ภาวะขาดน้ำในผู้ป่วยติดเตียงอันตรายกว่าที่คุณคิด

ภาวะขาดน้ำในผู้ป่วย

การดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวันเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับทุกคนอยู่แล้ว และถ้ายิ่งการดื่มน้ำของผู้ป่วยติดเตียงด้วยแล้วยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นไปอีก เพราะการที่ผู้ป่วยดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของระบบร่างกายในแต่ละวัน ก็จะเสี่ยงต่อการเกิด “ภาวะขาดน้ำ” ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยได้ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะขาดน้ำนี้ อาจรุนแรงทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและเกิดอาการไตวายได้เลยทีเดียว ดังนั้นในครั้งนี้เรามาเรียนรู้ทำความเข้าใจถึงความสำคัญในเรื่องภาวะขาดน้ำในผู้ป่วยที่นอนติดเตียงกันดีกว่า

รู้จักกับภาวะขาดน้ำ

ในทางวิชาการแล้วภาวะขาดน้ำเรียกว่าภาวะ Dehydration ซึ่งก็คือภาวะร่างกายขาดน้ำหรือมีปริมาณน้ำในร่างกายน้อยลงจนร่างกายเสียสมดุล เมื่อร่างกายมีปริมาณน้ำหรือของเหลวไม่สมดุล จะทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น และจะเกิดผลกระทบต่อระบบการทำงานของร่างกาย เช่น มีอาการปากแห้ง คอแห้ง ผิวแห้ง มีอาการวิงเวียนศีรษะ เหนื่อยล้า เกิดภาวะสับสน เป็นลมหมดสติ ไปจนกระทั่งถึงมีการทำงานของหัวใจล้มเหลว เป็นต้น

ภาวะขาดน้ำนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลในทุกเพศทุกวัย แต่ที่น่าเป็นห่วงอย่างมากก็คือในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง โดยเฉพาะกลุ่มหลังที่ไม่สามารถที่จะดูแลช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว หากขาดการดูแลอย่างจริงจังปล่อยให้ผู้ป่วยเกิดภาวะขาดน้ำขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยอย่างชัดเจน จะทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายที่ทรุดโทรมลงทันที และอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

ผู้ป่วยติดเตียงอยู่ในภาวะขาดน้ำหรือไม่ สังเกตได้อย่างไร

อย่างที่กล่าวไปภาวะขาดน้ำจะส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของร่างกาย หากขาดน้ำต่อเนื่องยาวนานระบบการทำงานของร่างกายในส่วนต่าง ๆ ก็จะล้มเหลวจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นการที่ผู้ดูแลจะรู้ได้ว่าผู้ป่วยติดเตียงที่เราให้การดูแลมีความเสี่ยงหรืออยู่ในภาวะขาดน้ำหรือไม่ ก็ให้ทำการสังเกตความเปลี่ยนแปลงและอาการของผู้ป่วย ซึ่งหากผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำอาการต่าง ๆ ก็จะแสดงออกเป็นระยะดังนี้

ภาวะขาดน้ำระยะที่ 1 ร่างกายเริ่มเสียสมดุล

  • เริ่มรู้สึกกระหายน้ำ ปากแห้งคอแห้ง
  • มีอาการท้องผูก ขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระน้อยลง
  • มีอาการกระสับกระส่าย ไม่สบายตัวจนส่งกระทบต่ออารมณ์และการนอนพักผ่อนของผู้ป่วย

ภาวะขาดน้ำระยะที่ 2 ระยะกลาง

  • ผิวแห้งง่ายและแห้งบ่อยขึ้น
  • ผู้ป่วยปัสสาวะจำนวนน้อยลงในแต่ละวัน และทุกครั้งที่ปัสสาวะปริมาณที่ออกมาก็จะน้อยและมีสีเข้ม
  • ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายมากขึ้น
  • ผู้ป่วยมีอาการเป็นตะคริวบ่อยขึ้น

ภาวะขาดน้ำระยะที่ 3 ระยะรุนแรง

  • ผู้ป่วยเริ่มวิงเวียนศีรษะหรือมีอาการปวดศีรษะ
  • อาเจียน
  • สูญเสียการรับรู้ชั่วคราว
  • ชีพจรเต้นเร็วกว่า 120 ครั้ง/นาที แต่มีความดันโลหิตต่ำ
  • เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และไตวาย

