วิธีป้องกันและรับมือกรณีผู้ป่วยติดเตียงเกิดอาการสำลัก

ผู้ป่วยติดเตียงสำลัก

หนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยและมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอกับผู้ป่วยติดเตียงก็คือ “อาการสำลักเวลากลืน” ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กหรือประเด็นที่จะมองข้ามไปได้ เพราะหากผู้ป่วยมีการสำลักที่รุนแรง มีเศษอาหารเข้าไปอุดที่หลอดลมก็จะทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่ออก อาจจะอันตรายถึงชีวิตได้เลย ดังนั้นเรามาเรียนรู้กันดีกว่าว่า หากว่าผู้ป่วยที่คุณดูแลมีภาวะแบบนี้ เราควรจะป้องกันแก้ไขหรือรับมือกับภาวะนี้กันอย่างไร

สาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้ผู้ป่วยติดเตียงเกิดการสำลัก

การสำลักก็คือ การที่อาหารหรือน้ำที่กลืนเข้าไปแล้วไปตกที่หลอดลมหรือหลอดอาหาร ถ้าสำลักเพราะเศษอาหารชิ้นใหญ่ เศษอาหารนั้นอาจหลุดเข้าไปที่หลอดลม จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่ออก หากแก้ไขไม่ทันก็อาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ หรือถ้าสำลักเพราะเศษอาหารชิ้นเล็ก โอกาสที่เศษอาหารนั้นจะหลุดเข้าไปในปอดก็มีไม่น้อยเช่นกัน ถ้าเศษอาหารหลุดเข้าไปในปอดก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบและติดเชื้อที่ปอดได้ ซึ่งก็อันตรายและอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน สิ่งที่เราต้องเข้าใจต่อมาก็คือ สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดการสำลัก ซึ่งการสำลักในผู้ป่วยติดเตียงอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุใหญ่ ๆ ก็คือ

1. ภาวะกลืนลำบาก

การกลืนอาหารเป็นกระบวนการหนึ่งในการทำงานของร่างกายที่ค่อนข้างซับซ้อน เป็นการประสานกันระหว่างกล้ามเนื้อบดเคี้ยว กล้ามเนื้อคอหอย และกล้ามเนื้อหลอดอาหาร ซึ่งการทำงานของกล้ามเนื้อทั้ง 3 ส่วนนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของระบบประสาท แต่ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียง อวัยวะและระบบต่าง ๆ ของร่างกายจะเสื่อมสภาพ เริ่มมาตั้งแต่ช่องปากและฟันที่จะมีปัญหา อาจจะไม่มีฟันแล้ว บางคนอาจมีโรคเหงือก บางคนอาจมีปัญหาน้ำลายในช่องปากแห้ง เป็นเหตุให้ความสามารถในการกลืนอาหารนั้นลดลง ซึ่งถ้าผู้ดูแลสังเกตแล้วพบว่าผู้ป่วยมีภาวะกลืนลำบาก ก็แนะนำว่าควรเริ่มหาวิธีแก้ไขภาวะกลืนลำบากในผู้ป่วย เพื่อจะลดความเสี่ยงอาการสำลัก

2. โรคและอาการป่วยที่ผู้ป่วยต้องเผชิญ

โรคหลอดเลือดสมอง โรคทางระบบประสาท ภาวะสมองเสื่อม รวมไปถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาการกลืนลำบาก เพราะระบบประสาทที่คอยควบคุมสั่งการการเคี้ยวและการกลืนนั้นไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น เมื่อกลืนอาหารยากจึงทำให้มีโอกาสเกิดการสำลักอาหารได้มากขึ้น

การป้องกันและรับมือเมื่อผู้ป่วยติดเตียงเกิดการสำลัก

เมื่อเข้าใจถึงสาเหตุใหญ่ ๆ ของการสำลักในผู้ป่วยแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลช่วยเหลือตัวเองได้ จะมีข้อจำกัดทางด้านร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมการทำงานได้ตามปกติ จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการสำลักในทุกครั้งที่รับประทานอาหาร ผู้ดูแลจึงจำเป็นต้องตระหนักถึงข้อควรระวังต่าง ๆ เวลาป้อนอาหารผู้ป่วย และใช้ความระมัดระวังให้มากขึ้นในการป้อนอาหารผู้ป่วยในแต่ละครั้ง ซึ่งสิ่งที่ผู้ดูแลควรต้องทำมีดังนี้

1. เลือกอาหารให้เหมาะสมกับผู้ป่วย

การเลือกอาหารก็ให้พิจารณาตามลักษณะอาการของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยยังรับประทานได้ ก็อาจจะเลือกเป็นอาหารอ่อนย่อยง่าย สิ่งที่จะต้องระวังก็คือ อาการที่จะไปกระตุ้นโรคให้กำเริบหรือส่งผลเสียต่อร่างกายผู้ป่วย และถ้าผู้ป่วยรับประทานไม่ได้ตามปกติ ก็ต้องให้อาหารเหลวปั่นทางสายยาง การเลือกอาหารเป็นแนวทางในการป้องกันการสำลักในผู้ป่วยที่สำคัญ เพราะอาหารที่กลืนง่ายย่อยง่าย จะช่วยลดการสำลักในผู้ป่วยได้นั่นเอง

