เมื่อผู้ป่วยติดเตียงมีภาวะมือบวม ผู้ดูแลควรแก้ไขอย่างไร

ภาวะมือบวม

เชื่อว่าผู้ที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียง หลายคนอาจเจอปัญหาผู้ป่วยมี “ภาวะมือบวม” ในผู้ป่วยบางรายอาจเป็น ๆ หาย ๆ ส่วนบางรายก็มีอาการบวมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอสมควร ภาวะนี้เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยหรือไม่ หรือเป็นสัญญาณเตือนปัญหาภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยที่นอนติดเตียงอื่นใดหรือเปล่า หากปัญหานี้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยติดเตียงที่เราดูแลควรแก้ไขอย่างไร มาไขทุกปัญหาในเรื่องนี้กันเลย

ภาวะมือบวมในผู้ป่วยติดเตียงเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร

ภาวะบวมตามร่างกายนั้น เป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณของเหลวสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อมากเกินไป ถ้าของเหลวนั้นสะสมมากที่มือ ก็จะมีอาการบวมที่มือ ถ้าของเหลวมีการสะสมมากที่เนื้อเยื่อบริเวณเท้า ก็จะเกิดอาการบวมที่เท้า อาการบวมที่มือของผู้ป่วยที่ติดเตียงนั้น อันที่จริงแล้วเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สำหรับสาเหตุหลักที่มักจะทำให้ผู้ป่วยติดเตียงมีภาวะมือบวมก็คือ กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีผู้ป่วยที่ต้องนอนติดเตียงจำนวนไม่น้อยที่เป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตครึ่งซีก ทำให้ไม่สามารถขยับร่างกายซีกหนึ่งได้

ซึ่งการที่ร่างกายซีกที่อ่อนแรงไม่ได้ขยับใช้งานนาน ๆ นอกจากจะทำให้กล้ามเนื้อฝ่อลีบได้แล้ว ยังสามารถทำให้เกิดอาการที่ตรงข้ามกันอย่างภาวะบวมได้ด้วย เพราะเมื่อร่างกายไม่ได้ขยับระบบไหลเวียนของเลือดบริเวณแขนและมือลดลง กล้ามเนื้อที่มือจึงมีความตึงตัวมากกว่าปกติ ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะมือบวมขึ้นมานั่นเอง แต่นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการมีบวมได้ด้วยเช่นกัน ตั้งแต่

  • ท่าทางการนอนของผู้ป่วย หากผู้ป่วยไม่ได้รับการจัดท่าทางการนอนให้ถูกต้อง มีการนอนทับมือ หรือการทิ้งน้ำหนักลงที่มือหรือแขนมากเกินไปก็ทำให้มือบวมได้
  • มีอาการมือบวมจากอาหารหรือยาบางชนิดที่ผู้ป่วยรับประทาน
  • สภาพอากาศที่ร้อนเกินไปก็มีผล หากร่างกายผู้ป่วยขับเหงื่อออกมาไม่ได้เต็มที่ในขณะที่ต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงในห้อง ก็จะทำให้มีของเหลวคั่งค้างอยู่ตามผิวหนังบริเวณมือ ก็ทำให้มือบวมได้เช่นกัน

การแก้ไขเมื่อผู้ป่วยติดเตียงมีภาวะมือบวม

หากผู้ดูแลสำรวจผู้ป่วยติดเตียงแล้วพบว่า มือทั้งสองข้างของผู้ป่วยไม่เท่ากัน มีข้างหนึ่งดูมีอาการมือบวมมากกว่าอีกข้างหนึ่งก็ไม่ควรเบาใจหรือปล่อยผ่าน เพราะการที่มือผู้ป่วยมีอาการบวมนาน ๆ ก็จะทำให้เกิดการอักเสบ เกิดอาการข้อติด จากที่เคลื่อนไหวไม่ได้อยู่แล้วพอขยับมือขยับแขนเพียงเล็กน้อยผู้ป่วยจะเจ็บทรมานทันที ดังนั้นผู้ดูแลจึงควรรีบทำการแก้ไข ซึ่งวิธีแก้ไขก็สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

การช่วยผู้ป่วยออกกำลังกายข้อต่อ

การออกกำลังกายให้กับผู้ป่วย หรือการช่วยผู้ป่วยออกกำลังกายข้อต่อนั้น สามารถทำได้แทบทุกส่วนที่เป็นข้อต่อตามร่างกาย แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภาวะมือบวมเท่านั้น ซึ่งนั่นก็คือ การบริหารข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก และข้อไหล่

