เวลาที่เราจะหัตถการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยติดเตียง อย่างการเปลี่ยนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้กับผู้ป่วยที่ติดเตียง เราก็จะต้องมีการสวมถุงมือ ขณะที่เราดึงถุงมือจะสวมเข้ามือ อยู่ ๆ ถุงมือก็ขาด หรือบางทีผู้ป่วยขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะเลอะที่นอน เวลาเราทำความสะอาดอาจจะต้องมีการเปลี่ยนถุงมือหลายรอบ จนกลายเป็นการสิ้นเปลือง แล้วจะใช้ถุงมืออย่างไรให้ถูกวิธีและไม่สิ้นเปลืองมาดูกันเลย
ประเภทถุงมือที่ใช้สำหรับการดูแลผู้ป่วย
การสวมถุงมือระหว่างการหัตถการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยติดเตียง ก็เพื่อป้องกันและลดการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง สิ่งสกปรก หรือบาดแผลของผู้ป่วยโดยตรง และเป็นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคจากมือผู้ดูแลไปสู่ผู้ป่วยติดเตียง และอย่างที่เราทราบกันดีว่าถุงมือในปัจจุบันมีให้เลือกใช้หลายขนาดและหลายประเภท สำหรับเรื่องของขนาดก็ให้เลือกถุงมือที่มีขนาดเหมาะกับมือของเรา เพื่อความสะดวกในการสวมใส่และสะดวกในการทำหัตถการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยติดเตียง ส่วนประเภทของถุงมือที่จะใช้สำหรับการดูแลผู้ป่วยนั้น จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทดังนี้
1. ถุงมือสำหรับการตรวจโรค
ถุงมือชนิดนี้เป็นถุงมือที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ เหมาะสำหรับการใช้งานทำหัตถการทั่วไปอย่างการเปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูป การล้างก้น การเช็ดตัว คือใช้กับงานที่เราต้องสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือสิ่งสกปรกต่าง ๆ ของผู้ป่วยติดเตียง วัสดุจะทำมาจากน้ำยางธรรมชาติ ผิวจะไม่เรียบ และในเนื้อถุงมือจะมีการโรยแป้งเอาไว้เพื่อให้การสวมถุงมือทำได้ง่ายขึ้น
2. ถุงมือ Sterile
ถุงมือแบบนี้เป็นถุงมือที่ผ่านการฆ่าเชื้อ เป็นถุงมือแบบปราศจากเชื้อ เหมาะกับการใส่สายสวนปัสสาวะ การทำความสะอาดแผลกดทับ การทำแผลอื่น ๆ ที่ตัวผู้ป่วยติดเตียง ที่ต้องให้สะอาดปราศจากเชื้อจริง ๆ แม้ว่าเราจะคอยระวังอย่างดีไม่ให้ผู้ป่วยเกิดแผลต่าง ๆ แล้ว แต่เป็นไปได้ว่าผิวหนังของผู้ป่วยติดเตียงอาจจะมีความบอบบางจึงเกิดแผลต่าง ๆ ได้ง่าย อย่างเป็นแผลกดทับได้ง่ายขึ้น ซึ่งปัญหาแผลในลักษณะนี้ไม่ควรปล่อยไว้ เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้ป่วยเจ็บและทรมาน ยังอาจลุกลามไปสู่การติดเชื้อได้
ทางที่ดีให้ลองแก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนที่นอนมาใช้เป็นที่นอนป้องกันแผลกดทับก็จะช่วยลดปัญหาได้อีกทางหนึ่ง ส่วนเวลาจะทำความสะอาดแผล เราก็จะสวมถุงมือชนิดนี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อ สำหรับวัสดุที่ใช้ทำถุงมือประเภทนี้ก็จะทำมาจากน้ำยางธรรมชาติ และมีการโรยแป้งไว้เหมือนกันเพื่อให้สวมใส่ง่าย แต่เมื่อจะใช้งานก็ให้ใช้ฟองน้ำหรือผ้าเปียกที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วมาเช็ดแป้งออกไปก็จะทำให้ถุงมือสะอาดปราศจากเชื้อแน่นอนมากขึ้น
การสวมและถอดถุงมือแต่ละประเภทให้ถูกวิธีทำอย่างไร
หลังจากที่เรารู้ถึงประเภทของถุงมือที่เหมาะสมกับการใช้เพื่อการดูแลผู้ป่วยที่ติดเตียงกันไปแล้วว่ามีอะไรบ้าง ต่อมาก็มาดูวิธีการสวมและถอดถุงมือแต่ละประเภทอย่างถูกวิธีกัน
การสวมถุงมือตรวจโรค
