ผู้ป่วยติดเตียงรวมไปถึงผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองไม่ได้ มักจะมีปัญหาหนึ่งที่คล้าย ๆ กัน คือไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายของตนเองได้ เนื่องจากผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุในกลุ่มนี้การรู้สึกตัวจะลดน้อยถอยลง จนกระทั่งไม่สามารถสื่อสารบอกความต้องการในการขับถ่ายได้ จึงมักจะขับถ่ายบนที่นอน แม้จะมีการสวมใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปแต่บางทีก็อาจจะเลอะออกมาข้างนอก จนเลอะเปรอะที่นอนได้ จนเป็นการเพิ่มงานให้ผู้ดูแลต้องหาวิธีการในการทำความสะอาดที่นอนของผู้ป่วยให้กลับมาสะอาดอีกครั้ง
นอกเหนือจากเรื่องความสะอาดแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ผู้ดูแลจะต้องทราบก็คือ อุจจาระและปัสสาวะมีฤทธิ์กัดกร่อนผิวหนังสูง หากผิวหนังผู้ป่วยต้องสัมผัสกับสิ่งปฏิกูลเหล่านี้เป็นระยะเวลานาน ๆ ก็จะทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบ ยิ่งถ้าผู้ป่วยเริ่มมีแผลกดทับร่วมด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่แผลและอาจกลายเป็นปัญหาผิวหนัง สร้างปัญหาสุขภาพ เกิดความเจ็บป่วยเพิ่มเติมที่รุนแรงให้กับผู้ป่วยได้ ดังนั้นมาเรียนรู้วิธีการจัดการปัญหาต่าง ๆ กรณีที่ผู้ป่วยขับถ่ายเลอะที่นอนกันดีกว่า
การจัดการเรื่องการขับถ่ายให้กับผู้ป่วยติดเตียง
สิ่งที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดปัญหาผู้ป่วยขับถ่ายเลอะที่นอนก็คือ การหาวิธีการจัดการระบบขับถ่ายของผู้ป่วย ซึ่งก็คือวิธีการป้องกันผู้ป่วยขับถ่ายเลอะที่นอน โดยมีวิธีการดังนี้
วิธีการป้องกันผู้ป่วยขับถ่ายเลอะที่นอน
1. สังเกตปัญหาและสาเหตุการขับถ่ายของผู้ป่วย
ให้เริ่มต้นจากการสังเกตปัญหาและสาเหตุการขับถ่ายของผู้ป่วยก่อน ผู้ป่วยติดเตียงบางคนมีปัญหาถ่ายอุจจาระกะปริดกะปรอยเพราะมีปัญหาที่หูรูดทวารหนัก ทำให้มักจะมีการขับถ่ายตลอดเวลา ขณะเช็ดทำความสะอาดพลิกตะแคงตัวก็มีการขับถ่ายอุจจาระออกมาอีก หรือบางรายมีภาวะท้องผูกอุจจาระอัดแน่น ก็ทำให้มีขับถ่ายอุจจาระเหลวกะปริดกะปรอยออกมาทีละน้อยตลอดเวลาได้เช่นกัน
2. วางแผนการจัดการที่เหมาะสม
หลังจากพอทราบสาเหตุแล้ว ก็ให้วางแผนการจัดการในเรื่องต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องของอาหาร ให้ดูว่าควรปรับเป็นอาหารเหลว อาหารย่อยง่ายหรือไม่ เพื่อให้อาหารไม่เข้าไปอุดตันสะสมในลำไส้ เวลาผู้ป่วยขับถ่ายก็จะถ่ายออกมาทีเดียว รวมไปถึงวางแผนการขับถ่ายหรือผ่อนหนักให้เป็นเบาให้กับผู้ป่วย โดยการสวนอุจจาระหรือล้วงอุจจาระออกให้หมดในครั้งเดียว เป็นการลดภาระในการทำความสะอาด ไม่ต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย เป็นการช่วยลดกิจกรรมที่รบกวนผู้ป่วย และลดค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ดูแลทำความสะอาดผู้ป่วยด้วยอีกทางหนึ่ง
แนวทางการรับมือเมื่อผู้ป่วยขับถ่ายเลอะที่นอน
