ภาระการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องพึ่งพาผู้ดูแลตลอดเวลานั้น เป็นงานที่เหน็ดเหนื่อย ใช้เวลามาก และก่อให้เกิดความตึงเครียดสูง อีกทั้งตัวผู้ดูแลเองก็อาจมีปัญหาของตนเองในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ ฐานะการเงิน และชีวิตส่วนตัวของตนเอง เมื่อเวลาผ่านไปถ้าผู้ดูแลปราศจากความช่วยเหลือจากสมาชิกคนอื่นๆแล้ว ก็จะเกิดความเหนื่อยล้า (Caregiver burden) หรือถึงกับ หมดไฟในการดูแล (Caregiver burnout)
ผู้ดูแลบางคนไม่ได้มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยโดยตรง ไม่เคยมีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยรวมทั้งยังมีภาระในด้านอื่นๆ เช่น งาน ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และผู้ดูแลผู้ป่วยบางคนมีครอบครัวของตนเองที่ต้องดูแลนำมาซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์การดูแลผู้ป่วย เห็นได้ว่าภาวการณ์เจ็บป่วยเรื้อรังส่งผลกระทบต่อผู้ดูแล จากงานวิจัยได้พูดถึงความต้องการของผู้ดูแลไว้ว่า
1.ความต้องการด้านการประคับประคองจิตใจ
โดยความต้องการของผู้ดูแล คือให้คนในครอบครัวรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นขณะดูแลผู้ป่วยติดเตียงมากที่สุด และมีความต้องการน้อยที่สุดในด้านการประคับประคองจิตใจโดยให้แพทย์และพยาบาลให้เวลาในการซักถาม
2.มีความต้องการด้านการดูแลสุขภาพ
โดยความต้องการของผู้ดูแล คือได้รับการดูแลรักษาเมื่อตนเองเจ็บป่วยขณะดูแลผู้ป่วยติดเตียงมากที่สุด และมีความต้องการด้านการดูแลสุขภาพโดยการมีเวลาในการออกกำลังกายน้อยที่สุด เนื่องจากผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงให้เหตุผลว่าหลังจากดูแลผู้ป่วยติดเตียงจะหมดแรง จึงทำให้ไม่อยากทำกิจกรรมใดๆเพิ่มอีก
3.มีความต้องการด้านการเสริมสร้างพลังทางจิตวิญญาณ
โดยความต้องการของผู้ดูแล คือได้รับการให้อภัยจากผู้ป่วยเมื่อมีการกระทบกระทั่งกับผู้ป่วยติดเตียงมากที่สุด และมีความต้องการด้านการเสริมสร้างพลังทางจิตวิญญาณโดยการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาน้อยที่สุด เนื่องจากผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงไม่มีเวลามากพอในการไปปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา
ปัจจัยที่จะเกิดภาวะเหนื่อยล้าของผู้ดูแล คือ
1.ระดับความรุนแรงของภาวะทุพพลภาพของผู้ป่วยติดเตียง และความสามารถในการช่วยเหลือตนเองของผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงระดับโรคแทรกซ้อนที่เกิดกับผู้ป่วยติดเตียง เช่นโรคแทรกซ้อนจากแผลกดทับ ที่อาจสร้างความกังวล และการดูแลที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ดูแล
2.ปัญหาสุขภาพของตัวผู้ดูแลเอง อาจมีโรคประจำตัว เช่นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
3.แหล่งให้ความช่วยเหลืออื่นๆ การประสานขอความช่วยเหลือจากญาติผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยไม่พบความสะดวก หรือไม่ได้รับความช่วยเหลือจากใครเลย
