วิธีเปลี่ยนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ให้ผู้ป่วยติดเตียงอย่างถูกต้อง

วิธีเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ผู้ป่วยติดเตียง

วิธีเปลี่ยนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ให้ผู้ป่วยติดเตียงอย่างถูกต้อง เป็นหนึ่งในเรื่องจำเป็นที่ต้องได้รับความใส่ใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยติดเตียง เนื่องจากผู้ป่วยติดเตียงบางท่านไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายเองได้ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ หรือแพมเพิสผู้ใหญ่จึงเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ดูแลได้ดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าเมื่อใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปแล้ว จะละเลยความละเอียดอ่อนในการดูแลการขับถ่ายของผู้ป่วยได้ ผู้ดูแลยังจำเป็นต้องมั่นตรวจเช็คผ้าอ้อม และผิวหนังของผู้ป่วยบริเวณที่สวมใส่อย่างสม่ำเสมอ คือทุก ๆ 2 ชั่วโมง หรือทุก ๆ ครั้งที่มีการเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ผู้ป่วยติดเตียง พร้อมกับทำการใส่ผ้าอ้อมให้ผู้ป่วยอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันการรั่วซึม และการเสียดสีของตัวผ้าอ้อมผู้ใหญ่ กับผิวของผู้ป่วย โดยวิธีเปลี่ยนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ให้ผู้ป่วยติดเตียงอย่างถูกต้อง สามารถทำได้ดังนี้

จัดเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม

1. จัดเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม

ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมใด ก็ต้องมีอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงเตรียมพร้อมอยู่ใกล้ ๆ ที่นอนผู้ป่วยติดเตียงอยู่เสมอ โดยอุปกรณ์ที่จำเป็นจำสำหรับการเปลี่ยนผ้าอ้อมได้แก่ ถุงมือสะอาด, กระดาษทิชชู่เปียก (หากไม่มีใช้สำลีชุบน้ำสะอาดแทนก็ได้), ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ผืนใหม่, แผ่นรองซับ และถุงขยะสำหรับทิ้งผ้าอ้อมผู้ใหญ่ผืนเก่า ก่อนเริ่มเปลี่ยนให้แจ้งผู้ป่วยก่อนเสมอเพื่อลดความวิตกกังวลและอาการเกร็ง

จัดท่านอนให้ผู้ป่วยติดเตียงให้พร้อม

2. จัดท่านอนให้ผู้ป่วยติดเตียงให้พร้อม

ท่านอนที่สะดวกที่สุดในการเปลี่ยนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้กับผู้ป่วยติดเตียง คือท่านอนหงาย หากมีแผ่นรองซับ ควรสอดแผ่นรองซับไว้ให้เรียบร้อยระหว่างจัดท่านอนให้ผู้ป่วย แล้วล้างมือให้สะอาดและใส่ถุงมือก่อนทำการเปลี่ยนผ้าอ้อม

การเปิดผ้าอ้อม

3. การเปิดผ้าอ้อม

ผ้าอ้อมของผู้ป่วยติดเตียงมักเป็นแบบเทปกาว เพราะสะดวกในการใช้งานมากกว่าผ้าอ้อมแบบกางเกง เมื่อเปิดผ้าอ้อมโดยลอกเทปกาวออกให้เก็บเทปให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันไม่ให้เทปกาวไปติดกับผิวหนังผู้ป่วยติดเตียง เมื่อเปิดแล้วให้สังเกตผิวหนังและของเหลวที่ผู้ป่วยขับถ่ายออกมา หากพบว่ามีความผิดปกติ เช่น ผิวมีรอยแดง มีตกขาว หรือมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ จะได้ปรึกษาแพทย์และทำการแก้ไขได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

