อุปสรรคในการพักผ่อนของผู้ป่วยติดเตียง

อุปสรรคในการพักผ่อนของผู้ป่วยติดเตียง

อุปสรรคในการพักผ่อนของผู้ป่วยติดเตียง มีอะไรบ้าง และจะแก้ได้อย่างไร เพราะการนอนหลับคือการพักผ่อนที่ดีที่สุด และมีความสำคัญต่อสุขภาพทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจของผู้ป่วยติดเตียง การนอนหลับทำหน้าที่เปรียบเสมือนผู้ดูแลสุขภาพสากลที่ไม่มีค่าใช้จ่ายและถือเป็นยาอายุวัฒนะสำหรับความผาสุขและการมีพลังงานสำหรับการดำรงชีวิต ประโยชน์ของการนอนหลับมีหลายประการเช่น

  1. มีการซ่อมแซมเนื้อเยื่อและสังเคราะห์โปรตีนเพิ่มมากขึ้น
  2. ทำให้อวัยวะทุกส่วนในร่างกายได้รับการฟื้นฟูมีการผลิตฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต เพิ่มขึ้น
  3. ส่งเสริมการทำหน้าที่ทางด้านร่างกายและสมองหลายส่วน
  4. ส่งเสริมความสามารถในการเรียนรู้และความจำ การตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล
  5. ส่งเสริมสุขภาพด้านจิตใจและอารมณ์ขณะนอนหลับร่างกายมีการควบคุมการทำหน้าที่ทางสรีรวิทยาด้านต่างๆ และการควบคุมสมดุลของร่างกายนอกจากนี้ขณะนอนหลับในระยะการหลับลึกมีการเก็บกัก กรองและจัดระบบการรู้คิดและอารมณ์

อุปสรรคในการพักผ่อนของผู้ป่วยติดเตียง

ปัญหาการนอนหลับไม่เพียงพอมีผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ผลกระทบระยะสั้น ได้แก่ ประสิทธิภาพการทำงานและความตื่นตัวลดลง ความจำและการรู้คิดบกพร่อง ปัญหาสัมพันธภาพ ผลกระทบระยะยาว ได้แก่ ปัญหาสุขภาพร่างกายเพิ่มขึ้น (เช่น การทำหน้าที่ของสมองบกพร่อง ความจำและการรู้คิดบกพร่อง มีภาวะหลงลืม พลังงานในร่างกายลดลง การทำหน้าที่ด้านการเคลื่อนไหวลดลงระดับน้ำตาลสูงขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคเบาหวาน)ปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล

อุปสรรคในการพักผ่อนของผู้ป่วยติดเตียง
ผู้ป่วยติดเตียงนอนไม่หลับหรือตื่นบ่อยในช่วงกลางคืน มีสาเหตุหลักดังนี้

1.ความผิดปกติทางด้านอารมณ์ การยอมรับตนเอง ความพึงพอใจในชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้ป่วยติดเตียง การอยู่ร่วมกับครอบครัว และสัมพันธภาพที่เปลี่ยนไประหว่างคนในครอบครัวเป็นปัญหาสำคัญ ที่มักก่อให้เกิดความเครียด ความกังวลและส่งผลต่อปัญหาการนอนไม่หลับ หรือพักผ่อนไม่เพียงพอของผู้ป่วยติดเตียง อาจทำให้ตื่นกลางดึก แล้วนอนต่อไม่ค่อยหลับ
การแก้ไข

