โรคแทรกซ้อนที่พบในผู้ป่วยติดเตียง

ผู้สูงอายุนอนติดเตียงที่บ้านเป็นกลุ่มที่ส่วนใหญ่พบว่า มีความยากลําบากต่อการเข้าไปรับบริการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขได้โดยตรง  เนื่องจากมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว และต้องพึ่งพาผู้ดูแลตลอดเวลา ทั้งนี้ผู้สูงอายุบางรายอาจต้องมีอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อการช่วยเหลือติดตัวกลับไปดูแลต่อที่บ้าน  ซึ่งก่อให้เกิดความยุ่งยากในการจัดการดูแลที่บ้าน  เนื่องจากกิจกรรมการดูแลมีความซับซ้อนมากกว่า การดูแลเรื่องกิจวัตรประจําวันทั่วไป นอกจากนี้การนอนบนเตียง ตลอดเวลา หรือนอนทับท่าเดียวนานๆ อาจส่งผลให้ผู้สูงอายุ เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ได้แก่   การเกิดแผลกดทับ  ข้อยึดติดและกล้ามเนื้อลีบ  การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และภาวะซึมเศร้าสับสน ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องกลับเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลซ้ำ

คนไข้ป่วยเรื้อรังต้องนอนบนเตียงนานวัน จะลุกออกจากเตียงก็มีข้อจำกัดด้วยเรื่องปวดหรือเดินไม่ได้  ด้วยสาเหตุต่างๆ ทำให้ต้องนอนอยู่กับเตียงนานๆ เรามักเรียกคนไข้ประเภทนี้ว่า ติดเตียง ภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยติดเตียงจะเกิดทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ประกอบด้วย

1. การเกิดแผลกดทับ

2.การเกิดข้อยึดติดและกล้ามเนื้อลีบ

3.การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

4.ภาวะซึมเศร้าสับสน

1.แผลกดทับ

การดูแลผู้ป่วยติดเตียงต้องมีการพลิกตัวทุก 2 ชั่วโมง เนื่องจากหากผู้ป่วยอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ผิวหนังบริเวณที่รับแรงกดจากน้ำหนักตัวจะเป็นแผลกดทับได้ ระยะแรกจะสังเกตได้ว่าผิวหนังบริเวณนั้นจะเป็นรอยแดงช้ำ หากทิ้งไว้แผลจะลึกและกว้างขึ้น จนบางครั้งแผลลึกจนถึงกระดูกก็มี แผลอาจติดเชื้อและทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดตามมาได้  กรณีผู้ป่วยติดเตียงมีปัญหาทางสมองร่วมด้วย ทำให้ไม่สามารถบอกได้ว่าเจ็บปวดตรงไหน หากผู้ดูแลไม่ทันได้สังเกต ก็อาจทำให้แผลลามไปเรื่อยๆ

วิธีที่ช่วยป้องกันแผลกดทับ

1.1 พลิกตะแคงตัวผู้ป่วยติดเตียงทุก 2 ชั่วโมง การจัดท่านอนและท่านั่งที่เหมาะสม

1.2 การใช้อุปกรณ์ช่วยลดแรงกด การใช้ที่นอนป้องกันแผลกดทับ ที่นอนที่ออกแบบมาเพื่อช่วยกระจายแรงกดไปทั่วๆร่างกาย ป้องกันไม่ให้น้ำหนักตัวลงที่จุดใดจุดหนึ่งจนเกิดแผลกดทับ บริเวณที่มักพบแผลกดทับจะเป็นบริเวณที่รับน้ำหนักตัวเมื่ออยู่ในท่านอน เช่น ก้บกบ ส้นเท้า ตาตุ่มและข้อศอก

1.3 การดูแลสภาพผิวหนัง การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการดูแลและบำรุงผิวหนัง ได้แก่ โลชั่นหรือครีม ใช้ทาบริเวณผิวหนัง โดยเป้าหมายเพื่อป้องกันหรือบรรเทาความแห้งของผิวหนัง ทำให้ผิวหนังมีความเนียนนุ่ม ชุ่มชื้น เป็นการช่วยส่งเสริมความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของผิวหนัง

1.4 การส่งเสริมภาวะโภชนาการอาหารป็นสารบำรุงผิวที่ดีที่สุด เพราะอาหารช่วยให้ผิวพรรณสดชื่น ผู้ป่วยติดเตียงควรเน้นรับประทานอาหารประเภท โปรตีนจากเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกปลา จะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและส่งเสริมการสร้างเซลล์ผิวใหม่

2.ข้อยึดติดและกล้ามเนื้อลีบ

ผู้ป่วยติดเตียงมักจะเคลื่อนไหวได้น้อยอยู่แล้ว เมื่อร่างกายอยู่ในท่าเดิมนานๆจะทำให้ข้อยึดติดไม่สามารถเหยียดข้อออกได้ ซึ่งเมื่อเป็นแล้วจะแก้ไขได้ยาก

วิธีป้องกันคือผู้ดูแลต้องทำกายภาพให้ทุกวัน เช้า-เย็น เป็นอย่างน้อย โดยข้อที่เน้นกายภาพมีดังต่อไปนี้  นิ้วมือและข้อมือ ข้อศอก หัวไหล่  ข้อสะโพก เข่า  ข้อเท้า

3.การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ

เมื่อผู้ป่วยติดเตียงอยู่ในท่านอนเป็นส่วนใหญ่ ผู้ป่วยจะหายใจตื้นกว่าปกติทำให้ปอดไม่ขยาย และเกิดภาวะปอดแฟบ หอบเหนื่อยและเกิดการเชื้อระบบทางเดินหายใจในเวลาต่อมา ดั้งนั้นการป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ คือ

3.1 ผู้ดูแลควรจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งในช่วงเวลากลางวัน เนื่องจากผู้ป่วยจะหายใจได้ลึกมากกว่าในท่านั่ง

3.2 การป้องกันโดยการดูแลความสะอาดภายในช่องปากและฟัน การดูแลทางเดินหายใจ ให้โล่ง การดูแลป้องกันการสำลัก การไออย่างมีประสิทธิภาพ

4.ภาวะซึมเศร้าสับสน

ผู้ป่วยติดเตียงมักมีภาวะสมองเสื่อมหรือเคยเป็นเส้นเลือดในสมองตีบ (stroke) มาก่อนทำให้สมองทำงานได้ไม่เท่าคนปกติ ผู้ป่วยอาจมีพฤติกรรม อารมณ์ ความคิด การนอนที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น หงุดหงิดโมโหง่าย ก้าวร้าว บางคนอาจหลงลืม ถามเรื่องเดิมซ้ำๆ หรือมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม นอนไม่หลับ บางครั้งพูดคนเดียว มีหูแว่วภาพหลอน ผู้ดูแลต้องพยายามเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอาการทางสมองซึ่งตัวผู้ป่วยเองก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะแสดงออกอย่างนั้น ผู้ดูแลอาจต้องหาวิธีรับมือกับอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงนี้ และดูแลเพิ่มเติมในเรื่อง

4.1 จัดสถานที่ สิ่งของให้ผู้ป่วยคุ้นเคยเพื่อลดอาการสับสน

4.2 บอก วัน เวลา สถานที่ ให้ผู้ป่วยทราบทุกวัน อาจติดปฏิทิน และนาฬิกาที่มีตัวเลขขนาดใหญ่ชัดเจนไว้ในห้อง

4.3 ห้องผู้ป่วยควรมีหน้าต่างให้แสงส่องถึงได้ เพื่อให้ผู้ป่วยไม่สับสนระหว่างกลางวันและกลางคืน

4.4 ลดตัวกระตุ้นในตอนกลางคืน เช่น เสียง หรือ แสงรบกวน อากาศไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป

4.5 กระตุ้นในผู้ป่วยตื่นในเวลากลางวัน หากผู้ป่วยนอนหลับช่วงกลางวันจะทำให้ผู้ป่วยไม่หลับเวลากลางคืน และสับสนกลางคืนได้

สุดท้ายการดูแลผู้ป่วยติดเตียง อาจจะยุ่งยาก แต่หากผู้ดูแลเข้าใจผู้ป่วยและรู้วิธีการดูแลที่ถูกต้องก็จะสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาได้ และที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ดูแลจะมีโอกาสได้ดูแลบุคคลอันเป็นที่รักเหมือนที่บุคคลท่านนั้นเคยดูแลเรามาเมื่อครั้งเรายังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ การทำในสิ่งที่รักและรักในสิ่งที่ทำจะพบความสุขเหนือคำบรรยายได้