วิธีตรวจร่างกายเบื้องต้น เพื่อการดูแลผู้ป่วยติดเตียงด้วยตนเอง

วิธีตรวจร่างกายเบื้องต้น

ถึงแม้คุณหมอจะเป็นผู้มีบทบาทหลักในการรักษาผู้ป่วยติดเตียง แต่คนที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือคนใกล้ชิดที่จะต้องเป็นผู้ดูแลผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยที่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่นอนรักษาตัวที่บ้าน จึงจำเป็นต้องมีการตรวจร่างกาย เพราะการตรวจร่างกายจะทำให้ทราบถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยแล้วแก้ไขได้อย่างทันท่วงที เราจึงขอแนะนำวิธีการตรวจร่างกายของผู้ป่วยเบื้องต้นที่ผู้ดูแลทุกคนสามารถทำได้

1. ตรวจสภาพผิวหนัง

ผิวหนังเป็นอวัยวะที่มีพื้นที่มากที่สุดในร่างกาย เมื่อผู้ป่วยต้องนอนอยู่บนที่นอนผู้ป่วยติดเตียงตลอดเวลา จึงเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับได้เนื่องจากผิวหนังถูกกดทับเป็นเวลานาน จึงควรตรวจสภาพผิวหนังผู้ป่วยทุกวันโดยสังเกตว่ามีอาการแผลกดทับระยะแรกอยู่หรือไม่ โดยผิวหนังจะเริ่มมีรอยแดงเฉพาะที่ เมื่อกดแล้วก็ยังคงอยู่ไม่หายไป โดยเฉพาะบริเวณปุ่มกระดูกต่าง ๆ นอกจากนี้ควรตรวจดูเรื่องความชุ่มชื้นของผิวหนังเพื่อไม่ให้ผิวแห้งจนระคายเคืองหรืออับชื้นเป็นเวลานาน เพราะเมื่อผิวหนังแห้งหรืออับชื้นจนเกินไปจะทำให้ผิวหนังบอบบาง และทำให้เกิดแผลกดทับตามมาได้ง่าย คลิกเพื่อดูตารางการตรวจสภาพผิวหนังผู้ป่วยตั้งแต่ศรีษะจรดปลายเท้า

2. ตรวจสุขภาพช่องปาก

โดยปกติแล้วทุกคนควรพบทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือน รวมถึงผู้ป่วยติดเตียงด้วยเช่นกัน แต่ถ้าหากตรวจพบความผิดปกติใด ๆ ก็สามารถพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ได้เลย เมื่อผู้ดูแลทำความสะอาดช่องปากผู้ป่วยหลังรับประทานอาหารแล้ว ให้สังเกตว่ามีอาการฟันผุ เหงือกบวมแดง หรือมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่ผิดปกติหรือไม่ เนื่องจากหากมีเชื้อโรคในช่องปากแล้วผู้ป่วยสำลักอาจทำให้เชื้อโรคลงไปสู่ปอดได้

3. สังเกตการขับถ่าย

เมื่อผู้ดูแลต้องทำความสะอาดหลังการขับถ่ายให้ผู้ป่วยแล้ว สิ่งหนึ่งที่ควรสังเกตคือลักษณะของสิ่งที่ผู้ป่วยขับถ่ายออกมา เพราะอาจมีสี กลิ่น และปริมาณที่ผิดปกติได้ โดยภาวะที่มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยติดเตียงคืออาการท้องผูก เนื่องจากการนอนเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายมากนัก ทำให้ลำไส้ไม่ได้เคลื่อนไหวเท่าที่ควร ในบางกรณีผู้ดูแลสามารถช่วยผู้ป่วยได้ด้วยการเพิ่มอาหารที่มีใยอาหาร หรือช่วยนวด ช่วยผู้ป่วยทำกายบริหารเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างวันเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และการขับถ่าย และเมื่อพบความผิดปกติจากลักษณะของสิ่งที่ผู้ป่วยขับถ่าย ให้แจ้งแพทย์ผู้ดูแลทันที

4. ภาวะสุขภาพจิต

เมื่อไม่สามารถขยับร่างกายได้ดั่งใจ ย่อมทำให้ผู้ป่วยเกิดความเบื่อหน่ายและทุกข์ใจได้ง่าย อีกทั้งผู้ป่วยบางรายยังมีภาวะของโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เกิดขึ้นอีก ให้ผู้ดูแลสังเกตสภาวะอารมณ์ของผู้ป่วยเบื้องต้นโดยสังเกตสีหน้าท่าทาง ในกรณีที่ผู้ป่วยยังสื่อสารได้ให้พิจารณาเนื้อหาของสิ่งที่ผู้ป่วยถ่ายทอด รวมถึงความอยากอาหาร เพราะเมื่อผู้ป่วยเบื่ออาหาร หากไม่ใช่เพราะมีปัญหาในช่องปากหรือภาวะกลืนลำบาก อาจเกี่ยวข้องกับภาวะทางจิตใจก็เป็นได้

นอกจากการดูแลผู้ป่วยแล้ว ผู้ดูแลไม่ควรละเลยสุขภาพจิตของตนเองเช่นกัน ควรหาวิธีดูแลสภาพอารมณ์ของตนเองไม่ให้เครียดจนเกินไป เพราะเมื่อผู้ดูแลมีกำลังใจที่ดีก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจและได้รับพลังบวกมากยิ่งขึ้น มีกำลังใจในการทานอาหารและให้ความร่วมมือทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูร่างกายต่อไป