การเลือกที่นอนสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ถือเป็นเรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่แค่เพราะ 1 ใน 3 ของเวลาในแต่ละวัน คือการนอนหลับพักผ่อน แต่เพราะผู้สูงอายุบางท่าน และผู้ป่วยติดเตียง สามารถเคลื่อนไหวตัวได้น้อย หรือแทบไม่ได้เลย ดังนั้นสถานที่ที่ผู้ป่วยติดเตียงต้องใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุดจึงมักจะเป็นที่นอน ด้วยเหตุนี้การเลือกที่นอนที่ดีให้เหมาะสมกับผู้ป่วยติดเตียง หรือแม้แต่ผู้ป่วยพักฟื้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก โดยอันดับแรกที่ควรเลือกใส่ใจ คือคุณสมบัติในการป้องกันการเกิดแผลกดทับ เนื่องจากการนอนติดเตียง หรือการนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานาน ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดแผลกดทับ หากที่นอนไม่ได้ออกแบบมาเพื่อป้องกันแผลกดทับโดยเฉพาะ จะมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยติดเตียงเกิดแผลกดทับได้ง่าย ซึ่งหากแผลลุกลาม อาจทำให้ติดเชื้อและเป็นอันตรายกับผู้ป่วยติดเตียงได้
นอกจากคุณสมบัติในการป้องกันการเกิดแผลกดทับแล้ว ขนาดของที่นอนก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ที่นอนผู้ป่วยที่เหมาะสม ไม่ควรเล็กกว่า 3 ฟุต เพราะหากที่นอนเล็กเกินไป จะทำให้ไม่มีพื้นที่ในการพลิก ขยับตัวเพื่อเปลี่ยนอริยาบถในการนอน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการปวดเมื่อยตามตัวจากการนอนในท่าใดท่าหนึ่งนานมากจนเกินไป ในขณะที่ ที่นอนที่ใหญ่จนเกินไป อาจจะทำให้ผู้ป่วยติดเตียงอยู่ไกลจากขอบเตียงและผู้ดูแล ทำให้ผู้ดูแลต้องเอื้อมมือในการช่วยเหลือผู้ป่วย สร้างความลำบากในการดูแลได้
การคำนึงถึงช่วงอายุและลักษณะของผู้ใช้งานที่นอน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุควรเลือกให้เหมาะสมกับสภาพของร่างกาย เพราะอยู่ในช่วงวัยที่ร่างกายมีความเสื่อมโดยเฉพาะเรื่องของกระดูกและโครงสร้างของร่างกายที่ความแข็งแรงค่อนข้างต่ำ การใช้ที่นอนที่เหมาะสมจะสามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนของผู้สูงวัยและผู้ป่วยติดเตียงได้
โดยที่นอนกันแผลกดทับหลักๆ แบ่งออกเป็น 2 แบบด้วยกันดังนี้
1.ที่นอนลม
ที่นอนลมเหมาะกับผู้ป่วยแบบไหน ที่นอนลมเหมาะสำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องการป้องกันการเกิดแผลกดทับ โดยที่นอนลมช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับจากการนอน จากการเสียดสีกันระหว่างที่นอนกับผิวของผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ จากอาการเจ็บป่วย อัมพาต อัมพฤกษ์ หรือมีความจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวเป็นเวลานานๆ อีกด้วย ควรเลือกที่นอนลมที่ผิวที่นอนเป็นผ้า หากเป็นพลาสติกจะลื่น ไม่เหมาะกับการนอน เตียงลมหรือที่นอนลม คืออุปกรณ์ที่ช่วยกระจายแรงกดทับ ทำงานโดยระบบปั๊มลมไฟฟ้า โดยการสลับยุบพองของที่นอนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผิวหนังบริเวณนั้นไม่ถูกกดทับเป็นเวลานาน และเป็นการลดความรุนแรงในการเกิดแผลกดทับลง ที่นอนลมแบ่งออกเป็น 2 ชนิดด้วยกัน ดังนี้
