เทคนิคพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียง

เทคนิคพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียง

เทคนิคพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียง มีความสำคัญสำหรับผู้ดูแล และผู้ป่วยที่ถูกจำกัดการเคลื่อนไหว เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสเกิดแผลกดทับ โดยปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยติดเตียงที่เป็นแผลกดทับเป็นปัญหาที่สำคัญ และพบบ่อยในผู้ป่วยผ่าตัดกระดูก ผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยหนักหรือไม่รู้สึกตัว เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ถูกจำกัดการเคลื่อนไหว และการทำกิจกรรมต่างๆลดลง จากภาวะของโรคและแผนการรักษาของแพทย์ การนอนนิ่งๆนานๆบนเตียง จะทำให้ปริมาณออกซิเจนมาเลี้ยงผิวหนังบริเวณที่ถูกกดทับน้อยลง เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อที่มีการกดทับ ซึ่งจะทำให้เกิดแผลได้ง่าย ดังนั้นผู้ป่วยผ่าตัดกระดูก ผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยหนักหรือไม่รู้สึกตัว จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีการหักของกระดูกหลายตำแหน่ง

เทคนิคพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียง

นอกจากนี้แผลกดทับยังเป็นปัญหาสำคัญที่คุกคามทั้งชีวิตและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยติดเตียงโดยตรง ในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงจึงจำเป็นต้องพลิกตัวผู้ป่วยบ่อยๆ และในการพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงนั้นจะต้องพลิกตัวไม่ซ้ำกับท่าเดิม บางครั้งผู้ดูแลที่พลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงอาจจะไม่ใช่คนเดียวกัน จึงทำให้เกิดการพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงในท่าที่ซ้ำๆกันหรืออาจจะลืมพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียง

วัตถุประสงค์ในการพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียง

  1. ลดการเกิดแผลกดทับ และความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะการเจ็บป่วย
  2. ลดความตึงเครียด ความซึมเศร้า ของผู้ป่วยติดเตียงที่มีแผลกดทับ
  3. กระตุ้นให้ผู้ป่วยติดเตียงเปลี่ยนท่านอนบ่อยๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับ
  4. ลดภาวะแทรกซ้อนจากการถูกจำกัดการเคลื่อนไหว เช่น ปอดอักเสบ เป็นต้น

ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่ควรมีเครื่องช่วยเตือนการพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงที่มีแผลกดทับ ดูแลผู้ป่วยไม่ให้เป็นแผลกดทับด้วยนาฬิกาเตือนใจพลิกตัวผู้ป่วย

แผลกดทับ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว และการเกิดแผลกดทับนั้น เสี่ยงต่อการติดเชื้อและอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้ การพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงอย่างช้าที่สุด ทุก ๆ 2 ชั่วโมง จึงเป็นเรื่องสำคัญ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงทุกๆ 2 ชั่วโมง

พลิกตัวผู้ป่วย

“นาฬิกาพลิกเตือนใจพลิกตัวผู้ป่วย” เป็นหนึ่งใน เทคนิคพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียง ที่จะช่วยให้การดูแลผู้ป่วยนอนติดเตียงให้มีสุขอนามัยที่ดี ปลอดภัยจากการเกิดแผลกดทับ
เริ่มจาก……………

  • 6 โมงเช้า → ตะแคงซ้าย
  • 8 โมงเช้า → นอนหงาย
  • 10 โมงเช้า → ตะแคงขวา
  • เที่ยงวัน → ตะแคงซ้าย
  • บ่าย 2 → นอนหงาย
  • 4 โมงเย็น → ตะแคงขวา
  • 6 โมงเย็น → ตะแคงซ้าย

นาฬิกาเตือนพลิกตัว

นาฬิกาพลิกเตือนใจพลิกตัวผู้ป่วย

สำหรับช่วงกลางคืนแนะนำให้ผู้ดูแลใช้อุปกรณ์เสริมช่วย คือ ที่นอนลม/ ที่นอนโฟม/ ที่นอนยางพารแบบป้องกันแผลกดทับ เพื่อลดการกดทับปุ่มกระดูกซึ่งสามารถช่วยได้มาก ทั้งนี้การพลิกตัวผู้ป่วยทุก2 ชั่วโมงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย หากผู้ป่วยนอนหงายนานเกินกว่า 2 ชั่วโมง อาจจะเกิดแผลกดทับที่ก้นกบง่ายขึ้น เพราะเป็นส่วนที่รับน้ำหนักทั้งหมดตามแรงโน้มถ่วงของโลก อีกบริเวณคือส้นเท้าที่จะเกิดได้ง่าย ผู้ดูแลต้องใช้หมอนนุ่มรองบริเวณเท้าทั้งสองข้างเพราะสามารถลดแรงกดบริเวณส้นเท้า และควรใช้หมอนข้างหนุนช่วงใต้เข่าไว้เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกเกร็งที่หลัง เพื่อให้กล้ามเนื้อหลังหย่อนตัวลงและช่วยยกส้นเท้าให้สูงลอยจากพื้นซึ่งเป็นการจัดท่านอนสำหรับผู้ป่วยที่นอนในท่านอนหงาย และเมื่อถึงเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงจึงควรเปลี่ยนท่านอนให้ผู้ป่วย แต่การพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยต้องดูลักษณะของเตียงด้วย ถ้าเป็นเตียงแข็งมาก ต้องพลิกตัวบ่อย หรือถ้าน้ำหนักตัวของผู้สูงอายุมากก็ต้องพลิกก่อน 2 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเตียงนุ่มหรือใช้อุปกรณ์เสริมอื่นๆช่วยเราอาจจะพลิกตัวผู้ป่วยช้ากว่า 2 ชั่วโมงได้ คลิกเพื่อเรียนรู้วิธีพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงให้ถูกต้อง

ที่นอนป้องกันแผลกดทับ

สรุปการป้องกันการเกิดแผลกดทับเป็นสิ่งสำคัญมาก ผู้ดูแลควรใส่ใจในการพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยโดยการใช้ “นาฬิกาพลิกเตือนใจพลิกตัวผู้ป่วย” นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืมคือการจัดสิ่งแวดล้อมให้สะอาด ผ้าปูที่นอนต้องเรียบตึง ผู้ป่วยควรสวมเสื้อผ้าไม่หลวมหรือคับเกินไปร่วมกับการดูแลผิวหนังผู้ป่วยทุกครั้งที่เปลี่ยนท่านอน และต้องตระหนักในการพูดคุยกับผู้ป่วยก่อนพลิกตัวเพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความร่วมมือ ด้วยความห่วงใยและใส่ใจของผู้ดูแลจะพบว่าผู้ป่วยสุขสบายขึ้นและลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการเกิดแผลกดทับ

เทคนิคพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียง