สำหรับผู้ป่วยติดเตียงแล้ว เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีความอ่อนไหวทั้งทางด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะในเรื่องของปัญหาสุขภาพร่างกาย เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันในร่างกายน้อยลง ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่เป็นภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยที่ติดเตียงได้ง่าย หนึ่งในปัญหาที่ผู้ดูแลหลายคนเผชิญและมักจะตัดสินใจไม่ได้ว่าควรจะดูแลผู้ป่วยอย่างไรต่อดีก็คือ การที่ผู้ป่วยที่นอนติดเตียงมีอาการอาเจียน ผู้ป่วยบางคนมีอาการคลื่นไส้มาก่อนหน้าแล้วค่อยอาเจียน ขณะที่บางคนไม่มีอาการคลื่นไส้มาก่อน อยู่ ๆ ก็อาเจียนเลย และอาเจียนค่อนข้างหนัก ทำให้ผู้ดูแลอดกังวลไม่ได้ ว่าควรจะพาไปโรงพยาบาลทันทีเลยหรือไม่ ครั้งนี้เราจะมาไขปัญหาในเรื่องนี้กัน
คลื่นไส้อาเจียนอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยติดเตียง
สิ่งหนึ่งที่ผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงควรจะต้องทราบไว้ก็คือ อาการคลื่นไส้อาเจียนเป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่ติดเตียง ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นบ่อยแค่ไหน บางคนอาจจะมีแค่อาการคลื่นไส้ ทำให้ไม่อยากรับประทานอาหาร บางคนมีอาการคลื่นไส้ร่วมกับการอาเจียนเลย เมื่ออาการนี้เป็นอาการที่ผู้ป่วยที่อยู่ภาวะติดเตียงต้องเผชิญบ่อย ๆ ทำให้ผู้ดูแลหลายคนไม่แน่ใจว่า ความถี่ ความหนักเบาของอาการอาเจียนในผู้ป่วยที่อยู่ภาวะติดเตียง ระดับไหนถึงควรจะพาไปพบแพทย์ บ่อยแค่ไหนถึงเรียกว่าผิดปกติ
สาเหตุใดบ้างที่ทำให้ผู้ป่วยติดเตียงมีอาการคลื่นไส้อาเจียน
อาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยติดเตียงนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิเช่น
- ภาวะอาหารเป็นพิษ ในอาหารที่ให้ผู้ป่วยรับประทานอาจมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน หรือผู้ป่วยมีแบคทีเรียสะสมในช่องปาก เวลารับประทานอาหารเชื้อจึงตกลงไปสู่ทางเดินอาหาร
- ผู้ป่วยมีภาวะลำไส้อุดตันหรือท้องผูกเรื้อรัง
- มีการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ
- เกิดการอักเสบหรือระคายเคืองที่กระเพาะอาหาร
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดหรือผลข้างเคียงจากการรักษาบางอย่าง
- การเปลี่ยนแปลงของท่าทางอย่างฉับพลัน จนทำให้กลไกของสมองในส่วนรับสัญญาณประสาทที่อยู่ในหูชั้นกลางได้รับการกระตุ้นอย่างรุนแรง ทำให้รู้สึกเวียนหัว คลื่นไส้ และอาเจียน
- สาเหตุอื่น ๆ อย่างความเครียด ความวิตกกังวล ความตื่นเต้น การแพ้กลิ่นบางอย่าง รวมไปถึงสภาพอากาศที่แปรปรวน เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว ก็มีผลในเรื่องนี้กับผู้ป่วยเช่นกัน
แนวทางการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน
สำหรับการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยที่มีภาวะติดเตียงเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนนั้น เราอาจไม่สามารถป้องกันได้ 100% และในบางสาเหตุเราอาจป้องกันไม่ได้เลย อย่างกรณีที่ผู้ป่วยคลื่นไส้อาเจียนเพราะผลข้างเคียงจากยาหรือวิธีการรักษา อันนี้คงต้องดูแลประคับประคองกันไปตามอาการ แต่ก็มีบางกรณีที่เราสามารถจัดการป้องกันได้ ซึ่งสิ่งที่ผู้ดูแลควรทำเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยที่นอนติดเตียงต้องมีอาการคลื่นไส้อาเจียนก็มีดังนี้
1. ดูแลเรื่องโภชนาการความสะอาดและสภาพแวดล้อม
โภชนาการที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่ติดเตียงเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ อาหารที่จะให้ผู้ป่วยควรจะต้องเป็นอาหารที่สะอาด สด ใหม่ มั่นใจว่าไร้การปนเปื้อน และควรจะเป็นอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีธาตุอาหารและไฟเบอร์สูง ผู้ป่วยรับประทานแล้วขับถ่ายง่าย ไม่ระคายเคืองกระเพาะและลำไส้ ก่อนและหลังมื้ออาหารของผู้ป่วยก็ควรทำความสะอาดช่องปากให้กับผู้ป่วยติดเตียง รวมไปถึงการปรับปรุงเรื่องสภาพแวดล้อม ให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคที่อาจไปปนเปื้อนในอาหาร และพยายามทำให้ห้องมีอากาศถ่ายเท ไม่ร้อนไม่เย็นจนเกินไป
2. จัดท่าทางและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
การจัดท่าทางทั้งการนั่ง การนอน รวมทั้งการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ควรใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะหากจัดท่านั่งไม่เหมาะสม โดยเฉพาะเวลารับประทานอาหาร อาจทำให้ผู้ป่วยสำลักและอาเจียนได้ และหากทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่นอนติดเตียง ไม่ถูกวิธีหรือไม่เหมาะสม อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเวียนหัว ไม่สบายตัวได้
3. สำรวจตรวจความผิดปกติของร่างกายสม่ำเสมอ
ให้หมั่นสำรวจตามผิวหนังร่างกายของผู้ป่วยเป็นประจำ ดูว่ามีแผลกดทับหรือไม่ ปัญหานี้ก็สามารถป้องกันและแก้ไขได้โดยการเปลี่ยนที่นอนมาใช้เป็นที่นอนป้องกันแผลกดทับ การใส่สายสวนปัสสาวะในกรณีผู้ป่วยจำเป็นต้องใส่สายสวนปัสสาวะ ต้องเช็คสายสวนและร่างกายผู้ป่วยให้ดี เพราะการมีแผลตามร่างกายหรือการใส่สายสวนปัสสาวะที่ไม่ถูกต้อง ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อได้ ซึ่งเชื้อโรคที่เกิดกับแผลหรือการใส่สายสวนปัสสาวะอาจเล็ดลอดเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยได้หลายทาง บางครั้งอาจจะเข้าไปปนเปื้อนในอาหารหรือน้ำ ในระหว่างที่เรากำลังป้อนอาหารผู้ป่วยโดยที่เราไม่รู้เลยก็ได้เช่นกัน หากสำรวจและจัดการที่ต้นทางไว้ก่อนก็จะช่วยลดปัญหาได้นั่นเอง
อาการอาเจียนลักษณะใดบ้างบ่งชี้ว่าควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ผู้ป่วยที่มีภาวะติดเตียงมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้เสมอและเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุมาก แต่การอาเจียนของผู้ป่วยในลักษณะดังต่อไปนี้ ถือเป็นข้อบ่งชี้ว่าใดที่ผู้ดูแลควรจะต้องตัดสินใจรีบนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที
- ผู้ป่วยมีการอาเจียนร่วมกับอาการปวดท้อง และมีการถ่ายเหลวบ่อยครั้งมากจนผิดปกติ
- ผู้ป่วยอาเจียนทุกครั้งที่ได้รับประทานอาหารและน้ำเข้าไป
- ผู้ป่วยไม่ได้มีอาการคลื่นไส้มาก่อน แต่อยู่ดี ๆ ก็อาเจียน และมีลักษณะการอาเจียนเป็นแบบอาเจียนรุนแรงเหมือนคนสำลัก หลังอาเจียนผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัด
- ผู้ป่วยอาเจียนไม่มาก แต่มีอาการอ่อนเพลียมาก และการตอบสนองทางร่างกายช้าลง
- ผู้ป่วยอาเจียนรุนแรง และมีเลือดปนออกมาหรืออาเจียนเป็นสีคล้ำเหมือนกาแฟ
หากพบว่าผู้ป่วยอาเจียนในลักษณะดังที่กล่าวมานี้ ให้รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที แต่อย่างไรก็ดี การจะตัดสินใจรอดูอาการหรือพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์เลยนั้น ก็อยู่ในวิจารณญาณของผู้ดูแลเองด้วย บางครั้งถ้าเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องมีการเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก หากมีอาการผิดปกติเพียงเล็กน้อยก็สามารถพาไปโรงพยาบาลได้เลยโดยไม่ต้องรอดูอาการ เพราะหากตัดสินใจช้าไปเพียงนิดเดียวผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้เลยทีเดียว ดังนั้นผู้ดูแลก็คงต้องอาศัยการพิจารณาวิเคราะห์ตามสภาพร่างกาย สภาพอาการของผู้ป่วย และใช้ประสบการณ์ การสังเกต ความใกล้ชิดผู้ป่วยช่วยวิเคราะห์และตัดสินใจ ซึ่งก็จะทำให้เราสามารถรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ได้นั่นเอง