ป้อนอาหารผู้ป่วยติดเตียงอย่างไร เมื่อต้องใช้สายให้อาหาร

สายให้อาหาร

ป้อนอาหารผู้ป่วยติดเตียงอย่างไร เมื่อต้องใช้สายให้อาหาร เป็นคำถามที่พบได้บ่อยสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย รวมถึงผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว หรือไม่สามารถกลืนอาหารเองได้ และเพราะอาหารสำคัญสำหรับร่างกายของทุกคน เนื่องจากสารอาหารจำเป็นสำหรับการเจริญเติบ หากเป็นผู้ป่วยติดเตียงก็สำคัญสำหรับการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและช่วยฟื้นฟูร่างกาย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีแผลกดทับในระยะที่ยังรักษาได้ ไม่ว่าผู้ป่วยจะอยู่บนที่นอนป้องกันแผลกดทับแบบใด สารอาหารที่ดีก็จะช่วยรักษาแผลกดทับได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ดูแลในการศึกษาว่าอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยติดเตียงควรเป็นอย่างไร และในกรณีที่ผู้ป่วยต้องได้รับอาหารผ่านสายให้อาหาร ผู้ดูแลก็จำเป็นต้องเรียนรู้การใช้สายให้อาหารอย่างถูกต้องด้วย เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดจากการให้อาหารด้วยสายให้อาหารที่ผิด ดังนั้นเราจึงขอนำข้อมูลที่ถูกต้องมาแบ่งปันเพื่อให้คุณดูแลคนที่คุณรักได้อย่างถูกวิธี

ทำไมต้องให้อาหารทางสายให้อาหาร

ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับอาหารผ่านสายให้อาหาร คือผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย รวมถึงการทานอาหารด้วย เนื่องจากไม่รู้สึกตัวหรือไม่สามารถกลืนอาหารเองได้ หรือผู้ป่วยบางรายอาจจะรับประทานได้บ้าง แต่ ทานได้น้อยกว่า 60% ของพลังงานที่ควรได้รับต่อวัน นานติดต่อกันเกิน 3-7 วัน ผู้ดูแลจึงต้องช่วยทำกิจกรรมต่าง ๆ บนที่นอนผู้ป่วยติดเตียงตลอดเวลา การให้อาหารผู้ป่วยทางสายให้อาหารมี 2 แบบ คือ การให้ทางจมูก และการให้ทางหน้าท้อง ขึ้นอยู่โรคและวิธีการรักษาของผู้ป่วยติดเตียงแต่ละคน

อุปกรณ์ที่จำเป็น

สายที่ใช้ให้อาหาร คือ สายยางสำหรับให้อาหารโดยเฉพาะ อาหารสำหรับผู้ป่วยจะเป็นอาหารเหลวหรืออาหารสำเร็จรูป อุปกรณ์ที่ใช้จะมีกระบอกสำหรับต่อกับสายยาง สำลี แอลกอฮอล์ และสบู่หรือแอลกอฮอล์ล้างมือ อาหารสำหรับผู้ป่วยควรเป็นอาหารที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้รักษา เพราะผู้ป่วยแต่ละรายมีสภาวะที่ต้องการสารอาหารแตกต่างกันไป เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่มีโรคไต เป็นต้น

วิธีการให้อาหารด้วยสายยาง

  1. ก่อนให้อาหารควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ล้างมือ และแจ้งให้ผู้ป่วยติดเตียงทราบก่อนทุกครั้ง
  2. จัดท่านอนให้ศีรษะของผู้ป่วยอยู่สูงอย่างน้อย 30-45 องศา
  3. ทำความสะอาดปลายต่อสายที่จะใส่อาหารด้วยสำลีชุบน้ำต้มสุก หรือแอลกอฮอล์ 70%
  4. ตรวจเช็คปริมาณอาหารที่เหลือค้างในกระเพาะอาหาร โดยใช้ Syringe feed สวมปลายสายและดูดดูปริมาณและสีของอาหารที่เหลือค้าง
    • หากดูดแล้วเหลืออาหารมากกว่า 50 ml ให้เลื่อนอาหารมื้อนั้นออกไปอีก 1 ชั่วโมง แล้วค่อยประเมินซ้ำ
    • หากดูดแล้วไม่มีอาหารเหลือ ต้องตรวจเช็คให้แน่ใจว่าปลายสายให้อาหารอยู่ในกระเพาะอาหาร โดยฟังเสียงลมที่ผ่านเข้าสู่กระเพาะอาหาร
  5. นำอาหารเหลวไปห้อยให้อยู่สูงกว่ากระเพาะอาหารประมาณ 12 นิ้ว แล้วค่อย ๆ ปล่อยให้อาหารไหลตามสายอย่างช้า ๆ ไม่เร็วเกินไป คือไม่เกิน 30 cc ต่อ 1 นาที
  6. เมื่ออาหารหมดถุง ให้ตามด้วยน้ำ 50 มิลลิลิตร เพื่อป้องกันการอุดตันของสาย
  7. หลังให้อาหารให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าเดิมอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักอาหาร
  8. ทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมสำหรับการให้อาหารครั้งถัดไป

ข้อควรระวังในการให้อาหารผู้ป่วยติดเตียง คือ ต้องระมัดระวังไม่ให้อากาศเข้าสายยางเพราะจะทำให้ผู้ป่วยท้องอืด และหากผู้ป่วยมีอาการไอ สำลัก อาเจียน หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ ระหว่างให้อาหาร ควรหยุดให้อาหารทันทีและรอให้อาการดีขึ้นก่อน แล้วค่อยให้อาหารต่อ หรือหากยังมีความผิดปกติอยู่ อาจรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ให้ที่สุด

วิธีการป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการใช้สายให้อาหาร

นอกจากการให้อาหารทางสายให้อาหารอย่างถูกวิธีแล้ว ผู้ดูแลต้องไม่ละเลยที่จะดูแลความสะอาดส่วนที่ใช้ให้อาหารด้วย ไม่ว่าจะเป็นจมูก จุกยาง หรือสายยาง โดยผู้ดูแลต้องเช็ดจมูกผู้ป่วยติดเตียงด้วยน้ำเกลือทุกวัน และทำความสะอาดปากและฟันของผู้ป่วยติดเตียงวันละ 2 ครั้ง หมั่นตรวจสอบบริเวณรูจมูกว่าเกิดแผล หรือรอยกดทับหรือไม่ เช็ดจุกยางให้สะอาดทุกครั้งหลังจากให้อาหารและปิดจุกยางให้แน่นหลังจากให้อาหารเสร็จแล้ว ผู้ดูแลต้องไม่ลืมที่จะบันทึกขีดบ่งบอกความยาวของสายยางไว้ แล้วตรวจเช็คว่าเคลื่อนจากตำแหน่งเดิมหรือไม่ ถ้าสายเคลื่อนตำแหน่งหรือสายหลุดควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาล