสัมผัส ออกแรงนวดคลึงไปทั่วๆ โดยมีทิศทางไปทางหัวไหล่ บ่า ทำซ้ำไปรอบๆ ประมาณ 3-5 รอบ หากกดด้วยนิ้วมืออาจเกิดการช้ำได้ง่าย ต้องระมัดระวังเรื่องแรงที่ใช้
- การนวดบริเวณแผ่นหลัง: บริเวณที่นวดจะใกล้แนวกระดูกสันหลังเป็นส่วนใหญ่ บริเวณอก ซี่โครง เนื้อขอบเอวจะเป็นส่วนที่ง่ายต่อการบาดเจ็บของอวัยวะภายใน จะต้องระมัดระวังในการออกแรง ผู้ดูแลจับประคองผู้ป่วยไว้ และอีกมือเป็นมือที่จะใช้ในการนวดคลึง ให้นวดขึ้นไปทางด้านบน โดยอาจแบ่งบริเวณที่นวด เช่น นวดหลังส่วนบน เสร็จแล้วจึงนวดหลังส่วนล่าง นวดคลึงประมาณ 3-5 รอบ
- หมายเหตุ: ระหว่างนวด สามารถสลับมือที่ใช้นวดกับมือที่ประคองผู้ป่วยได้เพื่อความถนัดในการนวด
- การนวดบริเวณสะโพก: ใช้มือข้างหนึ่งจับประคองผู้ป่วยไว้ มืออีกข้าง ใช้ทั้งฝ่ามือนวดคลึงที่สะโพก โดยนวดคลึงจากด้านในสะโพกไปด้านนอก ระมัดระวังบริเวณหัวกระดูกของข้อสะโพก อย่าออกแรงมากเกินไป
- การนวดบริเวณต้นขาด้านหลัง: ในส่วนนี้ ระมัดระวังบริเวณตรงกลางต้นขา เพราะมีเส้นประสาทอยู่ หากกดแรงเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อเส้นประสาทได้ ผู้ดูแลจับประคองผู้ป่วยกันล้ม และใช้มือ ทั้งฝ่ามือกดนวดคลึงที่ต้นขาด้านหลัง โดยคลึงออกไปทางด้านข้าง ไล่ลงมาจนถึงบริเวณใกล้หัวเข่า ทำซ้ำ 3-5 รอบ
- การนวดบริเวณต้นขาด้านข้าง: ผู้ดูแลยืนด้านหน้าของผู้ป่วย ใช้มือหนึ่งจับประคองตัวผู้ป่วยไว้ อีกมือหนึ่งนวดคลึงตามแนวข้างขา โดยใช้ทั้งฝ่ามือ นวดจากสะโพกไล่ลงด้านข้างขาจนถึงบริเวณใกล้หัวเข่า ทำซ้ำประมาณ 3-5 รอบ
ถึงแม้การนวดให้ผู้ป่วยติดเตียง จะเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย เพิ่มการไหลเวียนของเลือด และยังเป็นกิจกรรมที่ดีระหว่างผู้ดูแล และผู้ป่วย แต่การนวดก็ไม่ใช่วิธีที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยทุกคน ก่อนการนวดให้กับผู้ป่วยติดเตียง ผู้ดูแลควรประเมิณความพร้อมของผู้ป่วยด้วยว่าผู้ป่วยต้อง สบายดี ไม่มีอาการไข้ และควรนวดก่อนหรือหลังอาหาร 1-2 ชั่วโมง สำหรับผู้ป่วยบางราย เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคกระดูกพรุน ผู้ป่วยที่มีแผลกดทับ หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังหรือโรคติดเชื้อ ผู้ดูแลควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลก่อนทำการนวด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อที่จะแพร่กระจายทั่วร่างกายผ่านการไหลเวียนของเลือด