4.บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบด้านอื่นๆของผู้ดูแล พบว่ามีความรับผิดชอบดูแลผู้ป่วยติดเตียงทุกเรื่องและผู้เดียว
แนวทางการป้องกันสำหรับผู้ดูแลที่เริ่มมีอาการเจ็บป่วย
1.ญาติผู้ป่วยติดเตียงควรวางแผนการดูแลผู้ป่วยติดเตียงให้ดี อย่าให้เป็นภาระตกหนักที่ผู้ดูแลเพียงคนเดียวตลอดเวลา
2.ถ้าเป็นไปได้ ญาติผู้ป่วยติดเตียงควรจ้างผู้อื่นให้มาทำหน้าที่ดูแลชั่วคราวเป็นครั้งๆ เพื่อให้ผู้ดูแลหลักมีเวลาพักผ่อนหรือทำธุระส่วนตัวบ้าง
3.ญาติผู้ป่วยติดเตียงควรแบ่งหน้าที่ด้านต่างๆให้ญาติพี่น้องคนอื่นได้มีส่วนรับผิดชอบร่วมกันบ้าง เช่น ภาระค่าใช้จ่ายในบ้าน การทำความสะอาดบ้าน หรือหน้าที่พาผู้ป่วยมาโรงพยาบาล
4.ญาติผู้ป่วยติดเตียงควรแนะนำให้ผู้ดูแล หาเวลาพักผ่อนไปทำกิจกรรมที่ตนเองชอบบ้างเพื่อผ่อนคลายความเครียด
5.ญาติผู้ป่วยควรพูดคุยกับผู้ดูแลบ้าง และจัดเวลาให้ผู้ดูแลพูดคุยพบปะสังสรรค์ เข้าสังคมบ้าง นอกจากบรรเทาความเครียดแล้วอาจได้รับคำแนะนำในการแก้ปัญหาของตนเองได้
6. ญาติของผู้ป่วยติดเตียงควรส่งเสริมให้ผู้ดูแลรักษาสุขภาพกายของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ หรือติดตามความเจ็บป่วยของผู้ดูแลเป็นประจำ
7. ผู้ดูแลเองควรรู้จักปล่อยวางบ้าง หาวิธีคลายเครียดบ้าง อย่าคาดหวังกับสิ่งรอบตัวสูงจนเกินไป เช่น อยากให้ผู้ป่วยติดเตียงหายขาดจนลุกมาเดินได้ กินเองได้ อยากให้ญาติทุกคนมาช่วยดูแลกันพร้อมหน้าตลอดเวลา
8. ญาติของผู้ป่วยติดเตียงควรแบ่งเวลาให้กับบุคคลอันเป็นที่รักและบุคคลในครอบครัวของตนเอง(ผู้ดูแล)บ้าง แทนที่จะทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้ผู้ป่วยคนเดียว
9. สำหรับบางกรณีญาติของผู้ป่วยติดเตียงอาจจำเป็นต้องไปฝากผู้ป่วยติดเตียงไว้ในสถานพยาบาลบ้าง หากผู้ดูแลติดธุระหรือรู้สึกเกินกำลังแล้ว
สุดท้ายขอแนะนำว่า กำลังใจสำหรับผู้ดูแลจริงอยู่ที่งานดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เป็นงานที่ทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อยทั้งกายใจ และเป็นงานที่ยากที่สุดสำหรับสมาชิกในครอบครัว แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสียเท่านั้น จริงๆแล้วความสุขใจจากหน้าที่นี้ก็มีอยู่ การที่สมาชิกในครอบครัวได้ดูแลบุคคลในครอบครัว นอกจากจะเป็นการแสดงความรักและความกตัญญูต่อกัน เมื่อบุคคลอันเป็นที่รักจากไป ผู้ดูแลเองจะได้ไม่จมอยู่กับความรู้สึกผิด เพราะได้ใช้เวลาอยู่กับผู้ป่วยอย่างคุ้มค่าและทำดีที่สุดแล้วในขณะที่ผู้ป่วยยังมีชีวิตอยู่
ในกรณีที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลไม่ได้มีความรัก ความผูกพันกันมาก่อน อาจถือว่าเป็นช่วงเวลาที่จะอโหสิกรรมและให้อภัยต่อกันในความผิดบาปในอดีต ความโกรธจะได้ไม่ติดตัวผู้ดูแลต่อไปเมื่อผู้ป่วยจากไปแล้ว การให้โอกาสได้ดูแลกันในช่วงสุดท้ายของชีวิตถือเป็นบุญที่เขามอบให้เราก่อนจากกัน และการทำบุญใหญ่ก็ย่อมจะเหนื่อยเป็นธรรมดา