เมื่อเราพูดถึงผู้ป่วยติดเตียง ปัญหาหลักๆที่เราจะพูดถึงคือการเกิดแผลกดทับ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อฝ่อลีบ เกิดความตึงตัวของกล้ามเนื้อและเกิดการติดขัดของข้อต่อต่างๆทำให้ไม่สามารถขยับได้ โดยที่เราสามารถใช้วิธีออกกำลังกายในการช่วยลดปัญหา อีกหนึ่งอย่างที่เราไม่สามารถลืมได้เลย คือ ระบบหายใจ เมื่อเกิดการผู้ป่วยต้องนอนนานๆไม่ได้ขยับร่างกายและมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อทำให้กล้ามเนื้อในการหายใจทำงานลดลงก็จะทำให้คุณภาพหายใจลดลงด้วยเช่นกัน
ทำให้ผู้ป่วยอาจมีการเกิดอาการหอบเหนื่อย การขยายตัวของทรวงอกลดลง ทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่สะดวกมีการติดขัด ทาง SANIA CARE เลยมีท่าฝึกหายใจในผู้ป่วยติดเตียงที่สามารถหายใจได้เองโดยไม่ใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อช่วยลดอาการหอบเหนื่อยและเพิ่มการขยายตัวของทรวงได้ดีมากมานำเสนอ 4 ท่า โดยแบ่งเป็น 3 ท่าที่เราสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์และ 1 ท่าที่ใช้อุปกรณ์ง่ายๆในการฝึก
1.การควบคุมลมหายใจ (Breathing control)
เป็นการฝึกหายใจเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย ลดอาการหอบเหนื่อย
วิธีการ : ให้ผู้ป่วยหายใจเข้าออกช้าๆ สบายๆ
*สามารถทำได้ตลอดเวลาเมื่อมีอาการหอบเหนื่อย
2.หายใจเป่าปาก (Pursed lip breathing exercise)
วิธีการ : ให้ผู้ป่วยหายใจเข้าทางจมูกโดยใช้กล้ามเนื้อกระบังลม แล้วให้หายใจออกทางปากโดยทำการห่อปาก หรือตัวโอ และปล่อยลมออกอย่างช้าๆ
ในกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่สามารถทำได้ ในช่วงแรกให้ผู้ป่วยฝึกโดยการหายใจเข้าทางจมูกและหายใจออกทางปากปกติ เพื่อเรียนรู้ความเร็วและจังหวะของการหายใจ และจากนั้นก็ให้ผู้ป่วยฝึกห่อปากต่อไป
*สามารถทำได้เมื่อมีอาการหอบเหนื่อย
3.หายใจเข้าท้องป่อง – ออกท้องแฟบ (Diaphragmatic breathing exercise)
วิธีการ
- การจัดท่าเพื่อใช่ในการฝึกหายใจ ในช่วงแรกของการฝึกควรให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่ผ่อนคลายและสะดวกต่อ การฝึก คือ กึ่งนั่งกึ่งนอนประมาณ 45 องศา และมีหมอนรองใต้เข่า ถ้าผู้ป่วยมีการหายใจที่ดีขึ้นอาจฝึกในท่านั่งพิงเก้าอี้ หรือท่ายืน
- ให้ผู้ป่วยเอามือวางแนบไว้บนท้องระหว่างใต้ลิ้นปี่และสะดือ
- ให้ผู้ป่วยหายใจเข้าช้าๆทางจมูกโดยให้ท้องป่องดันมือท่าวางไว้ขึ้น แล้วหายใจออกทางปากช้าๆ (อาจทำร่วมกับการห่อปาก) หน้าท้องแฟบลง มือลดต่ำลง
*สามารถทำได้ทุกชั่วโมง รอบละ 5-6 ครั้ง
4.เครื่องบริหารปอด : Incentive spirometer แบบ Tri flow
เป็นอุปกรณ์ในการออกกำลังกายบริหารปอดให้ขยายตัวได้อย่างเต็มที่ในการหายใจได้มากขึ้น
ผู้ที่เหมาะสม ในการใช้เครื่อง
- ผู้ป่วยก่อนหรือหลังผ่าตัด (ผ่าตัดปอด หัวใจหรือช่องท้อง)
- ผู้ที่มีปัญหาด้านการหายใจรวมถึงผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
- ผู้ป่วยที่นอนติดเตียงเป็นเวลานานๆที่ยังสามารถหายใจได้เอง
ประโยชน์ในการใช้เครื่อง
- เพิ่มปริมาตรและการขยายตัวปอดเพิ่มมากขึ้น
- เพิ่มการระบายและการแลกเปลี่ยนก๊าซ
- ทำให้เกิดรูปแบบการหายใจที่ถูกต้อง
- ทำให้สามารถขับเสมหะถูกขับออกมาได้ง่าย
- ป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อนที่มักจะเกิดขึ้น เช่น ปอดแฟบ ปอดอักเสบ และเสมหะคั่งค้าง
วิธีการ
- จัดในผู้ป่วยอยู่ในท่าที่ผ่อนคลายมากที่สุด ท่าที่นิยมใช้คือ ท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน หรือท่านั่ง
- ให้ผู้ป่วยหายใจเข้าออกปกติ อย่างช้าๆสบายๆ จากนั้นให้ดูดช้าๆและลึก ดูดค้างไว้นานเท่าที่จะทำได้ (อย่างน้อย3-5 วินาที) แล้วปล่อยลมหายใจออก พักประมาณ 2-3 วินาที แล้วเริ่มรอบใหม่
- ทำซ้ำประมาณ 5-6 ครั้งต่อ หนึ่งรอบ อย่างน้อย 10 ครั้งต่อ 1-2 ชั่วโมง
หมายเหตุ : ในครั้งแรกของการฝึกนี้ควรได้รับการฝึกจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดก่อน
สรุปแล้วว่าการหายใจเป็นสิ่งสำคัญที่เรามองห้ามไม่ได้เลย จึงควรฝึกหายใจเพื่อให้การขยายตัวทรวงอกดีขึ้นส่งผลให้การแลกเปลี่ยนก๊าซที่ดีขึ้น รวมทั้งการออกกำลังกายและการจัดท่านอน ท่านั่ง ก็จะทำให้เพิ่มให้การไหลเวียนเลือดเพื่อให้ได้ไปล่อเลี้ยงร่างกายเพิ่มได้ดีมากยิ่งขึ้น และยังช่วยลดอาการหอบเหนื่อยได้ดี ซึ่งเราสามารถฝึกได้ทั้งในผู้ป่วยและผู้ดูแลเลยนะครับ