1. เตรียมตัวก่อนออกกำลังกาย
ก่อนเริ่มออกกำลังกาย เราต้องดูว่าวันนี้ผู้ป่วยมีสุขภาพอย่างไร แข็งแรงดีหรือไม่ อัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจปกติหรือไม่ มีอาการเหนือย ความดันโลหิตปกติดีไหม เพื่อมั่นใจว่าผู้ป่วยมีความพร้อมในการออกกำลังกายไปพร้อมกับเรา และเพื่อประเมินว่าวันนี้เราจะออกกำลังกายหนักเบา มากน้อยเพียงใดครับ
เมื่อตรวจเช็คสุขภาพพร้อมแล้ว เราก็ต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบก่อนทุกครั้งว่า เราจะออกกำลังกายด้วยกัน พยายามไปด้วยกัน ให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าเป็นกิจกรรมช่วยลดความเครียดมากกว่าการต้องฝืนออกแรง โดยใช้นำเสียงที่นุ่มนวล ชัดเจน เพื่อให้ผู้ป่วยทราบ เกิดความร่วมมือ และลดความกังวลใจ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกเกร็งต้านระหว่างออกกำลังกาย และต้องจัดร่างกายของผู้ป่วยก่อนออกกำลังกายให้อยู่ในท่าที่เหมาะสมสำหรับการออกกำลังกาย ซึ่งก็คือให้อยู่ในท่านอนหงายบนที่นอนผู้ป่วยติดเตียงที่รองรับน้ำหนักได้ดี
2. ออกกำลังกายส่วนลำตัว
มาเริ่มด้วยการออกกำลังกายส่วนลำตัวของผู้ป่วยกันก่อน ด้วยการจับขาผู้ป่วยทั้ง 2 ข้างให้เข่าตั้งขึ้น ประคองจับให้มั่นคง แล้วบิดขาไปซ้าย-ขวา สลับไปมาด้วยความนุ่มนวล ไม่ต้องรีบ เพื่อให้ลำตัวผู้ป่วยผ่านคลาย บิดไปมาประมาณ 10 ครั้ง เมื่อเสร็จแล้วค่อยเริ่มออกกำลังกายส่วนบนของร่างกายและแขนกันต่อ
3. มือ-แขน-ไหล่ กับท่าออกกำลังกายส่วนบน
โดยการออกกำลังกายส่วนบนและแขนจะช่วยให้ข้อต่อต่าง ๆ ในส่วนของแขนขยับได้ดีขึ้น ลดการยึดติด และยังช่วยให้ส่วนของหน้าอกขยับได้ดีขึ้นด้วย สำหรับวันนี้เราจะพูดถึง 5 ท่าออกกำลังกายส่วนบนและแขนดังนี้
3.1 ท่ายกแขนขึ้นลง
ในท่านี้ ผู้ดูแลเข้าหาผู้ป่วยด้านที่ที่ต้องการออกกำลังกาย หันหน้าเข้าหาผู้ป่วยเพื่อสังเกตสีหน้าผู้ป่วยด้วย ควรใช้ มือข้างหนึ่งจับประคองบริเวณข้อศอกผู้ป่วย และมืออีกข้างหนึ่งจับที่ฝ่ามือผู้ป่วยในท่ากางมือ กางนิ้วหัวแม่มือออก พร้อมกระดกข้อมือผู้ป่วยเล็กน้อยในท่าหงายมือ กางแขนผู้ป่วยออกเล็กน้อย แล้วจึงยกแขนผู้ป่วยขึ้นเหนือศีรษะ จนผู้ป่วยรู้สึกตึง เท่าที่ผู้ป่วยจะยินยอม ไม่ฝืนจนเกินไป ไม่จำเป็นต้องยกให้สุดจนเหนือศรีษะ เอาแค่ตึงๆ ก็พอ แล้วทิ้งค้างไว้ประมาณ 10 วินาที จากนั้นนำแขนลง ทำซ้ำข้างละ 10 ครั้ง สามารถทำทีละข้างให้เสร็จ หรือหากผู้ป่วยมีแรงพอ สามารถให้ผู้ป่วยช่วออกกำลังกายอีกข้างสลับกันซ้ายขวาได้
3.2 ท่ากางแขนผู้ป่วยออก
เช่นเดียวกับท่ายกแขนขึ้นลง คือผู้ดูแลควรใช้มือข้างหนึ่งจับที่ฝ่ามือของผู้ป่วย และมืออีกข้างหนึ่งประคองช่วงข้อศอกของผู้ป่วยไว้ตลอดเวลาที่ทำท่านี้เช่นกัน โดยค่อย ๆ กางแขนผู้ป่วยออกด้านข้างให้สุด หรือตามที่ผู้ป่วยรู้สึกตึง แล้วทิ้งค้างไว้ 10 วินาที จากนั้นนำแขนลง กางขึ้นลงประมาณ 10 ครั้ง สามารถออกกำลังกายทีละข้างให้เสร็จ หรือหากผู้ป่วยมีแรงสามารถช่วยออกำลังกายสลับซ้าย-ขวาได้
สำหรับท่านี้ ระหว่างกางแขนผู้ป่วย ให้หมุนหัวไหล่ออกในท่าหงายมือร่วมด้วยจะได้ผลดียิ่งขึ้น
3.3 ท่าพับศอก
จับฝ่ามือพร้อม ๆ กับประคองข้อศอกของผู้ป่วยไว้ แล้วพับแขนผู้ป่วยขึ้น ลง ช้า ๆ โดยงอและเหยียดให้สุดเท่าที่จะทำได้ ทำข้างละประมาณ 10 ครั้ง หากผู้ป่วยช่วยได้ ให้ทำอีกข้างหนึ่งสลับกันไปมา
