ถุงอาหารผู้ป่วยล้างอย่างไรให้มั่นใจว่าสะอาดและปลอดภัยไร้การปนเปื้อน

ถุงอาหารผู้ป่วย

ถุงใส่อาหารของผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องให้อาหารผ่านสายยางนั้น เป็นถุงที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ แต่จะต้องมีการล้างให้สะอาดและล้างอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ทางเดินอาหาร แต่ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะล้างไม่ถูกต้อง ส่วนผู้ดูแลผู้ป่วยมือใหม่อาจยังไม่ทราบถึงวิธีล้าง ดังนั้นในครั้งนี้เราจึงจะมาบอกวิธีการล้างถุงอาหารผู้ป่วยให้สะอาดปลอดภัยไร้การปนเปื้อน รายละเอียดเป็นอย่างไรนั้นมาดูกัน

เหตุใดต้องป้อนอาหารผ่านสายให้อาหารกับผู้ป่วยติดเตียง

มีผู้ป่วยติดเตียงหลาย ๆ คนอาจไม่สามารถรับประทานอาหารทางปากแบบปกติได้ อันเนื่องมาจากโรคที่เกี่ยวกับสมองทำให้ผู้ป่วยควบคุมร่างกายในการเคี้ยวและกลืนอาหารเองไม่ได้ หรือเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่มีภาวะกลืนลำบากร่วมกับภาวะสำลักอาหารบ่อย ทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารทางปากได้ ในทางการแพทย์ระบุว่าผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานอาหารทางปากได้ตามปกติก็มักจะรับประทานอาหารได้น้อยลงกว่า 60% จึงทำให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานจากอาหารที่ควรได้รับต่อวันในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสม ทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้ ซึ่งทางออกในเรื่องนี้ก็คือ การป้อนอาหารผู้ป่วยติดเตียงผ่านทางสายให้อาหาร (NG tube) และเมื่อให้อาหารผู้ป่วยติดเตียงทางถุงให้อาหารแล้ว เราก็ต้องไม่ลืมที่จะเรียนรู้การล้างถุงให้อาหารอย่างถูกวิธีด้วย เพื่อสุขอนามัยและความปลอดภัยของผู้ป่วย

วิธีการล้างถุงอาหารผู้ป่วยที่ต้องรับอาหารทางสายให้อาหาร

การป้อนอาหารผู้ป่วยติดเตียงผ่านท่ออาหารนั้นจะต้องนำอาหารปั่นเหลวใส่เข้าไปในถุงอาหาร แล้วจึงค่อย ๆ ปล่อยอาหารเหลวเหล่านี้ผ่านทางสายให้อาหารไปถึงผู้ป่วย ถุงให้อาหารสำหรับผู้ป่วย หลังจากการใช้ในมื้ออาหารต่าง ๆ เราก็จะต้องนำมาล้างทำความสะอาดทุกครั้ง ซึ่งจำเป็นอย่างมากที่ผู้ดูแลจะต้องล้างถุงอาหารให้สะอาดทุกครั้งก่อนนำมาใช้ใหม่ ทั้งนี้ก็เพื่อสุขภาพความปลอดภัยของผู้ป่วยนั่นเอง และวิธีการล้างถุงอาหารผู้ป่วยที่ถูกต้องก็มีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

1. ทำการเปิดจุกที่ส่วนหัวและท้ายของถุงให้อาหารออก แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดโดยให้เริ่มต้นล้างจากบริเวณจุกส่วนท้ายก่อน เมื่อล้างเสร็จแล้วก็ปิดจุกให้สนิท แล้วก็ต่อสายให้อาหารเข้าไป เพราะเราจะทำการล้างอีกครั้งพร้อมกับสายให้อาหาร

2. เติมน้ำสะอาดเข้าไปในถุงใส่อาหาร ผ่านทางจุกส่วนหัว ปริมาณน้ำที่เติมเข้าไปไม่ต้องเต็มถุงมากแล้วปิดจุก จากนั้นเขย่าถุงให้ทั่ว เพื่อชำระล้างคราบอาหารที่อยู่ภายในถุงใส่อาหาร

3. เปิดจุกส่วนท้ายเพื่อเทน้ำในถุงอาหารออก ให้น้ำไหลผ่านสายท่อให้อาหารไป เพื่อเป็นการล้างสายให้อาหารไปในตัว

4. ทำซ้ำขั้นตอนที่ 1-3 อีกครั้งหนึ่ง

5. จากนั้นนำน้ำร้อนหรือน้ำอุ่นมาลวกและขจัดคราบไขมันในถุงใส่อาหาร โดยอาจใช้น้ำร้อนเทใส่เหยือกเตรียมไว้ก่อน รอให้พออุ่น ๆ สักเล็กน้อย แล้วกรอกลงไปในถุงใส่อาหาร

6. เทน้ำอุ่นที่ใช้ล้างออกจากถุง

7. จากนั้นเราจะนำถุงมาล้างอีกครั้งด้วยน้ำผสมน้ำยาล้างจาน ให้เตรียมภาชนะใส่น้ำผสมน้ำยาล้างจานไว้ แล้วนำถุงอาหารไปล้าง โดยจะทำการล้างทั้งภายนอกและภายในถุงด้วย การล้างภายในถุงก็ให้เปิดจุกส่วนหัวปล่อยให้น้ำที่ผสมน้ำยาล้างจานไหลเข้าไปในถุงจากนั้นก็ปิดจุด การใช้น้ำยาล้างจานก็เพื่อจะขจัดคราบไขมันที่ตกค้าง ซึ่งอาจจะมีทั้งภายนอกและภายในถุงอาหาร หากเราไม่ขจัดคราบไขมันที่ตกค้างเหล่านี้ออก คราบเหล่านี้จะตกค้างและเกิดการบูดเน่า เมื่อนำมาใช้งานให้อาหารกับผู้ป่วยครั้งต่อไปก็อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับเชื้อแบคทีเรียจนอาจทำให้ผู้ป่วยท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษได้

