ปัจจุบันการรักษาบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยติดเตียงด้วยอุปกรณ์กายภาพบำบัดมีหลากหลายรูปแบบเนื่องจากอุปกรณ์กายภาพบำบัดที่ใช้กับผู้ป่วยต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับวิธีการรักษาของผู้ป่วย ความสะดวกสบายในการใช้งาน และวัสดุที่ใช้ต้องมีความคงทนและปลอดภัย ผู้ป่วยติดเตียงบางคนอาจจะพอขยับร่างกายบางส่วนได้บ้าง แต่บางคนก็ขยับไม่ได้ หรืออาจไม่รู้สึกตัวเลย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการนอนติดเตียง มักเกิดจากโรคทางสมองหรืออุบัติเหตุต่าง ๆ ซึ่งการที่ต้องนอนติดเตียงเป็นเวลานาน สิ่งที่ตามมาคือโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เพิ่มโอกาสการเสียชีวิตของผู้ป่วย เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ การเกิดแผลกดทับ
ดังนั้น ผู้ดูแลจึงจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างใกล้ชิด โดยมีเป้าหมายหลัก ดังนี้
1.เพื่อให้ผู้ป่วยติดเตียงมีสุขภาพและสุขอนามัยที่ดีขึ้น ไม่มีโรคหรือภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลกดทับ การติดเชื้อ การข้อติด
2.ลดโอกาสนำผู้ป่วยติดเตียงส่งโรงพยาบาล เพราะหากผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแล มีอาการทรุดลงหรือมีภาวะแทรกซ้อน ก็จำเป็นต้องส่งตัวผู้ป่วยติดเตียงไปโรงพยาบาล ซึ่งการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียงในแต่ละครั้ง มีทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย และอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายมากมาย
3.ลดภาระของผู้ดูแลลง เพราะหากดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยติดเตียงได้อย่างดี ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีขึ้น ในบางรายอาจกลับมาช่วยเหลือตัวเองได้
การใช้อุปกรณ์หลักในการช่วยลดแรงกดทับ สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
แบบที่ 1 อุปกรณ์ช่วยกระจายแรงกดทับชนิดแบบเคลื่อนที่ได้หรือสลับไปมา (Alternating pressure)
เช่นที่นอนลมแบบระบบท่อลมทำงานโดยใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนของลม เกิดการยุบและพองตัว ที่นอนประเภทนี้สามารถกระจายแรงกดทับที่เกิดขึ้นกับทุกส่วนของร่างกายที่สัมผัสกับที่นอน แต่มักจะต้องอาศัยไฟฟ้าในการทำให้ลอนที่นอนยุบ-พอง สลับกันไปมา และการยุบ-พองไปมาของลม ก็อาจรบกวนผู้ป่วยขณะนอนหลับได้
แบบที่ 2 อุปกรณ์ช่วยกระจายแรงกดชนิดแบบอยู่กับที่ (Static pressure)
เช่นที่นอนผู้ป่วยติดเตียง ที่นอนป้องกันแผลกดทับที่ทำจาก ยางพารา เจล โฟม หรือขนแกะ เป็นต้น การทำงานจะเป็นลักษณะกระจายแรงกดเฉพาะที่พื้นผิวสัมผัสร่างกาย โดยผู้ป่วยไม่ต้องถูกรบกวนจากการเคลื่อนที่สลับยุบ-พอง ไปมาของที่นอน ปัจจุบันมีนวัตกรรมที่นอนป้องกันแผลกดทับชนิดไม่มีการเคลื่อนที่ของลม ช่วยกระจายน้ำหนักร่างกายลดแรงกดทับ ให้เลือกหลายแบบ ซึ่งผู้ดูแลควรจะพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้งานสำหรับผู้ป่วยแต่ละท่าน เริ่มตั้งแต่ น้ำหนักตัวผู้ป่วย อาการของผู้ป่วย ระดับแผลกดทับของผู้ป่วย (ถ้ามี) ระดับความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองของผู้ป่วย โรคแทรกซ้อนอื่นๆที่ผู้ป่วยอาจมี เช่นภูมิแพ้ ความดัน โรคหัวใจ เป็นต้น เพราะหากผู้ป่วยมีโรคหัวใจร่วมด้วย การใช้ที่นอนลม อาจจะไม่เหมาะในกรณีที่ผู้ป่วยต้องทำการปั๊มหัวใจฉุกเฉิน หรือถ้าผู้ป่วยเป็นภูมิแพ้ ที่นอนโฟมที่มีโอกาสเกิดไรฝุ่นมากกว่าที่นอนประเภทอื่น ก็อาจจะไม่เหมาะสมเช่นกัน
นอกเหนือจากที่นอนที่ช่วยกระจายแรงกดทับ ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์หลักในการป้องกันแผลกดทับแล้ว อุปกรณ์เสริมอื่นๆ และการดูแลของผู้ดูแลต่อไปนี้ ก็มีส่วนสำคัญในการช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ป่วย และลดโอกาสเกิดแผลกดทับได้เช่นกัน
