ผู้ป่วยติดเตียงกับภาวะแทรกซ้อนที่ผู้ดูแลควรระวัง

ภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยติดเตียง

การดูแลผู้ป่วยที่นอนติดเตียง ถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งในการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคอง แต่อีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงก็คือ การหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้ป่วยติดเตียงเกิดภาวะแทรกซ้อนที่จะสร้างปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ให้กับผู้ป่วย เพราะหากว่าผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น นอกจากจะเป็นการเพิ่มภาระการดูแลให้กับผู้ดูแลแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจต่อตัวผู้ป่วยด้วย บางครั้งภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยมากขึ้นและอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้เลยทีเดียว ดังนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าผู้ป่วยที่นอนติดเตียงมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนอะไรกันได้บ้าง และมีสิ่งใดที่ผู้ดูแลควรใส่ใจและระมัดระวังเป็นพิเศษ

ภาวะแผลกดทับ

คนทั่วไปอย่างเรา ๆ แม้จะนอนบนที่นอนนาน 7-8 ชั่วโมง เราก็จะไม่เกิดปัญหานี้ เพราะเรายังมีระบบประสาทอัตโนมัติ ที่จะทำให้เราเคลื่อนไหว ขยับกล้ามเนื้อเปลี่ยนท่าทางการนอน แต่สำหรับผู้ป่วยติดเตียงแล้ว พวกเขาจะสูญเสียระบบประสาทอัตโนมัติในการควบคุมร่างกายไป ทำให้พวกเขาจะควบคุมตัวเองไม่ได้ เมื่อเราให้พวกเขานอนอยู่ท่าไหน พวกเขาก็จะนอนนิ่งอยู่ท่านั่นไม่มีการขยับร่างกาย ยิ่งนอนอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ ก็จะยิ่งทำให้ปุ่มกระดูกเกิดการกดทับที่ผิวหนัง จนเลือดไม่มาหล่อเลี้ยงเซลล์ผิวหนังในส่วนนั้น ๆ แม้จะเจ็บแต่ผู้ป่วยมักสื่อสารบอกกับเราไม่ได้ว่าเจ็บตรงไหน ทำให้ผู้ดูแลอย่างเราไม่ทราบและปล่อยไว้แบบนั้น ในที่สุดแล้วเซลล์ผิวหนังที่ไม่มีเลือดมาหล่อเลี้ยงก็จะตายและกลายเป็นแผลกดทับขึ้นมานั่นเอง

การป้องกัน

ผู้ดูแลสามารถที่จะป้องกันภาวะแทรกซ้อนนี้ได้ เพียงแค่หมั่นพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงทุก ๆ 2 ชั่วโมง และลองเปลี่ยนที่นอนจากแบบธรรมดามาเป็นที่นอนป้องกันแผลกดทับโดยเฉพาะก็จะช่วยได้ รวมไปถึงควรหมั่นสำรวจร่างกายและดูแลผิวหนังผู้ป่วยติดเตียงอย่างสม่ำเสมอในทุก ๆ วัน ว่ามีแผลถลอกในส่วนไหนตามร่างกายบ้างหรือไม่ หากผู้ป่วยมีแผลก็ให้รีบรักษาทำแผลให้กับผู้ป่วยก่อนที่จะลุกลามกลายเป็นแผลเรื้อรังที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ภาวะสำลักอาหารและน้ำ

ภาวะแทรกซ้อนต่อมาที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่นอนติดเตียงก็คือ สำลักอาหารและน้ำ จะพบมากในผู้ป่วยสูงอายุที่นอนติดเตียง เนื่องจากผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความเสื่อมของระบบประสาทและสมอง ทำให้ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อบดเคี้ยวและกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืนอาหาร จึงเกิดภาวะสำลักอาหารและน้ำได้ง่าย ซึ่งการสำลักของผู้ป่วยอาจรุนแรงจนถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่ออกและเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

การป้องกัน

การป้องกันภาวะสำลักของผู้ป่วยในเบื้องต้นนั้น ก็คือ การเลือกอาหารให้เหมาะสมกับผู้ป่วย ควรเลือกอาหารที่ย่อยง่าย และการจัดท่าทางในการรับประทานอาหารที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยยังพอที่จะทรงตัวนั่งได้ ก็ให้ปรับหัวเตียงในระดับ 60-90 องศา สำหรับผู้ป่วยที่ต้องป้อนอาหารผ่านสายยางก็ควรจัดท่าทางในลักษณะกึ่งนั่ง ปรับหัวเตียงให้สูงขึ้นระดับ 30-45 องศา และหลังจากให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารแล้วก็ควรให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าทางในลักษณะเดิมไปก่อนราว ๆ 1 ชั่วโมง และถ้าผู้ป่วยเกิดสำลักอาหารขึ้นให้รีบทำการปฐมพยาบาลผู้ป่วยสำลักอาหารเบื้องต้นทันที

