แผลกดทับเกิดขึ้นได้อย่างไร แผลกดทับมีกี่ระดับ แผลกดทับ หมายถึง บริเวณผิวหนังที่ถูกทำลายโดยมีแรงกดทับบริเวณนั้นเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะบริเวณเหนือปุ่มกระดูกต่าง ๆ เช่น ปุ่มกระดูกบริเวณก้นกบ สะโพก เป็นต้น หรือมักพบแผลกดทับบริเวณที่สัมผัสหรือเสียดสีกับอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นเวลานาน เช่น สายให้อาหารทางจมูก สายสวนปัสสาวะ สายให้ออกซิเจน เป็นต้น
แนวทางป้องกันแผลกดทับที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ แผลกดทับเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยสูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหวซึ่งเมื่อผิวหนังถูกกดทับเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง ทําให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงผิวหนังที่ถูกกดทับได้อย่างสะดวก ส่งผลให้ผิวหนังถูกทําลายหากไม่ได้รับการป้องกันดูแลตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก็จะส่งผลให้เกิดแผลกดทับตามมา และยากในการจัดการดูแล ซึ่งการเกิดแผลกดทับจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทําให้เจ็บปวดทุกข์ทรมาน จากการรักษาที่ยุ่งยากค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อทางด้านจิตใจของผู้ป่วยด้วย อีกทั้งยังเป็นภาระการดูแลและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของครอบครัว
ลักษณะของแผลกดทับ แบ่งเป็น 4 ระดับ
- ระดับที่ 1 ผิวหนังมีลักษณะเป็นรอยแดงเฉพาะที่ บริเวณนั้นไม่มีผิวหนังฉีกขาด เมื่อกดผิวหนังบริเวณที่มีรอยแดงๆ ยังคงอยู่
- ระดับที่ 2 แผลมีลักษณะมองเห็นชั้นหนังแท้เป็นสีชมพูหรือสีแดงในบริเวณที่มีชั้นผิวหนังส่วนนอกฉีกขาด อาจพบลักษณะของตุ่มน้ำใส หรือ ตุ่มน้ำใสที่แตกแล้ว ยกเว้นผิวหนังที่ฉีกขาดจากอุบัติเหตุ เช่น ฉีกขาดจากแผลถลอก หรือแผลไฟไหม้ หรือแผลที่ผิวหนังฉีกขาดจากวัสดุยึดติดทางการแพทย์ เช่น พลาสเตอร์ปิดแผล
- ระดับที่ 3 แผลมีลักษณะสูญเสียชั้นผิวหนังทั้งหมดจนมองเห็นชั้นไขมันในแผล อาจพบเนื้อตายยุ่ย หรือเนื้อตายแห้งแข็ง อาจพบโพรงลึกใต้แผล แต่ไม่เห็นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และกระดูก
- ระดับที่ 4 สูญเสียชั้นผิวหนังและเนื้อเยื้อใต้ผิวหนังทั้งหมด มองเห็นพังผืด เอ็น และกระดูก
- ระดับที่ 5 ระดับที่ไม่สามารถระบุได้ หมายถึงลักษณะแผลที่ไม่สามารถระบุความลึกได้ส่วนใหญ่ผิวหนังทุกชั้นจะถูกทําลายโดยจะพบลักษณะเนื้อตายสีดําคลุมพื้นผิวของแผลไว้ทั้งหมด และถึงแม้ว่าจะมีการกําจัดเนื้อตายสีดําออกจากพื้นผิวของแผลออกแล้ว ก็ยังไม่สามารถระบุความลึกของแผลที่แท้จริงได้
ชนิดของแผลกดทับจำแนกตามสาเหตุของการเกิดแผลกดทับ
- แผลกดทับที่เกิดจากอุปกรณ์การแพทย์ที่มีจุดประสงค์เพื่อการรักษาหรือการวินิจฉัยโรค เช่น สายให้อาหารทางจมูก สายให้ออกซิเจน และสายสวนปัสสาวะ แผลกดทับมักเกิดขึ้นใต้อุปกรณ์หรือผิวหนังบริเวณที่อุปกรณ์เหล่านี้เสียดสี กดทับเป็นเวลานาน ส่วนมากสามารถระบุระดับของแผลกดทับได้
- แผลกดทับบริเวณเยื่อบุผิวในช่องปาก มักมีประวัติการใช้อุปกรณ์การแพทย์ในตำแหน่งที่เกิดแผลลักษณะแผลมีอาการบวม แดง เจ็บ มักไม่สามารถระบุระดับของแผลได้เพราะเนื้อเยื่อบุผิวปากกับชั้นผิวหนังมีความแตกต่างกัน
- แผลกดทับที่เกิดจากผิวหนังสัมผัสกับปัสสาวะและอุจจาระเป็นเวลานาน มีการอักเสบของผิวหนัง มีลักษณะของ ผิวหนังแดง อาจลอกหลุด เห็นเนื้อเยื่อแผลสีชมพูหรือ สีแดง
แบ่งระดับความรุนแรงแผลกดทับได้ 4 ระดับดังนี้
- ระดับเสี่ยงสูง ผิวหนังมีลักษณะปกติไม่มีรอยแดง แต่อาจมีรอยจากผิวหนังสัมผัสกับปัสสาวะและอุจจาระเป็นเวลานาน
- ระดับน้อย ผิวหนังมีรอยแดง ขอบเขตไม่ชัดเจน ไม่มีแผลเปิด รู้สึกปวดแสบขณะสัมผัส
- ระดับปานกลาง ผิวหนังมีสีแดงสด หรือสีแดงจัดในคนผิวเข้ม แผลมักมีลักษณะเป็นมันเงา มีอาการปวดแสบ ปวดร้อนขณะสัมผัส
- ระดับรุนแรง เป็นแผลเปิดระดับตื้นสีแดงมีสารคัดหลั่งหรือเลือดซึม ผิวหนังบางส่วนหลุดลอก
การเกิดแผลกดทับและการจัดการกับแผลกดทับควรทําอย่างเป็นระบบโดยเริ่มตั้งแต่การประเมินความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการค้นหาสาเหตุ และป้องกันการเกิดแผลกดทับตั้งแต่ระยะที่ยังไม่เกิดแผล โดยเลือกใช้อุปกรณ์ และแนวทางในการป้องกันแผลกดทับ ไม่ว่าจะเป็นที่นอนที่ลดแรงกดทับสำหรับผู้ป่วยติดเตียง การพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงทุกๆ 2 ชั่วโมง การนวด การทำกายภาพ และการคอยดูแลผิวหนัง และความสะอาดให้กับผู้ป่วยติดเตียง และเมื่อมีแผลเกิดขึ้นแล้ว ผู้ดูแลต้องมีการจัดการ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลและการรักษาแผลกดทับที่ถูกต้องเหมาะสมตามระดับของแผลกดทับ และการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่แผล เพื่อป้องกันการลุกลามของแผลกดทับ