  1. การบริหารข้อนิ้วมือ ให้ผู้ดูแลประคองมือผู้ป่วยด้วยมือข้างหนึ่ง และมืออีกข้างใช้ส่วนปลายนิ้วมือจับไปที่นิ้วมือของผู้ป่วย อาจจะเริ่มจากนิ้วชี้ของผู้ป่วยก่อนก็ได้ แล้วค่อย ๆ งอนิ้วผู้ป่วยให้ปลายนิ้วไปแตะบริเวณกลางฝ่ามือของผู้ป่วยเอง ให้ทำแบบนี้ไปทีละนิ้ว หากระหว่างที่งอนิ้วผู้ป่วยเข้ามา ถ้ารู้สึกว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บเพราะรู้สึกตึงก็ให้คอยปลอบและบอกผู้ป่วยเป็นระยะ ๆ ว่าเรากำลังทำอะไร ผู้ป่วยจะได้ให้ความร่วมมือ หากว่าผู้ป่วยเจ็บมากตึงมากก็ลองเปลี่ยนมาใช้มือสองข้างของเราจับนิ้วหัวแม่มือของผู้ป่วยแตะปลายนิ้วอื่น ๆ ของผู้ป่วยเองจนครบ 5 นิ้ว หลังจากนั้นให้ทำการกางและหุบนิ้วมือของผู้ป่วยเข้าออกสลับกัน
  2. การบริหารข้อมือ ให้ผู้ดูแลใช้มือข้างหนึ่งจับที่บริเวณข้อมือผู้ป่วย และใช้มืออีกข้างหนึ่งจับที่ฝ่ามือของผู้ป่วยแล้วทำการกระดกมือผู้ป่วยขึ้น-ลง ทำแบบนี้สัก 10 ครั้ง แล้วต่อด้วยจับมือผู้ป่วยบิดขยับซ้าย-ขวาอย่างเบา ๆ ทำ 10 ครั้งเช่นกัน
  3. การบริหารข้อศอก จัดท่าทางให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย และวางตำแหน่งของแขนผู้ป่วยให้อยู่แนบลำตัว ลักษณะหงายฝ่ามือขึ้น จากนั้นให้ผู้ดูแลช่วยประคองมือผู้ป่วยและพยายามช่วยผู้ป่วยงอข้อศอกจนฝ่ามือของผู้ป่วยไปแตะที่หัวไหล่ จากนั้นช่วยผู้ป่วยเหยียดข้อศอกออกช้า ๆ ให้ทำแบบนี้สลับไปมา 10 ครั้ง
  4. การบริหารข้อไหล่ จัดท่าทางให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย และวางตำแหน่งของแขนผู้ป่วยให้อยู่แนบลำตัว ลักษณะคว่ำฝ่ามือลง ให้ผู้ดูแลประคองข้อศอกและข้อมือของผู้ป่วย และยกขึ้นตรง ๆ ไปตามแนวระนาบข้างลำตัว ยกให้เลยศีรษะขึ้นไปแล้วนำลง ทำเป็นจังหวะช้า ๆ แบบนี้สลับกัน 10 ครั้ง
    การออกกำลังกายให้ผู้ป่วยแบบนี้ อาจจะทำเรียงตามที่แนะนำจากข้อต่อเล็กไปหาข้อต่อใหญ่ก็ได้ หรือจะทำกลับกันจากข้อต่อใหญ่ลงมาหาข้อต่อเล็กก็ได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน

การจัดท่าทางการนอนให้กับผู้ป่วย

  1. ท่านอนหงาย ให้หาหมอนหนุนที่ใต้ไหล่ผู้ป่วยในข้างที่อ่อนแรง ปรับตำแหน่งกระดูกสะบักของผู้ป่วยให้ยกมาข้างหน้าเล็กน้อย วางแขนผู้ป่วยลงในท่าเหยียดข้อศอกและหงายมือ ซึ่งจะช่วยลดการกดทับมือเวลานอนได้
  2. ท่านอนตะแคง ปรับตำแหน่งกระดูกสะบักของผู้ป่วยในข้างที่อ่อนแรงให้ยื่นมาด้านหน้าเล็กน้อย เพื่อให้ผู้ป่วยนอนทับในส่วนกระดูกสะบัก แทนการทับหัวไหล่และแขน จากนั้นปรับตำแหน่งหัวไหล่ของผู้ป่วยให้ยื่นไปข้างหน้าให้ได้มากที่สุด โดยใช้วิธีดึงต้นแขนเบา ๆ ในส่วนของตำแหน่งขาข้างที่อ่อนแรงให้เหยียดตรง ส่วนอีกข้างให้หาหมอนรองรับขาและปรับให้อยู่ในลักษณะงอเข่า

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่จะช่วยเสริมการนอนที่มีคุณภาพให้กับผู้ป่วยที่นอนติดเตียงและเป็นหนึ่งองค์ประกอบที่จะช่วยลดการนอนกดทับจนมือบวมได้ด้วยก็คือ ที่นอนสำหรับผู้ป่วยติดเตียง หากเลือกใช้ที่นอนเฉพาะที่มีคุณภาพเหมาะสมกับผู้ป่วยก็จะช่วยลดปัญหาทั้งเรื่องแผลกดทับและเรื่องของภาวะมือบวมไปด้วยพร้อมกัน ๆ จึงเป็นอีกสิ่งที่ต้องพิจารณาด้วย

การนวดเพื่อบำบัดอาการบวม

  1. จัดตำแหน่งของแขนและมือผู้ป่วยให้สูงขึ้นโดยใช้หมอนรองแขน และวางมือผู้ป่วยให้คว่ำลง
  2. ให้เริ่มจากการช่วยผู้ป่วยบริหารข้อนิ้วมือ ตามวิธีการที่กล่าวไปข้างต้น
  3. จากนั้นค่อยทำการนวดลดบวมให้กับผู้ป่วย โดยใช้ปลายนิ้วของผู้ดูแลค่อย ๆ นวดจากส่วนปลายนิ้วไปยังมือผู้ป่วย โดยนวดทั้งด้านหน้ามือและหลังมือ การนวดให้ทำแต่ละส่วนประมาณ 10-15 ครั้ง ซึ่งการทำแบบนี้ก็จะช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ลดอาการบวมที่มือได้ และถือว่าเป็นการนวดเพื่อผ่อนคลายให้กับผู้ป่วยไปในเวลาเดียวกันด้วยนั่นเอง

ถ้าหากว่าผู้ป่วยติดเตียงที่คุณให้การดูแลมีภาวะมือบวม ลองนำคำแนะนำและแนวทางเหล่านี้ไปปรับใช้กันเพื่อช่วยลดอาการบวมให้กับผู้ป่วย และช่วยให้ผู้ป่วยติดเตียงรู้สึกสบายตัวมากยิ่งขึ้น