ภาวะปอดติดเชื้อ

ภาวะปอดติดเชื้อ สามารถเกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุ นั่นคือ การสำลักและการได้รับเชื้อจากภายนอก เศษอาหารขนาดเล็กที่ผู้ป่วยสำลักอาจตกลงไปที่ระบบทางเดินหายใจและเข้าไปสู่ปอดและทำให้ปอดติดเชื้อ ส่วนการรับเชื้อจากภายนอกนั้น โดยมากแล้วผู้ป่วยมักจะได้รับเชื้อจากญาติที่มาเยี่ยมไข้หรือผู้ดูแล ที่อาจจะเป็นพาหะนำเชื้อโรคจากนอกบ้านเข้ามาส่งต่อสู่ผู้ป่วยติดเตียง ด้วยความที่ญาติผู้ป่วยหรือผู้ดูแลมีภูมิคุ้มกันที่ดีแม้จะได้รับเชื้อก็จะไม่แสดงอาการอะไร แต่ผู้ป่วยที่ติดเตียงไม่มีภูมิคุ้มกัน เมื่อได้รับเชื้อจึงอาจลุกลามทำให้เกิดอาการปอดอักเสบหรือปอดบวมได้

การป้องกัน

เลือกอาหารพร้อมจัดท่าทางการรับประทานของผู้ป่วยให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการสำลัก และผู้ดูแลหรือญาติที่จะเยี่ยมไข้ ก่อนเข้าใกล้หรือสัมผัสผู้ป่วยควรทำความสะอาดตนเองด้วยการล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ล้างมือหรือสวมหน้ากากอนามัยไว้ตลอดเวลาขณะที่อยู่กับผู้ป่วย เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อนั่นเอง

กล้ามเนื้อฝ่อและข้อติดยึด

ผู้ป่วยติดเตียงมักมีข้อจำกัดทางด้านร่างกายอยู่แล้ว บางคนเคลื่อนไหวได้น้อย บางคนก็ขยับร่างกายเองไม่ได้เลย ซึ่งการที่ร่างกายอยู่ในท่าเดิม ไม่ได้เคลื่อนไหว และกล้ามเนื้อไม่ได้ถูกกระตุ้นให้ใช้งานเป็นระยะเวลานาน ๆ ก็จะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะกล้ามเนื้อฝ่อและข้อติดยึด เมื่อผู้ป่วยติดเตียงมีภาวะนี้ จะยิ่งทำให้สภาพร่างกายของผู้ป่วยแย่ลง เมื่อร่างกายไม่ได้ใช้งาน ร่างกายก็ไม่เกิดการเผาผลาญและนำอาหารไปใช้ กลายเป็นปัญหาต่อเนื่องทำให้ผู้ป่วยท้องผูก ทานอาหารได้น้อยลง รวมไปถึงการเกิดภาวะข้อติดจนไม่สามารถยืดเหยียดออกได้ หากพยายามฝืนยืด ผู้ป่วยก็จะเจ็บและทรมาน

การป้องกัน

ผู้ดูแลควรช่วยผู้ป่วยที่ติดเตียงทำกายภาพบำบัดในทุก ๆ วันอย่างน้อยก็วันละ 1 ครั้ง หากเป็นไปได้ก็ควรทำเช้า-เย็น ให้ผู้ป่วยได้ยืดเหยียดออกกำลังกายกล้ามเนื้อและข้อต่อต่าง ๆ อย่างนิ้วมือ ข้อศอก ข้อเข่า ข้อเท้า เป็นต้น

ภาวะติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ในผู้ป่วยติดเตียงทั้งหญิงและชาย แต่จะพบมากในผู้ป่วยผู้หญิง เนื่องจากผู้หญิงจะมีท่อปัสสาวะสั้นกว่าผู้ชาย โดยภาวะนี้อาจเกิดขึ้นได้จาก 3 สาเหตุนั่นคือ

  1. การกลั้นปัสสาวะของผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยที่ติดเตียงเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ บางรายเวลาปวดปัสสาวะจึงมักกลั้นปัสสาวะเอาไว้ เมื่อทำแบบนี้บ่อยเข้าเชื้อโรคที่อยู่ในปัสสาวะก็จะเจริญเติบโต จนทำให้ทางเดินปัสสาวะเกิดการติดเชื้อ
  2. การทำความสะอาดที่ไม่ดีพอ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ก็จะขับถ่ายบนที่นอนเลย เมื่อผู้ดูแลไปทำความสะอาด แต่ทำความสะอาดได้ไม่ดีพอ หรือทำความสะอาดโดยขาดความเข้าใจ ก็ทำให้เชื้อโรคยังอยู่และกลายเป็นการติดเชื้อได้
  3. การใส่สายสวนปัสสาวะนานเกินไป ผู้ป่วยบางรายอาจมีการใส่สายสวนปัสสาวะเดิมในระยะที่นานเกินไป ไม่มีการเปลี่ยนใหม่ จึงทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคและกลายเป็นการติดเชื้อได้เช่นกัน

การป้องกัน

การป้องกันภาวะแทรกซ้อนนี้ผู้ดูแลมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง โดยทำได้ตั้งแต่การให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้เพียงพอ ดูแลการขับถ่ายให้กับผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้ผู้ป่วยกลั้นปัสสาวะ เมื่อผู้ป่วยปัสสาวะก็ช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยปัสสาวะออกให้หมดอย่าให้กลั้นไว้ และดูแลรักษาความสะอาดให้กับผู้ป่วยอย่างถูกวิธีหลังการขับถ่ายอยู่เสมอ เท่านี้ก็จะช่วยป้องกันภาวะนี้ได้แล้ว
เหล่านี้คือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยติดเตียง เป็นเรื่องที่ผู้ดูแลควรจะต้องให้ความใส่ใจและระมัดระวังอย่างดี ซึ่งก็จะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสี่ยงกับความเจ็บป่วยอื่น ๆ และทำให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น