หลายคนไม่มีความเข้าใจในวิธีการดูแลผู้ป่วยติดเตียงมาก่อนและจะต้องดูแลผู้ป่วยเพียงลำพัง ทำให้รู้สึกเป็นกังวล อันที่จริงแล้วการดูแลผู้ป่วยติดเตียงด้วยคนคนเดียวนั้นสามารถทำได้และไม่ได้ยากเกินไปอย่างที่หลายคนกำลังเป็นกังวล เพียงแต่ผู้ดูแลจะต้องมีความเข้าใจ รู้เทคนิคสักเล็กน้อย
การสวมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้กับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ต้องนอนติดเตียงก็เช่นกัน หากรู้เทคนิคเพียงเล็กน้อยและทำบ่อย ๆ ก็จะรู้สึกเลยว่าไม่ได้ยากอย่างที่คิด ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าผู้ป่วยที่ต้องนอนติดเตียงไม่สามารถเคลื่อนไหวขยับร่างกายได้ตามปกติ จึงไม่สามารถจะทำการสวมเสื้อผ้าตามรูปแบบวิธีการเหมือนผู้ป่วยที่ยังพอเคลื่อนไหวได้ ผู้ดูแลจึงจำเป็นที่จะต้องให้การช่วยเหลือในการสวมเสื้อผ้าให้กับผู้ป่วย ดังนั้นเรามาดูวิธีการกันดีกว่าว่าเทคนิคในการสวมเสื้อผ้าให้กับผู้ที่ต้องนอนติดเตียงมีอะไรกันบ้าง
เสื้อผ้าสำหรับผู้ป่วยติดเตียงเป็นสิ่งที่ต้องเลือก
ก่อนที่จะเริ่มต้นสวมเสื้อผ้าให้กับผู้ป่วยติดเตียง สิ่งแรกที่สำคัญเลยก็คือ ควรจะเลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย เพราะการที่ผู้ป่วยได้รับการเปลี่ยนหรือสวมใส่เสื้อผ้าใหม่ที่สะอาดและเหมาะสมแล้ว จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตัว เมื่อสบายตัวแล้วก็จะช่วยให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ดี จัดว่าเป็นหนึ่งในวิธีการที่ช่วยให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ตามปกติด้วยนั่นเอง ดังนั้นการเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้
สำหรับเสื้อที่เหมาะ ควรจะเป็นชนิดที่ใส่ง่าย ขนาดพอดีตัวหรืออาจจะเลือกไซส์ใหญ่สักหน่อยก็ได้ เพราะนอกจากจะช่วยในเรื่องการระบายอาการที่ดีแล้ว แขนเสื้อที่กว้างก็จะช่วยให้ง่ายทั้งเวลาถอดและเวลาสวม ถ้าเป็นเสื้อมีกระดุมก็ควรจะเลือกที่ใช้กระดุมขนาดใหญ่ มีรังดุมกว้าง เพื่อให้การสวมใส่ติดกระดุมทำได้ง่ายมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เสื้อคอกระเช้า เสื้อผ่าหน้า แบบผูกหรือแบบกระดุม เป็นต้น ส่วนกางเกงจะใช้เป็นแบบผูกก็ได้ หรือไม่ก็เลือกใช้เป็นผ้าเตี่ยวแทนก็ได้เช่นกัน แบบนี้จะง่ายต่อการเปลี่ยนและสวมใส่มากกว่านั่นเอง
เทคนิคและขั้นตอนการสวมเสื้อผ้าให้กับผู้ป่วยติดเตียง
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เสื้อที่เหมาะสำหรับการสวมใส่ให้กับผู้ป่วยก็จะมีอยู่ 2 แบบคือ เสื้อคอกระเช้ากับเสื้อผ่าหน้า หากผู้ป่วยเป็นหญิงจะเลือกแบบไหนก็ได้ ส่วนถ้าเป็นผู้ชายก็ให้เลือกแบบเสื้อผ่าหน้า เมื่อเลือกเสื้อได้แล้วก็ลองมาดูเทคนิคการสวมเสื้อทั้ง 2 แบบนี้ให้กับผู้ป่วยกันเลย
การสวมเสื้อคอกระเช้าให้กับผู้ป่วย