2. การจัดท่าทางในการรับประทานอาหารให้ผู้ป่วย

ท่านั่งถือเป็นท่าที่เหมาะสมและดีที่สุดเวลาที่จะป้อนอาหารหรือให้ผู้ป่วยรับประทานอาหาร จึงเน้นย้ำว่าผู้ดูแลควรจะปรับท่าทางผู้ป่วยให้อยู่ในท่านั่งเสมอ เวลาจะให้ผู้ป่วยรับประทานอาหาร โดยสามารถทำได้ 2 กรณีดังนี้

  • กรณีผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ หากผู้ป่วยยังสามารถรับประทานอาหารได้ แต่ไม่สามารถที่จะนั่งทรงตัวด้วยตัวเองได้ ให้ผู้ดูแลปรับหัวเตียงให้ที่นอนผู้ป่วยติดเตียงตั้งขึ้นในระดับ 60-90 องศา หากว่าใช้เป็นเตียงธรรมดา ก็ให้พยุงตัวผู้ป่วยให้อยู่ในท่านั่งและใช้หมุนหนุนช่วยพยุงตัวผู้ป่วยไว้ ให้ผู้ป่วยนั่งพิงหมอนเพื่อจะได้รับประทานอาหารได้ถนัด
  • กรณีผู้ป่วยรับประทานอาหารทางจมูก ผู้ป่วยบางรายรับประทานอาหารไม่ได้ตามปกติ ต้องให้อาหารผ่านสายอาหารทางจมูก กรณีที่มีการใช้เตียงปรับระดับร่วมกับที่นอนลมป้องกันแผลกดทับอยู่แล้ว ก็ให้ผู้ดูแลปรับหัวเตียงให้สูงขึ้นในระดับ 30-45 องศา หากใช้เป็นเตียงธรรมดาก็พยายามปรับท่าทางยกศีรษะของผู้ป่วยให้สูงในระดับเดียวกันก่อนให้อาหารผู้ป่วย

3. ทำความสะอาดช่องปากผู้ป่วย

ก่อนและหลังการรับประทานอาหารของผู้ป่วย ผู้ดูแลควรมีการดูแลทำความสะอาดช่องปากให้กับผู้ป่วยเสมอ ซึ่งขั้นตอนนี้นอกจากจะช่วยลดการสะสมของเชื้อโรคในช่องปากแล้ว ยังเป็นการป้องกันการสำลักเศษอาหารที่ติดอยู่ในช่องปากของผู้ป่วยและป้องกันการติดเชื้อจากการสำลักได้ด้วย

การช่วยเหลือเบื้องต้นหากผู้ป่วยสำลัก

แม้ว่าเราจะมีการวางแผนและปฏิบัติอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันผู้ป่วยสำลักแล้วก็ตาม แต่โอกาสที่ผู้ป่วยจะเกิดการสำลักก็ยังมีอยู่เสมอ หากว่าระหว่างที่ผู้ดูแลป้อนอาหารไปแล้วผู้ป่วยเกิดสำลักขึ้นมา ก็ให้ทำการช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นดังนี้

  1. ให้ผู้ป่วยหยุดรับประทานอาหารทันที
  2. จัดท่าทางใหม่ให้ผู้ป่วย โดยประคองให้ผู้ป่วยนั่งก้มไปข้างหน้าเล็กน้อย หากผู้ป่วยไม่มีแรงทรงตัวไม่อยู่ ให้พลิกตัวผู้ป่วยนอนตะแคงกึ่งคว่ำหน้า เพื่อให้ผู้ป่วยคายอาหารที่อยู่ภายในปากออกมาให้หมด ผู้ดูแลอาจจะบอกหรือช่วยส่งเสียงให้ผู้ป่วยคายอาหารออกจากปาก แต่ไม่ควรทำการล้วงคอผู้ป่วยให้ผู้ป่วยคายอาหารออกมาเอง
  3. หากผู้ป่วยสำลักไม่หยุดจนเริ่มมีอาการหน้าซีด เหนื่อยหอบ ปากเริ่มเขียวคล้ำ ให้รีบนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลในทันที
    ทั้งหมดนี้คือวิธีการต่าง ๆ ในการป้องกันและรับมือกรณีผู้ป่วยติดเตียงสำลัก ซึ่งผู้ดูแลผู้ป่วยทุกคนสามารถนำไปปรับใช้กับตนเองได้เลย แต่อย่างไรก็ดีอยากจะเน้นย้ำว่า ควรให้ความสำคัญกับการป้องกันการสำลักไว้ก่อนจะดีที่สุด เพราะการป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไขเสมอ