5 สิ่งที่ต้องระวัง และการเตรียมความพร้อมเมื่อมีผู้สูงอายุป่วยติดเตียงที่บ้าน

ครอบครัวที่มีผู้ป่วยติดเตียงอยู่ที่บ้าน หลายท่านคงมีความกังวลเกี่ยวกับแผลกดทับและวิธีการดูแลผู้ป่วยติดเตียง เนื่องจากผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่สามารถทานอาหารเองได้ ไม่สามารถเข้าห้องน้ำเพื่อขับถ่ายเอง อาบน้ำเอง หรือช่วยเหลือตนเองในด้านอื่นๆด้วยตนเองได้เลย ผู้ป่วยติดเตียงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้ดูแลอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้ดูแลอาจจะเกิดความเครียดและความกังวล โดยเฉพาะเมื่อผู้ดูแลต้องประสบเรื่องการดูแลผู้ป่วยติดเตียงคนเดียวด้วยแล้ว ดังนั้นผู้ดูแลควรศึกษาวิธีการและทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยติดเตียงให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงจะต้องดูแลผู้ป่วยที่บ้านเกือบตลอด 24 ชั่วโมง ได้แก่ การดูแลทางด้านร่างกายและดูแลสภาพจิตใจ  การดูแลเป็นสิ่งสำคัญส่วนหนึ่งที่ผู้ดูแลควรรู้และเอาใจใส่กับผู้ป่วยติดเตียงเป็นอย่างมาก เพราะหากปล่อยปะละเลยหรือดูแลได้ไม่ดี ในขณะที่มีหลายเรื่องที่ต้องเตรียมการในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง เรื่องที่ไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง คือเรื่องการป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับ การดูแลเรื่องอาหาร ความสะอาด สภาพจิตใจของผู้ป่วย รวมถึงสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย

 

  1. เรื่องการป้องกันการเกิดแผลกดทับ

การเกิดอาการแผลกดทับ เนื่องจากการนอนทับบริเวณใดบริเวณหนึ่งเป็นระยะเวลานานๆ ผู้ดูแลควรใส่ใจและระวังเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะแผลกดทับนอกจากจะสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยติดเตียงแล้วแผลอาจลุกลามจนเกิดการติดเชื้อได้ เพราะฉะนั้นผู้ดูแลจึงจำเป็นจะต้องหมั่นพลิกตัวผู้ป่วยทุกๆ 2 ชั่วโมง ในการพลิกตัวทำได้ด้วยการ พลิกตัวตะแคงซ้าย ตะแคงขวา โดยไม่ลากหรือทำให้เกิดการเสียดสีที่จะทำให้เกิดแผล โดยบริเวณก้น และ หลัง จะมีโอกาสเกิดแผลกดทับได้มากที่สุด อาการที่แสดงว่ากำลังเกิดแผลกดทับมักจะเริ่มแรกจากการมีแค่ผิวลอกนิดหน่อย แต่นานเข้าแผลนั่นจะลุกลามไปยังกล้ามเนื้อ และกระดูก และเมื่อเกิดมีแผลก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อตามมาซึ่งทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยมีความยากมากขึ้น

นอกจากการพลิกตัวแล้ว ผู้ดูแลควรเลือกที่นอนที่ช่วยป้องกันและลดโอกาสการเกิดแผลกดทับด้วย เนื่องจากที่นอนเป็นอุปกรณ์หลักที่ผู้ป่วยติดเตียงต้องอยู่ด้วยเกือบจะตลอดเวลา โดยส่วนใหญ่แล้วที่นอนที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึงเพื่อป้องกันแผลกดทับสำหรับผู้ป่วยติดเตียงคือที่นอนลม อย่างไรก็ตามที่นอนลมก็มีข้อจำกัดทางการใช้งานและความเหมาะสมกับระดับแผลกดทับที่ต่างกัน ผู้ดูแลจึงควรพิจารณาที่นอนที่เหมาะสมโดยเฉพาะให้กับผู้ป่วยติดเตียง เพราะที่นอนที่เหมาะสมกับผู้ป่วยติดเตียงนั้น นอกจากจะช่วยลดโอกาสการเกิดแผลกดทับแล้วยังเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระผู้ดูแลได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

 

  1. เรื่องการจัดเตียมอาหาร และวิธีการรับประทานอาหารของผู้ป่วยติดเตียง

การรับประทานอาหาร เนื่องจากผู้ป่วยติดเตียงส่วนใหญ่อาจมีปัญหาเกี่ยวกับฟัน หรือปัญหาในช่องปากต่างๆ ทำให้กลืนยาก หรือจำเป็นต้องเจาะทางเดินอาหารใหม่ เพื่อให้ผู้ป่วยติดเตียงสามารถทานอาหารได้สะดวกและไม่เกิดอาการสำลัก ผู้ดูแลต้องยกตัวผู้ป่วยลุกขึ้นนั่งโดยใช้หมอนหนุนหลัง หรือปรับเตียงเอียงขึ้นให้พอนั่งได้ แล้วค่อยๆป้อนอาหาร ให้ผู้ป่วยเคี้ยวจนละเอียดและเคี้ยวให้นาน หากมีอาหารสำลักให้หยุดป้อนอาหารทันที ถ้าหากสำลักอาหารอาจทำให้ติดเชื้อทางเดินหายใจ หรืออุดกั้นทางเดินหลอดลม จนทำให้ขาดอากาศหายใจถึงขั้นอันตรายแก่ชีวิตได้

 

  1. เรื่องความสะอาดของผู้ป่วยติดเตียง

การชำระล้างร่างกาย และการขับถ่าย เป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ดูแลไม่ควรละเลย โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียงที่มีการใส่สายสวนปัสสาวะเข้าไปภายในร่างกายควรเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะให้ผู้ป่วยติดเตียงเป็นประจำทุก 2 – 4 สัปดาห์ และทำความสะอาดสายด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ ทุกครั้ง รวมทั้งการดูแลช่องปาก และฟันจะช่วยลดการสะสมของแบคทีเรียในช่องปาก ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดปอดอักเสบจากการสําลักอาหารได้ การดูแลความสะอาดบนที่นอนซึ่งเป็นที่ที่ผู้ป่วยติดเตียงใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุดก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ผู้ดูแลควรหมั่นสังเกตผ้าปูเตียงหรือปลอกหมอนของผู้ป่วย และคอยเปลี่ยนผ้าปูที่นอนและทำความสะอาดเตียงเป็นประจำ ตามความเหมาะสม เลือกใช้ผ้าปูที่นอนที่ลดการสะสมของไรฝุ่นและแบคทีเรีย เพื่อช่วยลดโอกาสการติดเชื้อของร่างกายผู้ป่วย

 

  1. เรื่องสภาพจิตใจของผู้ป่วยติดเตียง

นอกเหนือจากการดูแลสภาพร่างกายของผู้ป่วยแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการดูแลสภาพจิตใจของผู้ป่วย การดูแลเอาใจใส่ด้วยความรัก ความจริงใจ ในเวลาว่างผู้ดูแลอาจจะบีบนวดเพื่อช่วยผ่อนคลายให้กับผู้ป่วย อ่านหนังสือให้ฟัง พูดคุยด้วยหน้าตาท่าทาง ยิ้มแย้มแจ่มใส ชวนคุย ชวนดูรายการโทรทัศน์ เพื่อสร้างบรรยากาศ และอารมณ์ที่ดีให้กับผู้ป่วย การสัมผัส การพูดจา วิธีนี้อาจจะช่วยให้สภาพจิตใจของผู้ป่วยแข็งแรง มีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคหรืออาการที่กำลังเป็นอยู่ อาจจะช่วยทำให้อาการป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น ทานอาหารได้มากขึ้น สุขภาพแข็งแรง และในบางรายอาจมีโอกาสหายเป็นปกติได้

 

  1. เรื่องสภาพแวดล้อมของผู้ป่วยติดเตียง

นอกจากสภาพจิตใจแล้วสภาพแวดล้อมของผู้ป่วยติดเตียงก็มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของผู้ป่วยเช่นกัน ผู้ดูแลจึงควรจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นในด้านการหมั่นทำความสะอาดบริเวณโดยรอบอยู่เสมอ การจัดที่พักผู้ป่วยให้มีอากาศถ่ายเท และคอยเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก นอกจากนี้ ควรจัดสถานที่ให้ง่ายต่อการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นด้วย

หากคุณ หรือ คนภายในครอบครัวของคุณมีผู้สูงอายุนอนติดเตียงที่บ้าน สิ่งที่ช่วยในการรักษาได้ดีนอกเหนือจากที่กล่าวมา ก็คือ “กำลังใจ” การให้และได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง อาจจะแสดงออกมาเป็นคำพูด การดูแลเอาใจใส่ และการช่วยเหลือเล็กน้อยๆ และที่ขาดไม่ได้เลยคือการสร้างกำลังใจความเชื่อมั่นให้กับผู้ป่วยว่าเค้ายังมีความสำคัญกับคนในครอบครัว