สำหรับผู้ป่วยติดเตียงแล้วต้องยอมรับว่าเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีความอ่อนไหวในหลาย ๆ ด้าน ทั้งเรื่องโรคที่เป็น ทั้งสภาพร่างกายภายนอกและภายใน รวมไปถึงสภาวะจิตใจด้วย จึงเป็นงานที่หนักไม่น้อยสำหรับผู้ดูแล และหนึ่งภาวะที่ผู้ดูแลหลายคนเป็นกังวลเวลาดูแลผู้ป่วยในกลุ่มนี้ก็คือ ภาวะช็อกในผู้ป่วย บางคนอาจมีอาการชักตัวเกร็ง บางคนมีการชักเพียงเล็กน้อยแล้วช็อกแล้ววูบหมดสติไป ทำให้ผู้ดูแลตกใจ เป็นกังวลใจ และทำตัวไม่ถูกว่าควรจะแก้ไขรับมืออย่างไรดี ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจในเรื่องนี้และเรียนรู้สิ่งที่ควรทำเมื่อผู้ป่วยมีอาการชักหรือช็อกกันดีกว่า
อาการชักหรือช็อกในผู้ป่วยติดเตียงเกิดขึ้นจากอะไร
โดยทั่วไปแล้วอาการชัก เกิดขึ้นจากการความผิดปกติในการทำงานของสมอง ซึ่งบางทีก็เกิดขึ้นชั่วคราวเป็นอยู่ชั่วขณะ หากเกิดขึ้นแล้วก็มีแนวโน้มเกิดขึ้นซ้ำได้ การที่เซลล์สมองปล่อยกระแสประสาทออกมามากกว่าปกติ แล้วกระแสประสาทเหล่านี้ไปกระตุ้นเซลล์ที่อยู่รอบด้านจนเกิดการทำงานผิดปกตินั้น จะทำให้ผู้ป่วยเกิดการชักเกร็งหรือวูบหมดสติไปได้
สำหรับอาการชักหรือช็อกในผู้ป่วยติดเตียงนั้น ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันคือ เกิดจากสมองมีการทำงานผิดปกติอันเนื่องมาจากการเข้าสู่วัยชรา ทำให้เกิดความเสื่อมของร่างกายโดยเฉพาะการเสื่อมลงของระบบประสาทและสมอง ซึ่งก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการชักหรือช็อกได้ แต่นอกจากนั้นแล้วก็อาจจะเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีกมากมาย จึงขอสรุปรวบรวมไว้ดังนี้
สาเหตุการชักหรือช็อกในผู้ป่วยติดเตียง
- เกิดจากการเสื่อมลงของระบบประสาทและสมอง รวมถึงการเป็นโรคทางสมองอย่างสมองฝ่อ และสมองเสื่อม
- เกิดการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคลมชัก โรคพาร์กินสัน หรือผู้ป่วยเคยได้รับการผ่าตัดทางสมองและระบบประสาท
- เกิดจากโรคเกี่ยวกับการนอน หรือผู้ป่วยมีภาวะการนอนที่ผิดปกติ อย่างนอนหลับไม่สนิท หยุดหายใจชั่วขณะตอนนอนหลับ ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ เหล่านี้ก็ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำผู้ป่วยมีอาการชักหรือช็อกได้
ลักษณะอาการชักเกร็งในผู้ป่วย
อาการชักหรือช็อกในผู้ป่วยถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย หากจะรับมือกับภาวะนี้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจลักษณะอาการชักกันก่อน เพื่อที่จะได้กำหนดแนวทาง หาทางป้องกันและรับมือกันได้อย่างเหมาะสม ซึ่งปกติแล้วอาการชักที่พบได้บ่อยจะมีอยู่ 2 ลักษณะคือ
- อาการชักแบบรู้ตัว อาการชักแบบนี้จะเป็นอาการเกร็งชักกระตุกเฉพาะที่ ผู้ดูแลสามารถสังเกตอาการความผิดปกติได้ ขณะเกิดอาการผู้ป่วยจะยังมีสติรู้ตัว
- อาการชักแบบไม่รู้ตัว อาการชักแบบนี้ผู้ดูแลมักไม่สามารถคาดเดาหรือสังเกตอาการได้ จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันผู้ป่วยอาจเกิดอาการเกร็งกล้ามเนื้อสั้น ๆ ก่อนหมดสติไป หรือช็อกหมดสติไปแล้วก็มีอาการชักเกร็ง อาจจะมีอุจจาระหรือปัสสาวะเล็ดราดขณะชักเกร็ง
การรับมือกับผู้ป่วยติดเตียงที่มีอาการชักหรือช็อก
เมื่อทราบแล้วว่าผู้ป่วยเคยมีอาการชักหรือช็อก และเป็นลักษณะไหน การจะรับมือกับภาวะนี้ก็ควรจะเริ่มต้นจากการหาทางป้องกัน สร้างปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงให้ผู้ป่วยประสบกับภาวะนี้ และเตรียมพร้อมตนเองเพื่อรับมือหากผู้ป่วยเกิดภาวะนี้ขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
- สร้างบริบทปัจจัยแวดล้อมที่ช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย อาจจะปรับเรื่องแสงของห้อง ปรับอุณหภูมิของห้องให้ไม้ร้อนเกินหรือไม่เย็นเกินไป เพิ่มบรรยากาศที่สดใสผ่อนคลายให้กับผู้ป่วย หรือการจะมีการจัดตารางเวลาทำการนวดเพื่อผ่อนคลายหรือยืดกล้ามเนื้อให้กับผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยได้เคลื่อนไหวมากขึ้น อันจะช่วยให้ระบบการไหลเวียนโลหิตทำงานดีขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ช่วยได้เช่นกัน
- การจัดท่าทางที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย ท่าทางทั้งการนั่งและนอนที่ไม่ถูกต้องก็มีผลต่อเรื่องอาการชักเกร็งของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน ดังนั้นถ้าจะป้องกันก็ควรมีการจัดท่านั่งและท่านอนที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย หลัก ๆ แล้วก็คือ พยายามปรับท่าให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวขยับได้โดยไม่ต้องเกร็งกล้ามเนื้อ หรือขยับได้โดยใช้กำลังกล้ามเนื้อน้อยที่สุด ก็จะช่วยป้องกันได้
- พลิกตัวผู้ป่วยทุก ๆ 2 ชั่วโมง สำหรับการพลิกตัวผู้ป่วยตารางเวลาก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการพลิกตัวผู้ป่วยอย่างถูกวิธีและทำอย่างเหมาะสมก็จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายสบายตัว ไม่รู้สึกเมื่อย ลดปัญหาการเกิดแผลกดทับ และทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ดียิ่งขึ้น เป็นการป้องกันผู้ป่วยจากอาการชักจากโรคที่เกี่ยวกับการนอนได้ และถ้าให้การพลิกตัวทำได้ง่ายขึ้นก็ควรจัดหาที่นอนผู้ป่วยติดเตียงมาใช้โดยเฉพาะ ซึ่งก็จะช่วยให้การพลิกตัวผู้ป่วยเป็นเรื่องที่ง่าย สะดวกขึ้นกับผู้ดูแลแถมยังช่วยให้ผู้ป่วยนอนสบายมากขึ้นด้วย
สิ่งที่ควรทำเมื่อพบผู้ป่วยมีอาการชักหรือช็อก
- พลิกตัวผู้ป่วยให้นอนตะแคง การนอนตะแคงจะช่วยไม่ให้น้ำลายเข้าไปอุดกั้นทางเดินหายใจ
- คลายเสื้อผ้าผู้ป่วยให้หลวม
- นำหมอนหรือสิ่งของนุ่ม ๆ วางรองศีรษะผู้ป่วยไว้ เพื่อไม่ให้ศีรษะผู้ป่วยกระแทกกับเตียงหรือของแข็ง
- เคลียร์สถานที่ ทำให้ห้องมีอากาศถ่ายเทให้ได้มากที่สุด
- ไม่จับยึดตัวผู้ป่วยขณะมีอาการชักเกร็ง และห้ามใช้สิ่งใดงัดปากหรือกดลิ้นผู้ป่วยขณะชัก
- หากผู้ป่วยมีอาการชักต่อเนื่องประมาณ 3 นาทีขึ้นไป หรือหมดสติไปนาน ให้รีบเรียกรถพยาบาลเพื่อนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
ทั้งหมดนี้ คือแนวทางและข้อควรทำเมื่อพบว่าผู้ป่วยติดเตียงที่ดูแลมีอาการชักหรือช็อก สิ่งสำคัญก็คือพยายามตั้งสติให้มั่น อย่าตื่นตระหนกจนเกินไป ถ้าตั้งสติได้เราจะค่อย ๆ จัดการไปตามขั้นตอนได้อย่างถูกต้อง ซึ่งก็จะทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยไม่เป็นอันตรายนั่นเอง