  • 1.1ผู้ดูแลควรเป็นผู้ฟังที่ดี ชื่นชมในสิ่งที่ผู้ป่วยติดเตียงเล่าให้ฟัง
  • 1.2ผู้ดูแลควรใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวล อ่อนโยน ยิ้มรับในทุกเรื่องและทุกครั้งกับผู้ป่วยติดเตียง
  • 1.3ผู้ดูแลควรสร้างอารมณ์ขันแก่ผู้ป่วยติดเตียง การหัวเราะจะช่วยสร้างสุขภาพจิตที่ดี
  • 1.4ผู้ดูแลควรปรับวิธีคิด ไม่ควรยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง หรือเอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่หรือถูกต้องเสมอ พร้อมให้ข้อคิดเช่น “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”
  • 1.5ผู้ดูแลควรหมั่นทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้ป่วยติดเตียง ดูรายการทีวีที่สนุกๆร่วมกัน กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ป่วยติดเตียงรู้สึกเพลิดเพลินและช่วยให้ผู้ป่วยไม่หมกมุ่นกับความคิดเดิมๆ
  • 1.6เมื่อผู้ป่วยติดเตียงหงุดหงิด ผู้ดูแลไม่ควรต้องตอบโต้ด้วยความรุนแรง พยายามเบี่ยงเบนไปสนใจเรื่องอื่นแทน ผู้ดูแลจำเป็นต้องเรียน วิธีรับมือกับอารมณ์ผู้ป่วยติดเตียง เนื่องจากสภาวะที่เปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยคลายความหงุดหงิด และปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น
  • 1.7ผู้ดูแลควรหาอาหารของโปรดให้ผู้ป่วยติดเตียงทาน ให้ความสำคัญกับรายการอาหารโปรดของผู้ป่วย แต่ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละท่านด้วย นอกจากนั้นการเสริมอาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วยติดเตียงยังมีความสำคัญในการช่วยฟื้นฟูร่างกายให้ผู้ป่วย
  • 1.8 ผู้ดูแลอาจใช้ธรรมะในการดูแลด้านจิตใจได้แก่ฟังวิทยุธรรมะฟังเทปธรรม แต่ถ้าผู้ป่วยติดเตียงไม่ชอบอาจเปลี่ยนเป็นอ่านหนังสือที่ผู้ป่วยชื่นชอบ
  • 1.9ผู้ดูแลควรแสดงความรักต่อกันในครอบครัวให้ผู้ป่วยติดเตียงเห็น เช่น การกอด การหอมแก้ม และผู้ดูแลควรสัมผัสผู้ป่วยด้วยความรัก มีการโอบกอดบ้างและบอกรักแก่ผู้ป่วยเป็นประจำ

อุปสรรคในการพักผ่อนของผู้ป่วยติดเตียง

2.ปัจจัยด้านพฤติกรรม พฤติกรรมที่มีผลต่อการนอนหลับ ได้แก่ การขาดการบริหารร่างกาย การไม่ได้รับการจัดการความเครียด แบบแผนการนอนหลับไม่ได้ปรับให้เข้ากันระหว่างผู้ป่วยติดเตียงกับผู้ดูแล ผู้ป่วยติดเตียงนอนกลางวันมากไป การได้รับสารต่างๆ (เช่น คาเฟอีน แอลกอฮอล์และนิโคติน)จะทำให้นอนไม่หลับได้
การแก้ไข

  • 2.1.ใช้เทคนิคการผ่อนคลาย การนวดกดจุดให้ผู้ป่วยติดเตียง เพื่อให้ผู้ป่วยติดเตียงผ่อนคลาย และกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสดชื่น มีเรี่ยวมีแรงมากขึ้น การนวดกดจุดฝ่าเท้าเป็นวิธีการกด นวดกระตุ้นฝ่าเท้ารวมทั้งหลังเท้าและข้อเท้าตามตำแหน่งพื้นที่สะท้อน ซึ่งเป็นตัวแทนอวัยวะในร่างกายเพื่อให้มีผลเกิดแก่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ปรับร่างกายให้เกิดความสมดุล แก้ไขภาวะความไม่สมดุลเพื่อทำให้ร่างกายกลับคืนสู่สภาวะปกติ ช่วยให้ระบบการไหลเวียนโลหิตภายหลังการนวดกดจุดฝ่าเท้าจะส่งผลให้ร่างกายผ่อนคลายความตึงเครียดและการเกร็งตัวของระบบกล้ามเนื้อ
  • 2.2.การสัมผัส นับเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยในการบำบัดความเครียดที่ได้ผลยิ่งกว่ายาคลายเครียด เนื่องจากจะช่วยผลิตสารอ็อกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยลดความเครียด สร้างความสุข และเพิ่มความอบอุ่นให้กับตัวผู้ให้และผู้รับได้มากเป็นพิเศษ วิธีการสัมผัสด้วยการกอดเปรียบเสมือนเป็นยาทางใจที่ทำให้ร่างกายและจิตใจมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ง่ายๆ โดยวิธีการกอดนั้นๆจะทำให้ผู้ป่วยติดเตียงรู้สึกผ่อนคลาย อบอุ่นและปลอดภัยเป็นอย่างมาก อ้อมกอดจากคนรัก จะช่วยทำให้อาการเครียดที่มีดูเบาบางลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ!
  • 2.3.การวางแผนจัดกิจกรรมการพยาบาลเพื่อไม่ให้รบกวนผู้ป่วยติดเตียงโดยไม่จําเป็น เนื่่องจากผู้ป่วยติดเตียงต้องถูกปลุกบ่อยครั้งเพื่อรับการรักษาพยาบาล หรือปลุกตอนเช้าเพื่่อทําความสะอาดร่างกายและรับประทานอาหาร ดังนั้นควรจัดลําดับความสําคัญของการทํากิจกรรมการพยาบาล และพิจารณาว่ากิจกรรมใดบ้างที่ไม่จําเป็นต้องทําในระหว่างที่ผู้ป่วยนอนหลับ หากเป็นไปได้ควรทํากิจกรรมการพยาบาลขณะที่ผู้ป่วยตื่่น หากไม่สามารถทําได้ ก็ควรหลีกเลี่ยงการปลุกผู้ป่วย