8. ใช้มือถูทำความสะอาดถุงอาหารในส่วนต่าง ๆ เน้นบริเวณที่เป็นซอกมุมของถุง เพื่อขจัดคราบไขมันติดค้างตามขอบถุง

9. ต่อมาให้ถอดส่วนสายให้อาหารออกมาและล้างกับน้ำผสมน้ำยางล้างจานเช่นกัน ภายนอกของสายก็ล้างตามปกติ ส่วนภายในก็ให้เอาส่วน Syringe ฉีดน้ำที่ผสมน้ำยาล้างจานเข้าไปในสายยางให้อาหาร เพื่อให้แรงดันน้ำช่วยชำระล้างคราบอาหารคราบไขมันต่าง ๆ โดยให้ทำขั้นตอนนี้ซ้ำประมาณ 3 รอบ หรือจนกว่าจะเห็นว่าสายให้อาหารมีความสะอาดแล้ว

10. ปล่อยน้ำที่ผสมน้ำยาล้างจานออกจากถุงอาหารและส่วนของสายให้อาหารออกให้หมด

11. นำถุงอาหารและสายให้อาหารไปล้างน้ำเปล่าที่สะอาด โดยล้างซ้ำประมาณ 2-3 ครั้งจนมั่นใจว่าคราบอาหารและน้ำยาล้างจานออกจากถุงและสายให้อาหารจนหมดแล้ว

12. เมื่อล้างเสร็จแล้วให้ปิดจุดส่วนหัว แล้วนำถุงพลาสติกสะอาด เป็นถุงใส่แกงใส่อาหารก็ได้ มาห่อหุ้มจุกส่วนท้ายของถุง หาเชือกหรือยางรัดถุงกับจุกไว้ก็ได้ เพื่อกันไม่ให้ฝุ่นและสิ่งสกปรกเล็ดลอดเข้าไปในถุง อีกทั้งน้ำที่ข้างอยู่ภายในถุง เวลาหยดออกมาก็จะไม่เปียกพื้นเพราะเรามีการหุ้มส่วนปลายไว้ น้ำจะหยดลงมาในถุงพลาสติกที่เราหุ้มไว้

13. จากนั้นให้นำถุงไปผึ่งให้แห้ง โดยการผึ่งให้ผึ่งในที่ร่มไม่โดดแดด

14. ในส่วนสายให้อาหาร ให้เราหมุนปุ่มปรับระดับไว้ในตำแหน่งเปิด จากนั้นให้นำถุงพลาสติกสะอาด มาหุ้มส่วนปลายสายทั้งสองด้านแล้วรัดด้วยเชือกหรือยางรัด เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกเล็ดลอดเข้าไปในสายให้อาการ

15. นำสายให้อาหารไปแขวนผึ่งไว้ โดยการแขวนก็ให้ห้อยปลายสายทั้งสองด้านลงกับพื้น เพื่อให้น้ำหยดออกให้หมด การผึ่งก็ผึ่งในที่ร่มเช่นกัน ก็เป็นอันจบทุกขั้นตอนของการล้างถุงให้อาหาร

การทำตามขั้นตอนนี้เมื่อถึงมื้ออาหารของผู้ป่วยเราสามารถที่จะนำถุงอาหารมาใช้ได้เลย อาจมีบางคนแนะนำว่าก่อนนำถุงอาหารที่ทำความสะอาดแล้วมาใช้งานอีกครั้งให้นำถุงอาหารมาลวกน้ำร้อนอีกครั้งก่อนใช้งาน ก็สามารถทำได้เพียงแต่ว่าเราจำเป็นที่จะต้องรีดน้ำที่ขังอยู่ภายในถุงอาหารออกให้หมดก่อนที่จะบรรจุอาหารใหม่เข้าไป การทำเช่นนี้ก็อาจจะเพิ่มความมั่นใจในความสะอาดไปอีกขั้น แต่ก็เป็นการเพิ่มขั้นตอนการทำงานที่มากขึ้นและอาจจะไม่ทันต่อมื้ออาหารของผู้ป่วย จริง ๆ ถ้าเราล้างถุงอาหารตามคำแนะนำข้างต้นที่กล่าวมาก็ถือว่าเพียงพอต่อการให้อาหารผู้ป่วยติดเตียงอย่างปลอดภัยแล้ว

การให้อาหารผู้ป่วยติดเตียงผ่านสายให้อาหารนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้ดูแลผู้ป่วยต้องศึกษาให้เข้าใจ เช่นเดียวกับการดูแลปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ป่วยติดเตียง เช่น ปัญหาแผลกดทับที่เกิดขึ้นได้เสมอ เพราะผู้ป่วยต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา ยิ่งถ้าไม่ได้มีการเลือกใช้ที่นอนผู้ป่วยติดเตียงที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับผู้ป่วยด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหานี้ได้ง่าย การที่ผู้ป่วยรับประทานอาหารทางปากไม่ได้ก็เช่นเดียวกัน หากเกิดปัญหาขึ้นก็ต้องแก้ไขจัดการ ซึ่งการป้อนอาหารผ่านทางสายให้อาหารก็ถือเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุดและดีต่อสุขภาพของผู้ป่วยที่สุดนั่นเอง