การเช็ดทำความสะอาดและเก็บผ้าอ้อมผืนเก่า

4. การเช็ดทำความสะอาดและเก็บผ้าอ้อมผืนเก่า

ใช้ทิชชูเปียกหรือสำลีชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดด้านหน้า หากเป็นผู้ป่วยหญิงให้เช็ดจากด้านบนลงด้านล่างเพื่อป้องกันการติดเชื้อทางช่องคลอด เมื่อเช็ดทำความสะอาดสิ่งสกปรกแล้วให้ม้วนชายผ้าอ้อมด้านหน้าให้เรียบร้อย และม้วนชายผ้าอ้อมด้านที่จะทำการพลิกตัวสอดเข้าใต้บริเวณก้นของผู้ป่วย จากนั้นทำการพลิกตัวผู้ป่วยให้อยู่ในท่านอนตะแคง (คลิกเพื่อเรียนรู้เทคนิคการพลิกตัวผู้ป่วย) แล้วเช็ดทำความสะอาดส่วนก้นทั้งหมด ระหว่างที่ทำความสะอาดส่วนก้นของผู้ป่วย อย่าลืมสังเกตผิวหนังของผู้ป่วยว่ามีผืน รอยแดง หรือแผลหรือไม่ เพราะช่วงก้น โดยเฉพาะบริเวณก้นกบเป็นส่วนที่มีโอกาสเกิดแผลกดทับได้ง่าย หากพบว่าผิวหนังแห้งอาจะเพิ่มความชุ่มชื้นด้วยวาสลีน หรือทำความสะอาดแผลกดทับตามที่แพทย์แนะนำในกรณีมีแผลกดทับ (เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลแผลกดทับ) เมื่อเช็ดทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ต้องซับให้แห้งทุกครั้งเพื่อป้องกันความอับชื้น แล้วม้วนเก็บผ้าอ้อมผืนเก่าให้เรียบร้อย

การเปลี่ยนผ้าอ้อมผืนใหม่

5. การเปลี่ยนผ้าอ้อมผืนใหม่

ม้วนปลายด้านข้างของผ้าอ้อมผืนใหม่สอดเข้าบริเวณสะโพกผู้ป่วยติดเตียง แล้วลองนำปลายผ้าอ้อมอีกด้านทาบขึ้นกับร่างกายผู้ป่วยให้อยู่ในจุดที่ถูกต้องพอดี เช่นหากผ้าอ้อมมีแถบวัดความชื้น แถมวัดความชื้นควรอยู่ตรงกลางก้น จากนั้นพลิกตัวผู้ป่วยกลับมาเป็นท่านอนหงาย จับผ้าอ้อมขึ้นด้านหน้าโดยทำให้เป็นลักษณะตุง เพื่อให้ขอบอยู่พอดีกับขาหนีบของผู้ป่วย คลี่ส่วนที่สอดใต้สะโพกผู้ป่วยออกมาแล้วปิดเทปใส่ผ้าอ้อมให้แน่นพอดี ไม่หลวมหรือรัดจนเกินไป ทำความสะอาดบริเวณที่นอนโดยเปลี่ยนแผ่นรองผืนใหม่ และเก็บอุปกรณ์ติดเชื้อต่าง ๆ ลงถุงขยะให้เรียบร้อย จัดท่าทางให้ผู้นอนอย่างเหมาะสมตามเดิม

สิ่งสำคัญในการเปลี่ยนผ้าอ้อมให้กับผู้ป่วยติดเตียงคือการรักษาความสะอาด เพราะฉะนั้นพื้นที่ ที่ใช้ในการเปลี่ยนผ้าอ้อมผู้ป่วยติดเตียงจึงมีความสำคัญเช่นกัน ควรเลือกเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ผู้ป่วยบนที่นอนที่มีพื้นผิวเรียบ ที่มีผ้ารองกันเปื้อนไว้เรียบร้อย เพื่อช่วยลดความกังวลเรื่องสิ่งสกปรกไหลซึมลงที่นอน เรียนรู้เทคนิคการเลือกที่นอนให้ผู้ป่วยติดเตียง ความใส่ใจในเรื่องความสะอาดในการขับถ่าย และการเปลี่ยนผ้าอ้อมอย่างถูกวิธี จะเป็นกำลังใจชั้นดีให้ผู้ป่วยฟื้นฟูร่างกายได้ในเร็ววัน