พฤติกรรมการนอนของผู้ป่วย

3.ความผิดปกติระหว่างนอนหลับ แขนขากระตุกขยับผิดปกติในขณะหลับหรือโรคขากระตุกขณะหลับตื่นจากการเคลื่อนไหวของขาซ้ำๆโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นการหดเกร็งของกล้ามเนื้อในระยะเวลาสั้นๆ มักมีอาการนิ้วเท้าเหยียด ข้อเท้า เข่าหรือข้อสะโพกงอ ทำให้ขากระตุกหรือการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่แขน ขาหรือเท้าเป็นจังหวะ มีอาการขาหรือแขนกระตุกเป็นพักๆ ตลอดทั้งคืน อาจทำให้นอนหลับไม่สนิทจากการตื่นกลางคืนหากมีการกระตุกมากกว่า 5 ครั้งต่อชั่วโมงขึ้นไป แม้ผู้สูงอายุอาจไม่รู้สึกตัวว่าตื่นกลางดึก ผู้สูงอายุมักจะมีอาการนอนไม่หลับ ตื่นบ่อย และง่วงเวลากลางวันมากขึ้น รบกวนการนอนหลับเรื้อรัง ส่งผลให้หงุดหงิดและอารมณ์เปลี่ยนแปลงโดยรวมแล้วทำให้มีคุณภาพการนอนแย่ลง
การแก้ไข

  • 3.1.กายบริหารผู้ป่วยติดเตียงในท่าต่างๆ ท่าหมุนข้อมือ ท่ายืดเหยียดนิ้ว และฝ่ามือ ท่ายกแขน จะช่วยให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมในช่วงกลางวันมากขึ้น
  • 3.2.ตรวจสอบรายละเอียดของยาของผู้ป่วยติดเตียง/ผู้สูงอายุที่รับประทานประจำ ว่าอาจมีการใช้หรือได้รับสารอื่นๆ ที่มีผลต่อการนอนหลับในผู้ป่วย/ผู้สูงอายุ เช่นยารักษาอาการซึมเศร้า จะกดการนอนหลับได้ คาเฟอีน จากอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ชา กาแฟ หลับยากทำให้ตื่นระหว่างคืน

ปัญหาการนอนของผู้ป่วย

ขอสรุปวิธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วยติดเตียงที่ส่งเสริมคุณภาพการนอนหลับที่ดีขึ้น คือ การสร้างสุขนิสัยในการนอนหลับ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการนอนหลับ การปรับเปลี่ยนความคิดเพื่อลดความวิตกกังวล การใช้เทคนิคการผ่อนคลายต่างๆ เพื่อส่งเสริมการนอนหลับ นอกจากคุณภาพการนอนหลับของผู้ป่วยติดเตียงดีขึ้นแล้วยังส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวจากโรคในผู้ป่วยติดเตียงดีขึ้นด้วย