แนวทางการดูแลป้องกันผู้ป่วยติดเตียง จากภาวะขาดน้ำ

การดูแลเรื่องของโภชนาการสำหรับผู้ป่วยที่นอนติดเตียง เป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้ดูแลต้องให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า การดูแลสุขภาพและการลดความเจ็บป่วยให้กับผู้ป่วย ปัญหาสุขภาพภายนอกอย่างเช่น การเกิดแผลกดทับ เป็นสิ่งที่เรายังสามารถสำรวจให้เห็นได้ด้วยตาเปล่า เมื่อพบปัญหาแล้วเราอาจจัดการดูแลแผลและหาทางป้องกันอย่างการเลือกที่นอนผู้ป่วยติดเตียงที่เหมาะสมเพื่อช่วยลดปัญหาแผลกดทับได้ แต่ภาวะขาดน้ำเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากภายในร่างกาย ทำให้ผู้ดูแลหลาย ๆ คนอาจมองข้ามไปโดยไม่ตั้งใจหรือคาดไม่ถึง

สิ่งที่ผู้ดูแลต้องทำความเข้าใจให้ดีก็คือ การที่ผู้ป่วยที่นอนติดเตียงไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ นานวันเข้าก็จะทำให้มวลกล้ามเนื้อในร่างกายของผู้ป่วยลดลง เมื่อร่างกายใช้งานน้อยลงก็จะส่งผลทำให้กลไกการทำงานของร่างกายตอบสนองต่อความกระหายลดลงตามไปด้วย จึงเป็นเหตุให้ผู้ป่วยที่นอนติดเตียงมักจะดื่มน้ำน้อยลงและปฏิเสธการดื่มน้ำ ถ้าผู้ป่วยที่ติดเตียงเป็นผู้สูงอายุด้วยแล้ว ยิ่งน่ากังวลเพราะผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักมีโรคเรื้อรังอย่างเบาหวานและความดันสูง ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะต้องทำการขับปัสสาวะอยู่เป็นประจำ ยาที่ได้รับจะเข้าไปกระตุ้นการขับปัสสาวะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ หากผู้ป่วยไม่ดื่มน้ำในปริมาณที่มากและเพียงพอ ก็จะยิ่งเกิดผลเสียต่อไตของผู้ป่วย

แม้ว่าเราอาจจะมองไม่เห็นปัญหานี้ด้วยตาอย่างชัดเจน แต่เราก็สามารถกำหนดแนวทางในการดูแลป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยที่นอนติดเตียงต้องเสี่ยงกับภาวะขาดน้ำได้ เพียงแค่ทำสิ่งเหล่านี้

1. สังเกต

จำเป็นอย่างมากที่ผู้ดูแลจะต้องหมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติต่าง ๆ ของผู้ป่วย สำหรับกรณีภาวะขาดน้ำนี้ผู้ดูแลสามารถใช้แนวทางการสังเกตอาการผู้ป่วยดังที่เสนอไว้ข้างต้นได้เลย จุดสำคัญที่ต้องใส่ใจมาก ๆ ก็คือ ระยะที่ 1 เราไม่ควรปล่อยให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะขาดน้ำในระยะที่ 2 และ 3 เด็ดขาด เพราะทั้งสองระยะนี้จะเริ่มส่งผลอย่างหนักต่อสุขภาพของผู้ป่วย ดังนั้นถ้าสังเกตแล้วพบว่าผู้ป่วยเริ่มมีอาการแบบในระยะที่ 1 แล้วก็ให้รีบวางแผนปรับเปลี่ยนเรื่องโภชนาการกันใหม่ทันที

2. กระตุ้น

หนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการปรับเรื่องโภชนาการที่ดีสำหรับผู้ป่วยที่นอนติดเตียงเลยก็คือ การกระตุ้นให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเพิ่ม หรือทานอาหารที่เป็นของเหลวมีปริมาณของน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำชดเชยจากที่ต้องสูญเสียไปในแต่ละวัน ผู้ป่วยอาจปฏิเสธแต่ผู้ดูแลก็ต้องพยายามกระตุ้นผู้ป่วยให้ดื่มน้ำอยู่เรื่อย ๆ ระหว่างวัน อาจใช้วิธีการดื่มน้อย ๆ แต่ดื่มให้บ่อยขึ้นในแต่ละช่วงเวลาของวันก็ได้ เพื่อให้ร่างกายของผู้ป่วยได้รับน้ำอย่างเพียงพอ

3. หลีกเลี่ยง

ควรปรับเปลี่ยนเรื่องอากาศสภาพแวดล้อมรอบตัวของผู้ป่วย หลีกเลี่ยงให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องร้อน ๆ หรือสถานที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท เพื่อลดการสูญเสียน้ำในร่างกายให้กับผู้ป่วย

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ภาวะขาดน้ำในผู้ป่วยติดเตียงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องใส่ใจไม่น้อย เพราะมีอันตรายต่อผู้ป่วยถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ เช่นนี้แล้วผู้ดูแลผู้ป่วยทุกคนก็ไม่ควรมองข้ามเรื่องนี้อย่างยิ่งเลย