- หันด้านหลังเสื้อเข้าหาตัวเรา สังเกตด้านหน้า-ด้านหลังเสื้อได้ง่าย ๆ โดยดูจากกระเป๋า เสื้อคอกระเช้าส่วนใหญ่แล้วจะมีกระเป๋าเสื้ออยู่ทางด้านหน้า เมื่อเห็นด้านหลังเสื้อแล้ว จากนั้นห้อยคอเสื้อลงด้านล่าง
- ต่อมาให้เอาแขนของผู้ป่วยสอดเข้าไปที่บริเวณแขนเสื้อทีละข้าง ทำให้ครบทั้งสองข้าง จากนั้นดึงเสื้อที่สอดแขนแล้วให้ขึ้นมาอยู่ตำแหน่งบริเวณหน้าอกหรือรักแร้
- นำปลายเสื้อด้านล่างสวมศีรษะให้กับผู้ป่วย กรณีที่ผู้ป่วยมีสายอาหาร ให้ใช้มือข้างหนึ่งจับสายอาหารตรึงไว้ให้อยู่กับที่ จากนั้นค่อย ๆ ขยับเสื้อด้านหลังลงไปที่ตัวผู้ป่วยทีละน้อย ตามด้วยการจัดเสื้อด้านหน้าให้เรียบร้อย
- พลิกตัวผู้ป่วย หากผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงซีกหนึ่ง ให้เราพลิกตะแคงด้านที่อ่อนแรงขึ้นมาก่อน จากนั้นขยับเสื้อด้านหลังลงไปที่ตัวผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยอ่อนแรงทั้งสองข้างจะพลิกตะแคงข้างไหนก่อนก็ได้
- พลิกตัวผู้ป่วยให้นอนหงายก่อน จากนั้นพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยอีกครั้ง โดยคราวนี้ให้เอาข้างที่มีแรงขึ้น
- ค่อย ๆ จัดเสื้อให้เรียบตึง ที่สำคัญอีกจุดก็คือ ต้องพยายามดึงเสื้อให้เรียบตึงไว้อย่าให้มีรอยย่นรอยยับ เพราะถ้าเสื้อย่นไม่เรียบตึง ก็จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดแผลกดทับที่ตัวผู้ป่วยได้
- สุดท้ายจัดตำแหน่งของเสื้อให้เรียบร้อย โดยดูทั้งเรื่องความเรียบตึงของเสื้อ และพยายามอย่าให้บริเวณรักแร้ตึงจนเกินไป ซึ่งอาจจะรั้งตัวผู้ป่วยจนทำให้ผู้ป่วยอึดอัดหรือเกิดการเสียดสีจนเกิดแผลกดทับได้เช่นกัน เมื่อจัดระเบียบเสื้อผ้าเสร็จก็เป็นอันจบขั้นตอนการสวมเสื้อคอกระเช้าให้กับผู้ป่วย
เสื้อผ่าหน้า แบบผูกหรือแบบกระดุม
- พลิกตะแคงตัวผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงซีกหนึ่ง ให้เราพลิกตะแคงด้านที่อ่อนแรงขึ้นมาก่อน เพราะเราจะเริ่มสวมเสื้อจากข้างที่อ่อนแรงก่อน โดยยังไม่จำเป็นต้องจัดทรงเสื้อผ้า ให้ทิ้งปลายผ้าของตัวเสื้อไปอีกด้าน รอไว้ที่ด้านหลังผู้ป่วย ส่วนถ้าผู้ป่วยอ่อนแรงทั้งสองข้างจะพลิกตะแคงข้างไหนก่อนก็ได้
- สอดดันปลายผ้าที่รอไว้เข้าไปที่ใต้ตัวผู้ป่วย
- พลิกตัวผู้ป่วยให้ผู้ป่วยนอนหงาย หากผู้ป่วยมีสายให้อาหารให้นำปลายสายให้อาหารม้วนปลายวางไว้ที่อกผู้ป่วยก่อน
- พลิกตัวผู้ป่วยให้ตะแคงตัวอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นการตะแคงไปด้านตรงข้ามจากการตะแคงครั้งแรก เพื่อให้แขนด้านที่พอมีแรงขึ้นมาอยู่ด้านบน
- ดึงปลายผ้าของตัวเสื้อที่ทำการสอดดันปลายผ้าไว้ก่อนหน้านี้ขึ้นมา
- จากนั้นสวมแขนเสื้อเข้ากับแขนข้างที่พอมีแรง ค่อย ๆ ประคองแขนผู้ป่วยขึ้นมา จากนั้นค่อย ๆ สอดแขนเสื้อเข้าไปที่มือของผู้ป่วยก่อน แล้วค่อย ๆ ขยับแขนเสื้อเข้าไปที่แขนผู้ป่วยทีละนิด โดยช่วยประคองแขนผู้ป่วยไว้ตลอดเวลา