หากเราพบว่าผู้ป่วยติดเตียงที่เราดูแลมีการขับถ่ายจนเลอะผ้าอ้อมสำเร็จรูป และเกือบจะเลอะมาถึงที่นอนแล้ว ให้จัดการเตรียมอุปกรณ์และแก้ไขปัญหาตามลำดับขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
1 อุปกรณ์ที่ต้องใช้
- แผ่นซับด้านใน
- ผ้าอ้อมสำเร็จรูป
- แผ่นทำความสะอาด (ทิชชูเปียก) หากทำคนเดียวให้ดึงออกมาเตรียมไว้ก่อน
- ถุงมือ สวมข้างที่เราไม่ถนัดไว้ 1 ชั้น และสวมข้างที่ถนัดที่จะต้องใช้เช็ดหรือสัมผัสกับอุจจาระหรือปัสสาวะไว้ 2 ชั้น
- ปิโตรเลียมเจล เปิดฝากระปุกเตรียมไว้เลยเพื่อความสะดวก
- ถุงขยะ เปิดปากถุงเตรียมไว้เลย
2. ขั้นตอนการแก้ปัญหาเมื่อผู้ป่วยขับถ่ายเลอะที่นอน
- ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย แกะผ้าอ้อมสำเร็จรูป จากนั้นใช้มือข้างที่ถนัดพับแผ่นรองซับด้านในปิดอุจจาระหรือปัสสาวะนั้นไว้ เพื่อให้สะดวกต่อการเช็ดทำความสะอาด และช่วยไม่ให้หลังมือของเราสัมผัสกับสิ่งปฏิกูล
- ให้ทำความสะอาดผิวหนังของผู้ป่วยอย่างอ่อนโยนทันที เพื่อให้ผิวหนังลดระยะเวลาในการสัมผัสกับสิ่งปฏิกูลให้น้อยที่สุด เป็นการดูแลถนอมผิวหนัง โดยใช้แผ่นทำความสะอาดที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ โลชั่น และน้ำหอมเช็ดทำความสะอาดผิวหนังของผู้ป่วย โดยให้เช็ดจากข้างหน้าไปข้างหลัง แผ่นที่เช็ดเสร็จแล้วก็ทิ้งลงถุงขยะที่เตรียมไว้ จากนั้นก็นำแผ่นใหม่มาเช็ดทำความสะอาดต่อไปจนกว่าจะสะอาด กรณีที่ผู้ป่วยบางรายมีสายสวน ก็ให้ใช้มือข้างจับยกสายสวนขึ้นเล็กน้อย โดยไม่ดึงสาย แล้วเช็ดทำความสะอาดสะอาดส่วนสายสวนที่เปื้อนให้สะอาด
- หลังจากเช็ดด้านหน้าสะอาดแล้วก็พลิกตัวผู้ป่วยให้นอนตะแคง จากนั้นให้เช็ดทำความสะอาดโดยให้เช็ดจากล่างขึ้นบน หรือเป็นแนวจากก้นขึ้นไปสู่แนวสันหลัง เมื่อเช็ดเสร็จแล้วค่อยนำแผ่นรองซับด้านในที่เปื้อนทิ้งไปในถุงขยะที่เตรียมไว้
- ให้ถอดถุงมือข้างที่เราใช้เช็ดในชั้นแรกออกไป ก็จะทำให้เรายังมีถุงมือที่สะอาดสามารถทำความสะอาดต่อได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเปลี่ยนถุงมือใหม่ จากนั้นก็นำแผ่นรองซับด้านในแผ่นใหม่มาปูรอไว้ จากนั้นให้นำมือข้างที่ถนัดจุ่มควักปิโตรเลียมเจลมาทาผู้ป่วยให้ทั่วบริเวณก้นและสะโพกเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นปัสสาวะอุจจาระจะได้ไม่กัดผิวหนัง ถือเป็นหนึ่งวิธีดูแลถนอมผิวหนังให้กับผู้ป่วย
- พลิกตัวผู้ป่วยกลับมาท่านอนหงาย ถ้าปิโตรเลียมเจลที่มือยังพอมีเหลือก็ให้ทาด้านหน้าด้วยก็ได้ จากนั้นค่อยทำการใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
หากเลือกความสะอาดด้วยน้ำและการใช้สบู่ ให้หลีกเลี่ยงการใช้น้ำอุ่นล้างทำความสะอาด เพราะจะทำให้ผิวหนังแห้งมากขึ้น ให้ใช้น้ำธรรมดา และหากจำเป็นต้องใช้สบู่ให้เลือกใช้สบู่สำหรับเด็กจะได้ไม่ระคายเคืองผิวผู้ป่วย ภายหลังล้างทำความสะอาดด้วยน้ำให้ใช้ผ้าสะอาดกดซับให้แห้ง ไม่ควรเช็ดถูบริเวณผิวหนังแรง ๆ ให้ใช้วิธีการซับแทน จากนั้นควรคืนความชุ่มชื้นให้แก่ผิวผู้ป่วยด้วยการทาโลชั่น โดยเลือกชนิดที่ไม่มีน้ำหอม หรือสารที่จะก่อให้เกิดการระคายเคือง และตามด้วยการทาปิโตรเลียมเจลหรือครีมป้องกันผื่นผ้าอ้อม จากนั้นค่อยทำการใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปก็เรียบร้อย
