วิธีแก้ภาวะกลืนลำบากในผู้ป่วยติดเตียง

หนึ่งในปัญหาที่ทำให้ผู้ป่วยติดเตียงทานอาหารน้อยจนน้ำหนักลดผิดปกติ คือ ภาวะกลืนลำบาก ภาวะที่พบบ่อยดังกล่าวเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อเกี่ยวกับการกลืน และมักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ทำให้เกิดอาการไอ สำลัก และเจ็บคอระหว่างกลืนอาหารหรือดื่มน้ำ หากไม่ได้รับการแก้ไขจะทำให้ร่างกายผู้ป่วยขาดสารอาหารหรือขาดน้ำ เพราะไม่อยากอาหารนั่นเอง ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยมีภาวะกลืนลำบาก ผู้ดูแลสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ดังนี้

1. จัดท่าทางผู้ป่วยระหว่างทานอาหาร

การจัดท่าทางที่เหมาะสมในทุกอิริยาบถบนที่นอนผู้ป่วยติดเตียงเป็นสิ่งสำคัญ การทานอาหารก็จำเป็นต้องจัดท่าทางให้ผู้ป่วยกลืนอาหารได้ง่ายขึ้น และป้องกันการสำลัก โดยประคองลำตัวส่วนบนและลำคอของผู้ป่วยให้อยู่ในท่าตั้งตรงแล้วใช้หมอนรองแผ่นหลังไว้ ให้ศีรษะก้มมาด้านหน้าเล็กน้อย หรือหันศีรษะไปทางด้านที่อ่อนแรงสำหรับผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีก ห่อไหล่มาข้างหน้าเล็กน้อยแล้วใช้หมอนรองแขนและข้อศอก หรือถ้าเป็นโต๊ะรับประทานอาหารให้วางแขนและข้อศอกบนโต๊ะ

2. ปรับเปลี่ยนอาหาร อุปกรณ์ และวิธีการรับประทาน

แน่นอนว่าอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยติดเตียงคืออาหารอ่อนย่อยง่าย โดยสามารถใช้สารเพิ่มความหนืดผสมลงไปในอาหารและน้ำ เพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้ป่วยกลืนได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เลือกใช้ช้อนขนาดเล็กลงเพื่อป้อนอาหารผู้ป่วยให้มีปริมาณอาหารต่อหนึ่งคำเล็กลง เปลี่ยนจากการทานเป็นมื้อหลัก 3 มื้อต่อวัน มาเป็นการทานมื้อเล็ก ๆ 5-6 มื้อในแต่ละวัน เป็นการทานในปริมาณต่อมื้อน้อยลงแต่ทานได้บ่อยขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยยังคงได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเช่นเดิม

3. ดูแลสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ

การดูแลสุขอนามัยในช่องปากจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการปอดอักเสบจากการสำลัก โดยให้ผู้ดูแลแปรงฟันให้ผู้ป่วยติดเตียง 2 ครั้งต่อวัน คือหลังตื่นนอนและก่อนนอน พร้อมทั้งบ้วนปากด้วยน้ำเปล่าหลังรับประทานอาหารทุกครั้ง เช็ดทำความสะอาดปากและตรวจดูไม่ให้มีอาหารตกค้างอยู่ในช่องปาก รวมถึงใช้ไหมขัดฟันและพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอทุก ๆ 6 เดือนด้วย

4. ออกกำลังกายกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน

ขึ้นชื่อว่ากล้ามเนื้อก็ต้องออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงเช่นกัน โดยผู้ป่วยสามารถบริหารกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืนอาหาร ทั้งกล้ามเนื้อรอบปากและบริหารลิ้นได้ทั้งหมด 9 ท่า ทำท่าละ 10 วินาที และพักระหว่างท่า 5 วินาทีตามลำดับต่อไปนี้

  1. เหยียดยิ้มแบบหุบปากค้างไว้ โดยให้โหนกแก้มยกสูงขึ้น
  2. อ้าปากออกเสียงอายาว ๆ
  3. ห่อปากออกเสียงอูยาว ๆ
  4. หุบปากแล้วเอาลิ้นดุนด้านในของริมฝีปากบนค้างไว้
  5. หุบปากเหมือนเดิมแล้วย้ายลิ้นลงมาดุนด้านในของริมฝีปากล่างค้างไว้
  6. ย้ายลิ้นไปดุนกระพุ้งแก้มซ้ายค้างไว้
  7. ย้ายลิ้นไปดุนกระพุ้งแก้มขวาค้างไว้
  8. แลบลิ้นเคลื่อนไปทางซ้ายและขวาสลับกัน
  9. แลบลิ้นแล้วขยับขึ้นลงสลับกัน

ข้อควรจำ คือ หลังจากทานอาหารเรียบร้อยแล้วต้องให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าเดิมอย่างน้อย 30 นาที เพื่อป้องกันการสำลัก แล้วจึงจัดท่าทางให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนที่เหมาะสมบนที่นอนป้องกันแผลกดทับสำหรับผู้ป่วยติดเตียง เพื่อลดแรงกดทับระหว่างการพักผ่อน หรือจะพาผู้ป่วยติดเตียงเปลี่ยนอิริยาบถเป็นนั่งบนรถเข็นเพื่อพาเดินเล่นระหว่างวัน สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการดูแลร่างกายคือการดูแลจิตใจให้ผู้ป่วยติดเตียงมีกำลังใจมากยิ่งขึ้น เมื่อแก้ไขภาวะกลืนลำบากได้ นอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่เพียงพอแล้ว ยังสามารถช่วยให้ความรู้สึกของผู้ป่วยดีขึ้นไปด้วย