วิธีใช้ นาฬิกาช่วยพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียง เรื่องจำเป็นที่ควรรู้ เนื่องจากนาฬิกาพลิกตัวเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง เนื่องจากการพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงเป็นกิจวัตรประจำวันที่จะต้องถูกกำหนดอยู่ในการดูแลอยู่แล้ว การใช้นาฬิกาช่วยพลิกตัวจึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้ผู้ดูแลกะเกณฑ์ระยะเวลาในการทำสิ่งต่าง ๆ อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น และเป็นตัวช่วยในการป้องกันการลืมพลิกตัวให้ผู้ดูแลได้เป็นอย่างดี
นาฬิกาเตือนใจพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียง มักจะมีการกำหนดทุก ๆ 2 ชั่วโมง
เริ่มจาก……………
6 โมงเช้า >>> ตะแคงซ้าย
8 โมงเช้า >>> นอนหงาย
10 โมงเช้า >>> ตะแคงขวา
เที่ยงวัน >>> ตะแคงซ้าย
บ่าย 2 >>> นอนหงาย
4 โมงเย็น >>> ตะแคงขวา
6 โมงเย็น >>> ตะแคงซ้าย
อย่างไรก็ตาม การใช้นาฬิกาช่วยพลิกตัวเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีสูงสุด ต้องให้ผู้ดูแลคำนึงถึงวิธีการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย
1. กำหนดช่วงเวลาพลิกตัวที่เหมาะกับแต่ละบุคคล
หลักพื้นฐานสากลสำหรับการพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียง คือ ต้องพลิกตัวทุก ๆ 2 ชั่วโมง แต่สามารถปรับเปลี่ยนช่วงเวลาได้ตามความเหมาะสม เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้การกำหนดเวลาสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายไม่เหมือนกัน เช่น ความหนานุ่มของที่นอนผู้ป่วยติดเตียง หากเป็นที่นอนที่มีความแข็งก็ควรปรับเวลาให้ถี่ขึ้น หากเป็นที่นอนป้องกันแผลกดทับที่ถูกออกแบบมาอย่างดี มีความหนาแน่นพอเหมาะ ก็อาจยืดเวลาการพลิกตัวมากกว่านั้นก็ได้ ยิ่งในกรณีที่ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะหลับยาก ต้องการการพักผ่อนอย่างเพียงพอ จึงไม่ควรพลิกตัวถี่จนเกินไป
2. เชื่อมโยงกับตารางดูแลกิจวัตรประจำวัน
แผนการดูแลผู้ป่วยติดเตียงมักถูกกำหนดมาในรูปแบบของตารางกิจวัตรประจำวัน เพราะจะช่วยให้มีแบบแผนในการดูแลที่สม่ำเสมอมากยิ่งขึ้น การกำหนดให้นาฬิกาช่วยพลิกตัวผู้ป่วยเป็นอุปกรณ์จำเป็นในตารางกิจวัตรประจำวันก็จะช่วยให้การพลิกตัวสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียดเรื่องการพลิกตัวอยู่ 3 แบบด้วยกัน คือ ตะแคงซ้าย ตะแคงขวา และนอนหงาย เมื่อกำหนดเวลาได้เหมาะสม ก็จะไม่ทำให้ผู้ดูแลสับสนกับลำดับหรือท่าทางการพลิกตัว คลิกเพื่อดูตัวอย่างนาฬิกาเตือนพลิกตัวผู้ป่วย
3. สำรวจที่นอนและร่างกายผู้ป่วยเมื่อพลิกตัวทุกครั้ง
ทุกครั้งหลังจากพลิกตัวผู้ป่วยตามนาฬิกาพลิกตัวแล้ว ควรสำรวจร่างกายและที่นอนของผู้ป่วยติดเตียงอย่างละเอียดตามด้วยเสมอ เพื่อช่วยให้สังเกตเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย และแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที เช่น อาจเห็นรอยแดงที่เป็นระยะเริ่มต้นของแผลกดทับ ทำให้สามารถรีบรักษาแผลกดทับได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ลดโอกาสการเกิดแผลเนื้อตายได้ นอกจากการสำรวจร่างกายผู้ป่วยติดเตียงแล้ว การหมั่นดูแลความสะอาดของที่นอนก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะที่นอนที่สกปรก อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและแบคทีเรียอันจะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยได้
4. พลิกตัวผู้ป่วยให้ถูกท่า พร้อมใช้หมอนหนุนช่วยพยุงบริเวณที่อาจเกิดแผลกดทับได้ง่าย
หากผู้ดูแลพลิกตัวผู้ป่วยตามนาฬิกา แต่เป็นการพลิกตัวผู้ป่วยอย่างผิดท่าผิดทาง อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บทั้งต่อตัวผู้ดูแลเองและต่อตัวผู้ป่วยได้ คลิกเพื่อดูเทคนิคการพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียง ดังนั้นผู้ดูแลจำเป็นต้องเรียนรู้การพลิกตัวผู้ป่วยอย่างถูกต้อง เพื่อทำให้การพลิกตัวผู้ป่วยด้วยตัวคนเดียวเป็นไปได้โดยง่าย และไม่เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย
นอกจากการพลิกตัวอย่างถูกวิธีแล้ว ผู้ดูแลอาจเลือกใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อช่วยลดแรงกดทับในบางส่วนให้กับผู้ป่วยติดเตียงร่วมด้วย เช่น ใช้หมอนรองบริเวณข้อศอก หรือส้นเท้าเพื่อลดแรงกดทับในกรณีนอนหงาย หรือวางหมอนรองใต้ตาตุ่ม หรือหัวเข่าในกรณีนอนตะแคง เป็นต้น
5. สังเกตและปรับเปลี่ยนความถี่ของนาฬิกาตามความเหมาะสม
เมื่อกำหนดและลองปฎิบัติตามนาฬิกาพลิกตัวผู้ป่วยแล้ว ผู้ดูแลควรสังเกตและดูความเหมาะสมทั้งในแง่ ความถี่และการสลับการพลิกตะแคงผู้ป่วยอยู่เสมอ หากผู้ป่วยเกิดแผลกดทับในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ผู้ดูแลอาจจัดนาฬิกาการพลิกตัวใหม่ โดยเลี่ยงการพลิกตัวไปทับบริเวณที่มีแผลนั้น หรือจัดตารางการพลิกตัวที่ถี่ขึ้น เพื่อลดโอกาสเกิดแผลกดทับในบริเวณอื่น ๆ เพิ่ม เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าการใช้นาฬิกาช่วยพลิกตัวผู้ป่วยเป็นเพียงอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกเท่านั้น สิ่งสำคัญในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงคือความเอาใจใส่ การรักษาสุขอนามัย และความสม่ำเสมอ เพราะคนรอบข้างเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการพยายามฟื้นฟูตัวเองในทุกวัน