การจัดการเรื่องความสะอาดที่นอนเมื่อเลอะคราบ
ปัจจุบันมีที่นอนผู้ป่วยติดเตียงโดยเฉพาะมาให้เลือกใช้ ซึ่งจะเป็นที่นอนลมป้องกันแผลกดทับ หรือที่นอนยางพาราป้องกันแผลกดทับ ที่นอนแบบนี้จะออกแบบมาอย่างดี ไม่เพียงจะช่วยให้ผู้ป่วยนอนสบายมากขึ้นและลดปัญหาแผลกดทับได้เท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้ดูแลมีความสะดวกมากขึ้นในการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยอีกด้วย นอกจากนั้นแล้วยังมาพร้อมผ้าหุ้มชั้นนอกที่ป้องกันน้ำและคราบซึมลงที่นอนแถมทำความสะอาดได้ง่าย แต่อย่างไรก็ดี หากจะให้มั่นใจในกรณีที่ผู้ป่วยอาจอุจจาระปัสสาวะเลอะออกมาที่เตียง ก็ให้หาผ้ายางมาปูทับรองกันเปื้อนไว้อีกชั้นหนึ่ง หากเวลาผู้ป่วยขับถ่ายเลอะขึ้นมาก็จะไม่มีการซึมเลอะลงไปบนตัวที่นอน
สำหรับขั้นตอนการจัดการเรื่องความสะอาดที่นอนเมื่อเลอะอุจจาระปัสสาวะ ก็ให้ทำดังนี้
- เตรียมผ้าปูและเครื่องใช้ชุดใหม่ที่จะนำมาใช้เปลี่ยน
- ยกราวกั้นกันตกของเตียงขึ้นมาด้านหนึ่งเพื่อกันผู้ป่วยตกเตียง จากนั้นพลิกตัวผู้ป่วยให้นอนตะแคงไปด้านที่ยกราวกั้นเอาไว้
- ทำการรื้อผ้าปูที่นอน ให้เริ่มทำจากฝั่งที่ไม่มีผู้ป่วยนอนทับ โดยรื้อจากฝั่งหัวเตียงไปหาปลายเตียง เมื่อรื้อผ้าปูชั้นต่าง ๆ แล้วก็ให้ตลบผ้าไปกองไว้ฝั่งที่ผู้ป่วยนอนอยู่
- จากนั้นนำผ้าปูผืนใหม่ที่เตรียมไว้ มาปูฝั่งที่เพิ่งรื้อผ้าปูเก่าออก โดยให้คลี่ผ้าปูผืนใหม่ไปครึ่งหนึ่งของสัดส่วนที่นอน หากจะปูรองด้วยผ้ายางก็ทำได้เลย
- ทำการเหน็บชายผ้าปูผืนใหม่ให้เรียบร้อย ผ้าส่วนที่เหลือให้คลี่ออกไปทางฝั่งผู้ป่วย
- ยกราวกั้นกันตกของเตียงอีกด้านหนึ่งขึ้นมา แล้วลดราวกั้นกันตกฝั่งแรกลง จากนั้นให้พลิกตัวผู้ป่วยนอนตะแคงไปอีกฝั่ง
- รื้อผ้าปูเก่าที่เปื้อนคราบออกให้หมด แล้วดึงผ้าปูผืนใหม่ รวมถึงผ้ายางปูรองคลี่ออกปูให้คลุมเต็มที่นอน แล้วก็เหน็บชายผ้าปูให้เรียบร้อยเหมือนฝั่งแรก
- พลิกตัวผู้ป่วยให้นอนหงายปกติ แล้วนำผ้าปูที่เปื้อนคราบไปซักล้างทำความสะอาด เท่านี้ก็เป็นอันเรียบร้อย
สำหรับการจะเลือกดูแลความสะอาดให้ตัวผู้ป่วยก่อน หรือดูแลความสะอาดให้กับที่นอนก่อน ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยมีการขับถ่ายเลอะออกมาจนถึงที่นอนหรือไม่ หรือเลอะมากน้อยแค่ไหน บางครั้งที่นอนไม่ได้เลอะก็ไม่ต้องทำความสะอาดหรือเปลี่ยนผ้าปูใหม่ก็ได้ เพียงจัดการดูแลทำความสะอาดให้ผู้ป่วยก็พอ แต่หากที่นอนเลอะค่อนข้างมาก เกรงว่าจะไปเปรอะตัวผู้ป่วยซ้ำอีกก็ให้จัดการในส่วนความสะอาดของที่นอนก่อน
รู้แบบนี้แล้วคุณก็คงจะสามารถรับมือปัญหาผู้ป่วยติดเตียงขับถ่ายเลอะที่นอนกันได้ดีมากขึ้นแล้วแน่ ๆ เลย