- เตียงปรับระดับสำหรับผู้ป่วย: นอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยได้ปรับเปลี่ยนท่าได้อย่างง่ายๆแล้ว ฟังก์ชั่นการปรับยกส่วนหลังให้เหมือนท่านั่ง และการยกส่วนขาของเตียงปรับระดับ ยังช่วยคลายเมื่อย ป็นการช่วยออกกำลังกาย ให้เลือดลมไหลเวียด ลดอาการปวดกล้ามเนื้อได้อีกด้วย ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเตียงปรับระดับที่ช่วยเอียงตัวผู้ป่วยซ้าย-ขวาได้อีกด้วย เพิ่มความสะดวกสบายให้ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลในการพลิกตัวเป็นอย่างมาก โดยผู้ดูแลสามารถหาข้อมูลการเลือกเตียงผู้ป่วยได้เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยไม่สะดวกในการใช้เตียงปรับระดับสำหรับผู้ป่วย การที่ผู้ดูแลคอยช่วยนวด หรือคอยช่วยทำกายภาพให้ ก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วยเลือดลมไหลเวียด และลดอาการปวดกล้ามเนื้อได้ดีเหมือนกัน
- หมอน: ถือเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการรองปุ่มกระดูกได้ดี พบว่ามีการใช้หมอนใบเล็ก หรือผ้าขนหนูม้วน สอดคั่นบริเวณตาตุ่ม เมื่อจัดท่านอนตะแคง มักใช้หมอนข้างยาว หรือหมอนสอดคั่นบริเวณระหว่างขาทั้ง 2 ข้าง เพื่อช่วยในการกระจายแรงกดทับได้ สำหรับครอบครัวที่ใช้ที่นอนของผู้ป่วยวางบนพื้น หรือเตียงไม้ สามารถใช้หมอนสอดรองหลัง ศีรษะ ช่วยได้ ไม่ควรใช้ถุงมือยางใส่น้ำรองบริเวณข้อหรือผิวหนัง เนื่องจากจะทำให้ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับถุงมือยางมีการระบายอากาศถ่ายเทไม่ดี เกิดความอับชื้นซึ่งเป็นปัจจัยในการเกิดแผลกดทับ
- การพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยติดเตียงทุก 2 ชั่วโมง มีการใช้ “เทคนิค ยก จัด ดึง ดู”
- ยกคือ การยกผู้ป่วยไม่ลาก
- จัด คือ การจัดท่าทางในการนั่งหรือนอนโดยมีอุปกรณ์รอง เพื่อลดแรงกดบริเวณปุ่มกระดูก
- ดึง คือ จัดดึงผ้าปูที่นอน เสื้อผ้าที่สวมใส่ให้เรียบไม่เป็นรอยยับ
- ดู คือ ประเมินดูบริเวณผิวหนังทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนท่า
สำหรับผู้ป่วยติดเตียง สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษเลยก็คือเรื่องของแผลกดทับ เพราะผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถลุกนั่ง หรือเปลี่ยนท่านั่ง ท่านอนได้เอง จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับมากที่สุด ผู้ดูแลจึงต้องขยับพลิกตัวเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย แต่ต้องระวังเรื่องการยกหรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่มีร่างกายน้ำหนักมาก ญาติผู้ดูแลมีการรองผ้าและดึงผ้าที่รองในการช่วยเคลื่อนย้าย ไม่สามารถยกได้ เนื่องจากต้องใช้จำนวนคนอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป ส่วนใหญ่บริบทบ้านที่อาศัยในช่วงเวลากลางวันญาติผู้ดูแลจะอยู่เพียงคนเดียว ในการดึงหรือลากมีโอกาสทำให้เกิดแผลกดทับได้
- การทำความสะอาดผู้ป่วยติดเตียง: ควรเช็ดตัวผู้ป่วยติดเตียงที่เตียงนอน หรือยกผู้ป่วยใส่รถเข็นแบบนั่งแล้วพาไปอาบน้ำ ระยะเวลาผู้ป่วยนั่งอาบน้ำที่พอเหมาะ ประมาณ10-30 นาที เพราะการที่ทำความสะอาดตัวผู้ป่วย นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสดชื่นขึ้น ยังช่วยป้องกันการอับชื้นที่ส่วนหนึ่งส่วนใดในร่างกาย ที่อาจจะทำให้เกิดแผลกดทับได้ แล้วยังช่วยให้ผู้ดูแลได้สังเกตส่วนต่างๆในร่างกายผู้ป่วยว่ามีแผลกดทับหรือไม่ด้วย
- การดูแลผิวหนังของผู้ป่วยติดเตียง: เพราะผิวหนังที่อ่อนแอ ย่อมทำให้เกิดแผลกดทับได้ง่าย ผู้ดูแลจึงความทำความสะอาดผิวหนังให้ผู้ป่วย อาจใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวให้ผิวหนังผู้ป่วยชุ่มชื้นอยู่เสมอ และไม่ควรมองข้ามอภาวะโภนาการ ซึ่งถือเป็นสารบำรุงผิวที่ดี
กล่าวโดยสรุปผู้ป่วยติดเตียง ไม่จำเป็นจะต้องนอนอยู่บนเตียงเพียงอย่างเดียวเสมอไป แม้อาจจะออกกำลังกายไม่ได้ แต่การได้อาบน้ำ สระผม ทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ช่วยกายภาพผู้ป่วยติดเตียงไปในตัวทั้งนั้นเลย ซึ่งการใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยเช่นที่นอนยางพารา ที่นอนโฟม หรือที่นอนลมจะช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับ รวมทั้งของใช้ผู้ป่วยติดเตียงต่างๆจะช่วยให้การทำกิจวัตรของผู้ป่วยเป็นไปได้อย่างราบรื่นและสะดวกมากขึ้น ไม่เพียงแค่นั้น ยังช่วยลดอุบัติเหตุต่อผู้ป่วยติดเตียงได้อีกด้วย