โภชนาการที่เหมาะสมกับผู้ป่วยติดเตียง มีอะไรบ้าง เพราะสำหรับผู้ป่วยติดเตียง การรับประทานอาหารเพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วนเป็นสิ่งจำเป็นไม่ต่างจากคนปกติที่ร่างกายแข็งแรง โดยสารอาหารที่ผู้ป่วยควรได้รับนั้นจำเป็นต้องครบ 5 หมู่ ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต เกลือแร่ วิตามิน และไขมัน แต่ดัดแปลงรูปแบบเพื่อให้สามารถรับประทานได้ง่าย ย่อยง่าย ร่างกายดูดซึมไปใช้ได้ดี เช่น การบด การปั่น การทำให้เป็นอาหารเหลว เป็นต้น ผู้ดูแลจึงควรจัดเตรียมตามวิธีการดังต่อไปนี้เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับโภชนาการจากเมนูอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอ
1. คาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่พออิ่ม
คาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งพลังงานหลักที่ช่วยให้ร่างกายมีเรี่ยวแรงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในกรณีของผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่ค่อยได้ขยับร่างกายเท่าไรนัก จึงควรให้ผู้ป่วยทานคาร์โบไฮเดรตแต่พออิ่ม โดยเป็นข้าวมื้อละ 2 ทัพพี หรือคาร์โบไฮเดรต 2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เน้นเลือกใช้เป็นข้าวไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง หรือเลือกใช้แหล่งคาร์โบไฮเดรตที่มีใยอาหารอย่างเผือกและมัน
2. โปรตีนเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ
โปรตีนเป็นสารอาหารที่จำเป็นมากที่สุด เนื่องจากผู้ป่วยที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนที่นอนผู้ป่วยติดเตียง ทำให้กล้ามเนื้อไม่ได้ใช้งาน เสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้อลีบ จึงควรมีโปรตีนที่ย่อยง่ายอยู่ในมื้ออาหาร ได้แก่ เนื้อปลา ไข่ หรือไข่ขาวในกรณีที่ผู้ป่วยเสี่ยงต่อภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือด นมวัวหรือนมถั่วเหลือง และถั่วเมล็ดแห้งที่ต้มจนสุกดี โดยรวมแล้วผู้ป่วยควรได้รับโปรตีน 1.5-2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพราะโปรตีนนอกจากการช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อแล้ว กรดอะมิโนจากโปรตีนยังมีความสำคัญในการสร้างหลอดเลือดฝอยใหม่และช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดขาวมีความสามารถในการทําลายสิ่งแปลกปลอมและเชือแบคทีเรีย
3. เสริมเกลือแร่และใยอาหารจากผัก
ผักต่าง ๆ มีใยอาหารที่จำเป็นต่อระบบขับถ่ายของผู้ป่วย และยังมีเกลือแร่ที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย จึงจำเป็นต้องมีผักอยู่ในเมนูอาหารและควรเลือกใช้ผักหลากหลายสี เนื่องจากผักแต่ละสีจะมีสารอาหารที่มีประโยชน์แตกต่างกัน โดยแบ่งออกได้เป็น 5 สีหลัก ได้แก่
- สีเขียว เช่น ผักโขม แตงกวา กะหล่ำปลี
- สีเหลืองหรือส้ม เช่น แครอท ฟักทอง ส้ม
- สีน้ำเงินหรือม่วง เช่น มะเขือม่วง หอมแดง
- สีขาวหรือน้ำตาล เช่น หัวไชเท้า ขิง ข่า
- สีแดง เช่น พริกหวาน มะเขือเทศ
โดยให้ใช้วิธีนึ่งหรือต้มสุกเพื่อให้ผู้ป่วยรับประทานได้ง่าย โดยทานผักร่วมกับผลไม้ให้ได้รวมกันวันละประมาณ 400 กรัม
4. วิตามินบำรุงร่างกายจากผลไม้
ผลไม้ควรเลือกให้มีความหลากหลายเช่นเดียวกับผัก เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับวิตามินที่ร่างกายต้องการอย่างเพียงพอ แต่ไม่ควรเป็นผลไม้ที่มีรสหวานจัด โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียงที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน เพราะเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับที่หายช้าได้ การเตรียมผลไม้ให้ผู้ป่วยทานนอกจากหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วยังสามารถปั่นเป็นน้ำผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสมได้ด้วย โดยทานร่วมกับผักให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม
5. ไขมันดีที่ควรบริโภคแต่น้อย
ไขมันเป็นสารอาหารที่ขาดไม่ได้ เป็นส่วนประกอบสําคญในการสังเคราะห์กรดไขมันและไตรกลีเซอไรด์ซึ่งเป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ โดยควรเลือกไขมันจากพืช ปริมาณความต้องการประมาณ 2-3 ข้อนชา/มื้ออาหาร ควรเลือกบริโภคไขมันชนิดดี เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก อะโวคาโด เป็นต้น รวมถึงการปรุงรสที่ไม่ควรให้อาหารมีรสจัดจนเกินไป อาจใช้เครื่องเทศประเภทสมุนไพรเพื่อเพิ่มกลิ่นและรสให้กับมื้ออาหารได้
นอกจากการดูแลเรื่องอาหารแล้ว อย่าลืมให้ผู้ป่วยได้รับน้ำอย่างเพียงพอ หรืออย่างน้อยวันละ 2,000 มิลลิลิตร เพราะหากได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ แต่ขาดน้ำ การลำเลียงสารอาหารที่ย่อยแล้วไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายก็จะทำได้ลำบาก เพราะน้ำเป็นส่วนสำคัญในการลำเลียง และยังเป็นส่วนประกอบของเซลล์ทุก ๆ เซลล์ในร่างกาย
เมื่อได้รับสารอาหาร และน้ำในปริมาณที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยติดเตียง สิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันคือการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ จึงควรเลือกที่นอนผู้ป่วยติดเตียงที่ช่วยให้ไม่ต้องพลิกตัวผู้ป่วยบ่อย สามารถกระจายแรงกดทับได้ดี ลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ ช่วยให้ระบบการไหลเวียนโลหิตส่งสารอาหารต่าง ๆ ไปหล่อเลี้ยงและซ่อมแซมร่างกายได้ดีมากยิ่งขึ้น เพราะการดูแลผู้ป่วยคือการดูแลสุขภาพอย่างรอบด้านเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง