จัดท่าป้อนข้าวอย่างไร ไม่ให้ผู้ป่วยติดเตียงตัวไหล เพราะผู้ป่วยติดเตียงมีสมรรถภาพในการช่วยเหลือตนเองแตกต่างกัน บางคนสามารถช่วยเหลือตัวเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้บ้าง เช่น รับประทานอาหารในท่านั่ง แต่สำหรับผู้ป่วยติดเตียงบางคนที่ไม่สามารถประคองตัวลุกขึ้นได้ จำเป็นต้องรับประทานในท่านอนยกหัวสูง การรับประทานอาหารในลักษณะนี้ผู้ดูแลจะพบว่าร่างของผู้ป่วยมักจะไหลลงไปยังปลายที่นอน ทำให้เป็นอุปสรรคในการป้อนอาหารให้กับผู้ป่วย ดังนั้น ผู้ดูแลจึงควรศึกษาการจัดท่าทางในการรับประทานอาหารของผู้ป่วยเพื่อไม่ให้ตัวไหลดังวิธีการต่อไปนี้
1.จัดระดับของศีรษะ
ยกศีรษะของผู้ป่วยติดเตียงขึ้นสูงจากที่นอนในระดับ 45 องศา แล้วใช้หมอนหนุนรองหลังคอไว้เพื่อให้ศีรษะของผู้ป่วยติดเตียงโน้มมาด้านหน้าเล็กน้อย เพราะการโน้มมาข้างหน้าเล็กน้อยจะทำให้ผู้ป่วยกลืนอาหารได้ง่ายกว่าท่าหงายหน้า ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะกลืนลำบากและทำให้เกิดการสำลักอีกด้วย หากที่นอนผู้ป่วยติดเตียงสามารถไขปรับระดับได้ อาจปรับเพิ่มระดับความสูงของศีรษะจากแนวราบเป็น 60 องศาแทน กรณีที่ผู้ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีกให้เอียงศีรษะของผู้ป่วยไปทางด้านที่อ่อนแรง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลืนอาหารได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
2.ใช้ผ้าขวางเป็นตัวช่วยรองร่างของผู้ป่วยติดเตียง
เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการดูแลผู้ป่วย โดยใช้ผ้าผืนใหญ่ปูในแนวขวางกับที่นอนผู้ป่วยติดเตียง ให้ส่วนกลางร่างกายของผู้ป่วยอยู่บนผ้าเพื่อเพิ่มแรงเสียดทานระหว่างร่างกายของผู้ป่วยกับที่นอน ซึ่งจะช่วยไม่ให้ร่างของผู้ป่วยไหลลงปลายเตียงได้ง่าย และเมื่อร่างของผู้ป่วยเริ่มไหลให้ใช้วิธีดึงผ้าขวางผืนนั้นขึ้น จะทำให้เคลื่อนตัวของผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น และผิวหนังไม่ต้องเสียดสีกับที่นอนโดยตรง สามารถป้องกันอาการบาดเจ็บบนผิวหนังของผู้ป่วยติดเตียงได้อีกด้วย อีกทั้งวิธีนี้ยังเหมาะกับผู้ดูแลที่ต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียงเพียงคนเดียว ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ผู้ดูแลไม่ต้องออกแรงมาจนเกินไป
3.ปรับระดับเตียงนอน และที่นอนผู้ป่วยติดเตียง
หากเตียงนอน และที่นอนสำหรับผู้ป่วยติดเตียงเป็นแบบที่ปรับระดับทั้งหัวเตียงและปลายเตียงได้ จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยตัวไหลได้เป็นอย่างดี โดยปรับหัวเตียงให้ยกสูงขึ้น 45 องศา จากนั้นกดปุ่มปรับระดับให้ปลายเตียงยกขึ้นสูง จนกระทั่งบริเวณกลางเตียงสามารถรองรับร่างกายของผู้ป่วยในท่ายกขาสูงได้ตามความเหมาะสม ผู้ป่วยก็จะอยู่ในท่าทางที่มั่นคงมากขึ้น ไม่ไหลไปอยู่ปลายเตียงระหว่างรับประทานอาหาร
นอกจากการจัดท่านั่งให้ผู้ป่วยติดเตียงในการกินอาหารอย่างถูกวิธีแล้ว อย่าลืมจัดที่นั่งให้ผู้ดูแลในการที่จะคอยให้กำลังใจ และป้อนอาหารผู้ป่วยด้วยนะคะ โดยผู้ดูแลควรนั่งข้าง ๆ ตัวผู้ป่วย ให้อยู่ในระดับเดียวกันและมองเห็นจานข้าวของผู้ป่วยได้อย่างชัดเจน หากเป็นผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ผู้ดูแลควรนั่งข้าง ๆ ผู้ป่วยในด้านที่ร่างกายเป็นปกติ หลีกเลี่ยงการยืนป้อนอาหารให้ผู้ป่วย เพราะช้อนจะอยู่สูงกว่าปากของผู้ป่วย และทำให้โน้มตัวไปข้างหน้าไม่ถนัด ส่งผลให้การกลืนอาหารทำได้ลำบาก หลีกเลี่ยงการนั่งตรงข้ามกับผู้ป่วย เพราะถึงแม้ว่าการนั่งตรงข้ามจะทำให้เห็นผู้ป่วยได้ดี แต่การนั่งประจันหน้ากันอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอึดอัด กดดัน และทำให้กินอาหารได้ไม่ดี
การจัดท่าทางในการรับประทานอาหารของผู้ป่วยติดเตียงที่ถูกต้องจะช่วยให้ผู้ป่วยทานอาหารได้อย่างปลอดภัย ไม่เสี่ยงกับอาการสำลักจากภาวะกลืนลำบาก นอกจากนี้ยังเป็นการรักษาความสะอาดบนที่นอนของผู้ป่วยติดเตียง ไม่ให้มีเศษอาหารหกเลอะเทอะบนที่นอน ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อของแผลกดทับไปในตัวด้วย