วิธีกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ในห้องผู้ป่วยติดเตียง ที่ถูกต้อง นอกจากจะดีต่อสุขภาพของผู้ป่วยแล้ว ยังช่วยทำให้บรรยากาศภายในห้องน่าอยู่ ส่งเสริมความสดชื่นให้กับผู้ป่วย และผู้มาเยี่ยมเยียน แน่นอนว่าหนึ่งในปัญหาที่ผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงต้องประสบคือปัญหาเรื่องกลิ่นไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ เนื่องจากเป็นปัญหาที่สัมพันธ์กับเรื่องความสะอาดและสุขอนามัยของผู้ป่วย ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่บนที่นอนผู้ป่วยติดเตียงตลอดเวลา การดูแลเอาใจใส่เรื่องกลิ่นควบคู่กันไปด้วย จะช่วยให้การดูแลรักษาเป็นไปได้ด้วยดีมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เราขอชวนผู้ดูแลทุกคนมาเรียนรู้ 5 เทคนิคในการกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ เพื่อให้มีสภาพแวดล้อมรอบตัวที่ดีสำหรับผู้ป่วยติดเตียงตลอดเวลา
1. เห็นคราบเมื่อไร ให้ทำความสะอาดทันที
การทำความสะอาดคราบสกปรกบนที่นอนป้องกันแผลกดทับในทันทีจะช่วยลดการติดสะสมของสิ่งสกปรกได้ดีที่สุด โดยใช้ผ้าเช็ดคราบที่เพิ่งเลอะหมาด ๆ หรือใช้ทิชชูซับให้แห้งให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วใช้น้ำส้มสายชูผสมน้ำลงในกระบอกฉีด แล้วฉีดลงบนคราบให้ทั่ว จากนั้นทิ้งไว้ซักชั่วโมงแล้วชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดตามรอยที่ฉีดอีกที พร้อมทั้งใช้ไดร์เปาผมเป่าให้แห้ง ก็จะช่วยกำจัดกลิ่นได้ดีขึ้น แต่หากยังมีคราบเหลืออยู่ อาจะเลือกใช้เบกกิ้งโซดาเสริมเพื่อขจัดคราบ โดยฉีดน้ำที่รอยเปื้อนแล้วใช้แปรงสีฟันจุ่มเบกิ้งโซดาขัดคราบให้หมดแล้วซัก หรือใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดออก อาจใช้เครื่องดูดฝุ่น ดูดทำความสะอาดผงเบกกิ้งโซดาให้สะอาดร่วมด้วย อีกวิธีหนึ่งคือการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ ซึ่งควรใช้น้ำยาที่มีฤทธิ์อ่อนเพื่อป้องกันการระคายเคืองต่อผิวหนังผู้ป่วยที่บอบบาง
2. หมั่นเปิดหน้าต่างให้แสงแดดช่วยฆ่าเชื้อโรค ให้อากาศถ่ายเทช่วยระบายกลิ่น
แสงแดดคือวิธีฆ่าเชื้อบนผิวผ้าตามธรรมชาติที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง ควรหมั่นเปิดหน้าต่างให้แสงแดดส่องถึงที่นอนบ้างเพื่อลดความอับชื้น รวมทั้งเปิดหน้าต่างและผ้าม่านภายในห้องให้อากาศถ่ายเทเป็นประจำ นอกจากนั้นควรนำผ้าปูที่นอนของผู้ป่วยไปซักทำความสะอาดแล้วตากแดดจัดให้แห้ง เพื่อเป็นการรักษาความสะอาดและช่วยเรื่องการลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ไปในตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียงที่มีปัญหาเรื่องแผลกดทับ การดูแลความสะอาดให้เตียงนอนแห้งสบาย ปราศจากเชื้อโรค และแบคทีเรียยิ่งเป็นสิ่งจำเป็น ควรเลือกผ้าปูที่นอนที่สามารถป้องกันแบคทีเรียเพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดแผลติดเชื้อให้กับผู้ป่วยติดเตียง
3. ใช้น้ำยากำจัดกลิ่นโดยเฉพาะ
ปัจจุบันมีน้ำยากำจัดกลิ่นปัสสาวะ ที่ผลิตมาเพื่อกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ของผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงโดยเฉพาะ ควรเลือกน้ำยากำจัดกลิ่นที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ อ่อนโยนต่อผิวหนัง สามารถดับกลิ่นจากปัสสาวะและกลิ่นอับในอากาศได้ดี รวมถึงกลิ่นกายของผู้ป่วยสูงอายุที่มีกลิ่นเฉพาะตัว การเลือกผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลและทำความสะอาดร่างกายคนที่เรารักจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมเฉพาะบุคคลด้วย
4. เลือกใช้ที่นอนที่มีปลอกกันน้ำ แบบที่สามารถถอดทำความสะอาดได้ง่าย หรือผ้ารองกันเปื้อนที่ทำความสะอาดง่าย
อีกวิธีหนึ่งที่สามารถป้องกันการเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ตั้งแต่ต้นทาง คือการเลือกที่นอนผู้ป่วยติดเตียงที่นอกจากจะมีคุณสมบัติในการป้องกันแผลกดทับแล้ว ยังออกแบบมาเพื่อป้องกันเชื้อโรค มีผ้าหุ้มกันน้ำซึมที่สามารถถอดซักได้ ทำให้ง่ายต่อการทำความสะอาด หากเป็นที่นอนลมป้องกันแผลกดทับที่มีลักษณะเป็นลอน ผู้ดูแลต้องหมั่นสังเกตไม่ให้เศษอาหาร หรือสิ่งสกปรกหมักหมมตามซอกมุมต่าง ๆ ของลอนลม เพราะอาจกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อจากการขับถ่าย ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในแผลกดทับได้ คลิกดูที่นอนป้องกันแผลกดทับแบบที่มีปลอกกันน้ำซึม ที่ผสาน Nano-Zinc ในเนื้อยางพารา ทำให้สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบนที่นอน ผู้ดูแลบางท่าน อาจเลือกใช้ผ้ารองกันเปื้อนที่ทำจากยาง แต่อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัว และร้อนระหว่างนอนได้
5. เพิ่มความสดชื่นให้ห้องด้วยกลิ่นของน้ำมันหอมระเหย
หลังจากทำความสะอาดที่นอนแล้ว เรายังสามารถใช้น้ำมันหอมระเหยในการช่วยลดกลิ่นอันไม่พึ่งประสงค์ พร้อม ๆ กับการสร้างบรรยากาศในห้องด้วยกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของน้ำมันหอมระเหย ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นลาเวนเดอร์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย หรือจะเป็นกลิ่นโรสแมรี่ ที่จะช่วยเพิ่มความสดชื่น ทำให้จิตใจเบิกบานได้ด้วย
เพียงใช้ความเอาใจใส่ดูแลความสะอาดของห้อง และความสะอาดของที่นอน และเลือกใช้ที่นอนผู้ป่วยติดเตียงที่มีคุณภาพ การกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ก็จะไม่ใช่ปัญหาชวนหนักใจอีกต่อไป อย่าลืมเอาใจใส่และให้กำลังใจผู้ป่วยให้เขารู้ว่าการดูแลของเรานั้นเต็มใจทำให้อยู่เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยฟื้นฟูได้เป็นอย่างดี