- ประเมินการทำหัตถการใด ๆ ก่อนสวมถุงมือ ดูก่อนว่าหัตถการนั้น ๆ ที่เราจะทำให้ผู้ป่วยติดเตียง ต้องใช้กี่มือในการทำ อย่างแค่เช็ดคราบอาหาร คราบรอยเปื้อนเล็กน้อย สามารถทำได้โดยใช้มือข้างเดียว ก็ให้เตรียมหยิบถุงมือข้างที่เราจะใช้เช็ดจับสัมผัสไว้เพียง 1 ข้างก็พอ หากไม่แน่ใจว่าจะเพียงพอหรือไม่ก็อาจจะหยิบถุงมือเตรียมไว้อีกชิ้นก็ได้ หากต้องใช้สองมือ ก็ให้หยิบถุงมือออกมา 2-4 ชิ้นเลย สำรองไว้อีกหนึ่งชุดเผื่อจะต้องเปลี่ยน การทำแบบนี้นอกจากจะทำให้การสวมและการเปลี่ยนถุงมือทำได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการป้องกันไม่ให้ถุงมือเสียหายก่อนการใช้งานอีกด้วย
- ถุงมือที่หยิบออกมาเตรียมไว้ ให้พับริมปลายถุงมือตรงส่วนข้อมือขึ้นมา โดยพับปลายให้เลยส่วนขอบข้อมือขึ้นมา หากใช้สองข้างก็ให้พับทั้งสองข้าง
- สวมถุงมือโดยใช้ข้างที่เราไม่ได้ใส่ สอดเข้าไปที่ริมพับปลายที่เราพับไว้ เช่น ถ้าเราจะใส่ถุงมือที่ข้างขวาก็ให้ใช้นิ้วมือข้างซ้ายสอดเข้าไปที่รอยพับปลายที่พับไว้ จากนั้นก็สอดมือขวาเข้าไปที่ถุงมือ โดยเวลาสวมให้ถุงมืออยู่ในลักษณะแนวคว่ำลง
- ค่อย ๆ ขยับมือเข้าไปในถุงมือ โดยใช้มือข้างซ้ายสอดเข้าไปที่รอยพับปลายช่วยดึงรั้งถุงมือไว้ เพื่อให้การสวมถุงมือง่ายขึ้น ขยับถุงมือให้พอดีกับมือแล้วก็รูดปลายถุงมือที่พับไว้ลงมาโดยเลยรอยพับไว้เล็กน้อย หากต้องสวมถุงมืออีกข้างก็ทำแบบเดียวกัน ขยับถุงมือให้กระชับกับมือและนิ้วมือก็เป็นอันเรียบร้อย
การถอดถุงมือตรวจโรค
- ใช้มือจับไปที่ริมขอบรอยพับปลายที่ข้อมือที่เราเหลือรอยพับไว้ตอนเราใส่ อย่างจะถอดถุงมือข้างขวาก่อนก็ให้ใช้นิ้วมือซ้ายจับปลายรอยพับด้านหน้าของถุงมือข้างขวา เราจะไม่ถอดถุงมือจากส่วนปลายนิ้วเพราะหลังจากเราทำหัตถการใด ๆ ให้กับผู้ป่วยถุงมือในส่วนของปลายนิ้วก็มักจะเปื้อนคราบและสิ่งสกปรก
- ใช้มือซ้ายดึงถุงมือออกมาจากมือขวา ถุงมือก็จะกลับเอาด้านในที่ไม่เปื้อนออกมา ส่วนด้านที่เปื้อนก็จะกลับไปอยู่ด้านใน หากสวมถุงมือสองข้างก็ทำเหมือนกัน
- เมื่อถอดถุงมือเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ให้ม้วนพับหรือห่อถุงมือให้เล็กก่อนนำไปทิ้งเพื่อลดการเปื้อนก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย ซึ่งการถอดถุงมือแบบนี้ ก็จะทำให้มือเราไม่เลอะ ถุงมือจะไม่ขาดตอนถอด และไม่ทำให้มือเราต้องสัมผัสกับสิ่งสกปรกต่าง ๆ
การสวมถุงมือ Sterile
- ก่อนสวมถุงมือให้ทำการตรวจสอบสภาพของซองถุงมือ ตรวจดูวันหมดอายุข้างซอง ตรวจสอบความสมบูรณ์ของซองบรรจุ ถุงมือปราศจากเชื้อต้องไม่มีร่องรอยการเปิดซองหรือรอยฉีกขาด หากหมดอายุหรือพบความไม่สมบูรณ์ของซอง ให้เลี่ยงการใช้และให้หาถุงมือ Sterile อันใหม่มาใช้แทน
- หยิบซองถุงมือชั้นในออกจากซองบรรจุถุงมือชั้นนอก แล้ววางบนที่แห้งสะอาด
- หลังจากเปิดซองจะพบว่าถุงมือ Sterile จะอยู่ในลักษณะที่มีการพับปลายข้อมือไว้อยู่แล้ว ให้ใช้มือซ้ายหยิบถุงมือ Sterile ด้านขวาตรงบริเวณริมพับปลายด้านใน
- สอดมือขวาลงในถุงมือโดยต้องคอยระวังไม่ให้ผิวหนังหรือสิ่งอื่นใดสัมผัสด้านนอกของถุงมือ เพราะจะทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค
- ใช้มือขวาหยิบถุงมือด้านซ้าย โดยสอดนิ้วเข้าไปในระหว่างริมปลายถุงมือที่พับลงมา
- สอดมือซ้ายเข้าไปในถุงมือปราศจากเชื้อ โดยต้องระวังไม่ให้เกิดการสัมผัสด้านนอกของถุงมือ
- จัดถุงมือให้กระชับเข้าที่ก็เป็นอันเรียบร้อย
การถอดถุงมือ Sterile
ให้ทำแบบเดียวกันกับการถอดถุงมือตรวจโรคทุกประการ แต่การทิ้งถุงมือปราศจากเชื้อที่ใช้งานแล้วต้องระวังและให้ความใส่ใจมากขึ้น แนะนำว่าให้หาถุงขยะปลอดเชื้อมาใช้ และทิ้งถุงมือปราศจากเชื้อที่ใช้งานแล้วลงในถุงขยะปลอดเชื้อ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่าง ๆ
นี่คือ แนวทางการสวมถุงมือดูแลผู้ป่วยติดเตียงประเภทต่าง ๆ อย่างถูกวิธี หากทำตามนี้คุณก็จะพบว่าจะสามารถสวมถุงมือได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และสามารถลดการฉีกขาดของถุงมือได้ ซึ่งนั่นก็จะช่วยให้เราประหยัดการซื้อถุงมือได้มากขึ้นนั่นเอง