- เมื่อใส่แขนเสื้อทั้งสองข้างได้แล้ว ก็ค่อย ๆ จัดทรงเสื้อ ให้เสื้อคลุมเข้ามาถึงด้านหน้า และจัดทรงเสื้อให้เกิดความเรียบตึงทั้งด้านหน้า-ด้านหลัง ให้ตะเข็บข้างของเสื้ออยู่ตรงกับตำแหน่งข้างลำตัว
- หากผู้ป่วยมีสายอาหารให้ขยับสายอาหารที่วางอยู่บนอกผู้ป่วยขึ้นไปไว้ตำแหน่งด้านบนข้าง ๆ ศีรษะ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยทับสาย หากเป็นเสื้อผูกก็ให้ทำการผูกเสื้อให้เรียบร้อย แนะนำว่าให้ผูกแบบโบหูเดียว เพราะจะไม่เลื่อนหลุดง่าย รวมถึงเวลาจะทำการถอดเสื้อผ้าผู้ป่วย ก็ถอดง่ายด้วย ส่วนถ้าเป็นแบบกระดุมก็ติดกระดุมให้เรียบร้อย ก็เป็นอันจบทุกขั้นตอน
การสวมกางเกงให้กับผู้ป่วย
การสวมกางเกงให้กับผู้ป่วยติดเตียงนั้นก็เทคนิคและขั้นตอนก็จะคล้าย ๆ กับการสวมเสื้อ ซึ่งหัวใจสำคัญก็จะมีอยู่ 3 ขั้นตอนคือ
- เริ่มสวมกางเกงจากขาข้างที่อ่อนแรงก่อน
- จากนั้นสวมกางเกงขาข้างที่มีแรง
- ให้ผู้ป่วยพลิกตัวดึงกางเกงขึ้นทีละข้าง
โดยหลักการก็จะมีขั้นตอนตามนี้ ส่วนกรณีที่ผู้ดูแลต้องการจะสวมเป็นผ้าเตี่ยวให้กับผู้ป่วยแทนกางเกง ก็จะมีเทคนิคดังนี้
- พลิกตะแคงตัวผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงซีกหนึ่ง ให้เราพลิกตะแคงด้านที่อ่อนแรงขึ้นมาก่อน จากนั้นนำผ้าที่จะใช้นุ่งเป็นผ้าเตี่ยวมาปู ขยุ้มปลายผ้าฝั่งที่ชิดกับตัวผู้ป่วยสักเล็กน้อยให้ได้ระดับประมาณกึ่งกลางสันหลัง และวัดระดับความสูงของการวางผ้าให้สูงจากเอวของผู้ป่วยขึ้นไปสักเล็กน้อย
- พับปลายผ้าอีกด้านขึ้นมาคลุมสะโพกของผู้ป่วย
- จับปลายผ้าที่อยู่ด้านล่าง อ้อมเข้าหว่างขาของผู้ป่วย
- พลิกตัวผู้ป่วยให้ตะแคงไปอีกข้าง โดยไม่ต้องตะแคงสุดก็ได้ แล้วดึงปลายผ้าอีกฝั่งออกจากตัวผู้ป่วย
- พลิกตัวผู้ป่วยให้นอนหงาย จากนั้นนำปลายผ้าที่อยู่หว่างขาผู้ป่วยยกขึ้นคลุมปิดด้านหน้า แล้วจัดผ้าให้เข้าทรงกางเกง
- จากนั้นเอาปลายผ้าที่อยู่ด้านหน้า มัดเข้ากับปลายผ้าที่อยู่ด้านข้าง มัดประมาณ 2 ครั้งและทำแบบนี้ทั้งสองด้านซ้าย-ขวา
- พลิกตัวผู้ป่วยอีกครั้งทำการจัดเสื้อ และดูความเรียบร้อยของผ้าด้านหลัง จัดผ้าให้เรียบตึงไว้ พลิกตัวผู้ป่วยกลับมานอนหงายก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
ทั้งหมดนี้เป็นเทคนิคการสวมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้กับผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งจะเห็นว่าถ้ารู้วิธีแล้วก็สามารถทำได้อย่างไม่ยาก ยิ่งถ้าผู้ดูแลมีการเปลี่ยนเสื้อผ้าดูแลรักษาความสะอาดร่างกายให้กับผู้ป่วยอยู่เสมอ ร่วมด้วยกับการเลือกใช้ที่นอนผู้ป่วยติดเตียงที่เหมาะสมและมีคุณภาพด้วยแล้ว ก็จะยิ่งช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตัว หลับง่ายและลดปัญหาเรื่องแผลกดทับไปได้มากอีกด้วย รู้แบบนี้แล้วลองนำไปปรับใช้กันได้เลย