1.1 ที่นอนลมแบบลอนขวาง ทำจาก PVC มีลักษณะเป็นลอน 20-22 ลอนโดยประมาณ สลับการยุบพองของลอนทุกๆ 5 นาที ในกรณีที่มีลอนใดลอนหนึ่งชำรุดหรือมีรูรั่วสามารถถอดลอนเปลี่ยนได้
1.2 ที่นอนลมแบบรังผึ้ง หรือบับเบิ้ล ใช้การสลับความดันลมสลับยุบพองแต่ละจุดทุกๆ 8-9 นาที สามารถปรับระดับความนิ่มของที่นอนได้ แต่หากที่นอนชำรุดหรือมีรูรั่วเพียงจุดเดียว จะทำให้ที่นอนเสียหายทั้งหมดซึ่งยากต่อการซ่อมบำรุง
ข้อจำกัดของที่นอนกันแผลกดทับแบบลม
ที่นอนลมไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Phlebothrombosis) ผู้ป่วยกระดูกสันหลังหัก ซึ่งอาจมีการเคลื่อนที่ของกระดูก (Unstable spinal fractures) และผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บเกี่ยวกับไขสันหลัง มีการแตกหักของกระดูกที่ยังไม่เข้าที่ เนื่องจากการเคลื่อนไหวของผิวแผ่นที่นอนลมอาจเป็นอันตรายได้
2. ที่นอนยางพารา
ด้วยคุณสมบัติความเป็นยาง ได้แก่ ความยืดหยุ่นสูง จึงทำให้สามารถวางใจได้ว่าจะไม่เกิดการยุบตัวเป็นแอ่งของที่นอน อีกทั้งยังมีคุณสมบัติความนุ่มอย่างพอเหมาะ จึงช่วยกระจายแรงกดทับ พร้อมกับรองรับสรีระศาสตร์ของร่างกายได้เป็นอย่างดี โดยปกติแล้วที่นอนยางพารา (ลาเท็กซ์โฟม) มีความคงทนอย่างมาก ซึ่งมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากถึง 20 ปีเลยทีเดียว โดยเฉพาะที่เป็นยางพาราแท้ 100% อย่างไรก็ตามอายุการใช้งานของที่นอนอาจแปรผันตามน้ำหนักตัวและการใช้งานของผู้ป่วย
คุณสมบัติเด่นของที่นอนยางพารา คือไม่กักเก็บความชื้นและฝุ่นละออง จึงทำให้ที่นอนยางพาราไม่มีกลิ่นอับ เพียงแค่เปิดประตูและหน้าต่างให้ภายในห้องมีอากาศถ่ายเทอยู่เสมอและด้วยคุณสมบัติความเป็นยาง ทำให้มีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูง มั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดการยุบตัวเป็นแอ่งบนที่นอน โดยความนุ่มและความยืดหยุ่นของที่นอนยางพาราจะขึ้นอยู่กับปริมาณความเข้มข้นของยางพารา โดยปัจจุบันมีนวัตกรรมที่นอนยางพาราที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อป้องกันแผลกดทับ เพิ่มทางเลือกให้ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ดูแล
เหตุผลที่คนเปลี่ยนจากที่นอนลมไฟฟ้ามาใช้ที่นอนยางพารา
ที่นอน ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันมีทั้งหมด 4 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ ที่นอนยางพารา ที่นอนสปริง ที่นอนฟองน้ำอัด และที่นอนใยมะพร้าว โดยแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติ ข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป จากการสอบถามผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงและญาติมีความพึงพอใจต่อการเปลี่ยนที่นอนลมเป็นที่นอนยางพารามากที่สุด เหตุผลหลักๆคือเพื่อลดหรือรักษาแผลกดทับ นอกจากนี้ด้วยคุณสมบัติที่นอนยางพาราที่มีความยืดหยุ่นค่อนสูง ทำให้มั่นใจได้ว่าจะช่วยรองรับสรีระของผู้ป่วยติดเตียงได้เป็นอย่างดี ไม่อับชื้น ดูแลง่าย โดยรวมแม้ที่นอนยางพาราจะมีราคาที่สูงกว่าที่นอนลม แต่การเลือกใช้ที่นอนยางพาราสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล หากเกิดแผลกดทับ จากการจ่ายค่าไฟที่เกิดจากการใช้ที่นอนลม หรือแม้แต่ปัญหาที่อาจเกิดหากไฟฟ้าดับ หรือช็อต