3.4 ท่าบริหารข้อมือ
นำหมอนมารองบริเวณข้อศอก พร้อมกับตั้งศอกของผู้ป่วยขึ้น จากนั้นทำการกระดกข้อมือของผู้ป่วยขึ้นลงช้า ๆ โดยใช้มือช่วยจับบริเวณข้อมือของผู้ป่วยขณะช่วยผู้ป่วยกระดกข้อมือขึ้นลง ควรทำซ้ำข้างละ 10 ครั้ง ทำทั้ง 2 ข้าง โดยหากผู้ป่วยมีแรงสามารถช่วยออกกำลังกายอีกข้างหนึ่งพร้อมกันได้
3.5 ท่าบริหารข้อนิ้ว
กางแขนผู้ป่วยติดเตียงออกด้านข้าง แล้วเอามือมาประคองประกบหลังมือของผู้ป่วยไว้ พร้อม ๆ กับใช้นิ้วมือของเราช่วยงอและเหยียดนิ้วมือของผู้ป่วยให้อยู่ในท่ากำ แล้วกางออก กำ แล้วกางออก ช้า ๆ ให้รู้สึกว่าข้อนิ้วต่าง ๆ ของผู้ป่วยได้เคลื่อนไหว ไม่ติด ทำประมาณ 10 ครั้ง ออกกำลังกายทั้งมือซ้ายและขวา หากผู้ป่วยมีแรง อาจะหาผ้าผืนเล็ก ๆ มาม้วน แล้วให้ผู้ป่วยกำผ้า ปล่อยผ้าเองก็ได้
4. สะโพก-เข่า-เท้า กับท่าออกกำลังกายส่วนล่าง
สำหรับท่าออกกำลังกายส่วนล่างเป็นท่าที่ช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับได้ดี ใช้บริหารข้อต่อระหว่าง 3 ส่วน คือสะโพก เข่า และเท้า มีทั้งหมด 3 ท่าด้วยกัน โดยแต่ละท่าผู้ดูแลต้องประคองส่วนข้อพับเข่าและข้อเท้าระหว่างการออกกำลังกายทุกท่า ดังนี้
4.1 ท่าพับเข่า
สำหรับท่านี้ให้ผู้ดูแลเริ่มจากประคองที่ส้นเท้าของผู้ป่วย และจัดให้ปลายเท้าของผู้ป่วยตั้งฉากกับหน้าแข้ง (ไม่ให้ปลายเท้าตก หรือชี้ออก) จากนั้นใช้อีกมือหนึ่งจับบริเวณหัวเข่า เพื่อทำการช่วยผู้ป่วยออกแรงพับหัวเข่าให้ชิดกับหน้าอก อย่างไรก็ตามระหว่างที่พับหัวเข่าให้ชิดกับหน้าอกนั้น ไม่ควรออกแรงผลักหรือดันมากจนเกินไป พับให้พอประมาณกับที่ผู้ป่วยรู้สึกตึงก็พอ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บระหว่างออกกำลังกาย เมื่องอเข่าเสร็จก็ยืดเข่ากลับตรง และทำซ้ำ 10 ครั้ง ก่อนสลับไปทำอีกข้าง ระวังอย่าให้เข่ามีการกระแทกในขณะเหยียดตรง
4.2 ท่ากางขาออก
จับที่ส้นเท้า พร้อม ๆ กับประคองบริเวณด้านหลังหัวเข่า แล้วค่อย ๆ กางขาออกด้านข้างเป็นเส้นตรง โดยช่วยผู้ป่วยกางขาออกเท่าที่ผู้ป่วยพอไหว เสร็จแล้วหุบขากลับมาเหยียดตรงเหมือนเดิม ทำซ้ำ 10 ครั้ง ก่อนสลับไปทำอีกข้าง
4.3 ท่าบริหารข้อเท้า
ให้ผู้ดูแลจับที่ส้นเท้า อีกมือหนึ่งจับประคองหัวเข่าของผู้ป่วยแล้วโดยจับให้เข่าผู้ป่วยงอเล็กน้อย จากนั้นผู้ดูแลออกแรงดันงอเท้าของผู้ป่วยขึ้น ระหว่างดันงอ ต้องระวังไม่ให้เข่าตึงแอ่น ให้ดัดงอค้างไว้ประมาณ 10 วินที แล้วปล่อยคลายออก ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง แล้วจึงสลับทำอีกข้างหนึ่ง หาผู้ป่วยมีแรง บอกให้ผู้ป่วยช่วยกระดกงอเท้าช่วยด้วย
ข้อควรระวังสำหรับการออกกำลังกายให้ผู้ป่วยติดเตียง
คือให้ทำอย่างช้า ๆ เป็นจังหวะ ควรทำอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน รวมไปถึงการเลือกที่นอนผู้ป่วยติดเตียง ที่ใช้ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ก่อนออกกำลังกายแต่ละครั้ง ผู้ดูแลควรตรวจวัดความดัน และความพร้อมของผู้ป่วยติดเตียงก่อนเสมอ และหมั่นพูดคุยสอบถามผู้ป่วยระหว่างออกกำลังด้วยว่ามีอาการผิดปกติตรงไหนหรือไม่ และการช่วยผู้ป่วยยืดเหยียดแต่ละครั้ง ควรทำแค่พอให้ผู้ป่วยรู้สึกตึง ไม่ควรออกแรงผลักหรือดันมากเกินไป เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บได้