อุปกรณ์และการเตรียมความพร้อม ในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง

เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยติดเตียงเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิด และเป็นเรื่องใหม่สำหรับใครหลายๆคน การเตรียมความพร้อม การจัดเตรีมอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยติดเตียง เพื่อการดูแลที่บ้านจึงเป็นเรื่องที่ผู้ดูแลส่วนใหญ่กังวล

ผู้ป่วยติดเตียง ในทางการแพทย์ หมายถึง ผู้ป่วยที่ร่างกายเสื่อมโทรมจนต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา ซึ่งอาจขยับตัวได้บ้างแต่ก็ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในเรื่องอื่น ๆ ได้เลย โดยสาเหตุของการเป็นผู้ป่วยติดเตียงนั้นอาจมีได้มากมายไม่ว่าจะเป็นการประสบอุบัติเหตุ การผ่าตัดใหญ่ ไปจนถึงโรคประจำตัวก็ได้เช่นกัน และผลข้างเคียงสําหรับผู้ป่วยที่มีอาการนอนติดเตียงนั้นก็มีมากมาย ในบางกรณีอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยก็คือ เกิดแผลกดทับ มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น และเนื่องจากผู้ป่วยติดเตียงนั้นไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในการฟื้นฟูร่างกายได้มากนัก จึงจำเป็นต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ และโดยเฉพาะในช่วงนี้ที่การพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 ยังมีอยู่มาก ทำให้การไปโรงพยาบาลอาจจะเพิ่มความเสี่ยง และสําหรับคนที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ถ้าเป็นไปได้ ก็น่าจะอยากกลับมารักษาตัวต่อที่บ้าน ที่ที่เราเชื่อว่าปลอดภัยที่สุด และได้ดูแลคนที่เรารัก เลยมีคําถามเกิดขึ้นว่าหากเราต้องเตรียมความพร้อมในการผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง เราต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรบ้าง มีอุปกรณ์ที่ควรต้องมี ต้องใช้เพื่อการดูแลผู้ป่วยติดเตียงอะไรบ้าง

 

  1. ที่นอนสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ที่นอนป้องกันแผลกดทับ

เมื่อพูดถึงอุปกรณ์ในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง หลักๆที่คนส่วนใหญ่นึกถึงเป็นอันดับต้นๆ คงไม่พ้นที่นอนป้องกันแผลกดทับ และเตียงสำหรับผู้ป่วยติดเตียง เนื่องจากที่นอนและเตียงจะเป็นสถานที่ๆผุ้ป่วยติดเตียงต้องใช้เวลาอยู่ด้วยเป็นเวลานานที่สุด

ที่นอนที่ออกแบบมาสำหรับผู้ป่วยติดเตียงโดยเฉพาะมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะหากผู้ป่วยติดเตียงนอนบนที่นอนที่ทำให้เกิดแรงกดทับมากจนเกินไป จะทำให้ผู้ป่วยเกิดแผลกดทับได้ ซึ่งแผลกดทับหากเป็นมากขึ้น และไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจจะลุกลามจนเกิดการติดเชื้อและเป็นอันตรายแก่ผู้ป่วยได้ ดังนั้นผู้ดูแลควรเลือกที่นอนที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยติดเตียง โดยที่นอนสำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่ช่วยป้องกันแผลกดทับสามารถแบ่งออกเป็น 3 แบบหลักๆดังนี้

  • ที่นอนลม ที่นอนลมมีให้เลือกทั้งแบบที่เป็นลอนขวาง และแบบรังผึ้ง ที่นอนลมถือเป็นที่นอนที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด ด้วยราคาและความสะดวกในการเคลื่อนย้าย การทำงานของที่นอนลมในการป้องกันแผลกดทับจะแตกต่างจากที่นอนทั่วๆไปตรงที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการทำให้ลอนพองยุบตามจังหวะ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับที่นอนลมกับการป้องกันแผลกดทับ
  • ที่นอนโฟม มีทั้งแบบแผ่นเรียบและแบบกมีรอยตัดสลับกันเป็นลอนคลื่น รองรับน้ำหนักได้มาก มีคุณสมบัติกระจายแรงกดทับ เหมาะกับผู้ป่วยที่ยังรู้สึกตัว และยังเคลื่อนไหวได้ สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทั่วไป จนถึงผู้ป่วยที่เกิดแผลกดทับในระยะเริ่มเต้น
  • ที่นอนยางพารา ด้วยเนื้อยางพาราเป็นเนื้อที่มีความหนาแน่น พร้อมทั้งมีรูระบายอากาศทั่วทั้งแผ่น นอกจากจะไม่แข็งจนทำให้เกิดแรงกดทับที่มากแล้ว ยังช่วยระบายความร้อน และยืดหยุ่นรองรับน้ำหนักของผู้ป่วยได้ดีที่สุด ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตลอดทั้งวัน ที่นอนยางพาราจึงเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ป่วยติดเตียง

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลือกที่นอนสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ข้อดี ข้อเสียของที่นอนแต่ละประเถท

 

  1. เตียงสำหรับผู้ป่วยติดเตียง เตียงปรับระดับ

ข้อดีของเตียงผู้ป่วยที่แตกต่างจากเตียงธรรมดานั้น คือเตียงผู้ป่วยสามารถปรับจุดต่างๆของเตียง ให้เข้ากับสรีร่างกายของผู้ป่วยหรือผู้ใช้งานเตียงได้ เช่น ปรับเตียงให้ผู้ใช้งานสามารถลุกขึ้นมานั่งหรือทานข้าวได้ ยิ่งเป็นเตียงที่มีฟังก์ชันการปรับระดับเยอะ ยิ่งสามารถเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้งานเตียงและผู้ดูแลได้มาก หากใช้เตียงนอนธรรมดา แน่นอนว่า การดูแลรักษาและการเข้าถึงผู้ป่วยนั้นจะค่อนข้างลำบากกว่าที่ควร โดยเตียงผู้ป่วยมีทั้งรูปแบบที่เป็นแบบใช้มือหมุนและระบบไฟฟ้า ซึ่งก็สามารถหาซื้อมาเพื่อความสะดวกในการดูแลผู้ป่วยได้

 

  1. อุปกรณ์ช่วยในการขับถ่าย ผ้าอ้อมผู้ใหญ่

สิ่งอำนวยความสะดวกสำคัญที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวและไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างสะดวก หรือผู้ป่วยติดเตียงคือผ้าอ้อมสำหรับผู้ใหญ่

การเลือกซื้อผ้าอ้อมผู้ใหญ่สำเร็จรูป

  • พิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป: โดยให้ดูว่าผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียงของท่านมีความจำเป็นในการใช้หรือไม่และมากน้อยเพียงใด หากผู้สูงอายุยังคงเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก หรือผู้ป่วยติดเตียงที่สามารถบอกความต้องการขับถ่ายได้ อาจจะยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ผ้าอ้อม เพราะการใส่ผ้าอ้อม อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอึดอัด หรือเพิ่มความอับชื้นให้กับผิวหนังโดยไม่จำเป็น
  • พิจารณาถึงผู้ใช้งาน: เนื่องจากผ้าอ้อมผู้ใหญ่สำเร็จรูปจะมีทั้งแบบกางเกงสำหรับผู้สูงอายุที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ และแบบเทปกาวสำหรับผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง
  • พิจารณาถึงวิธีการขับถ่ายและปริมาณปัสสาวะ: การขับถ่ายของผู้สูงอายุเป็นแบบใด และปริมาณปัสสาวะในแต่ละครั้งมากน้อยเพียงใด นอกจากปริมาณปัสสาวะจะช่วยให้เลือกผ้าอ้อมที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยแล้ว ยังช่วยให้ผู้ดูแลกะระยะเวลาในการเปลี่ยนผ้าอ้อมได้อีกด้วย
  • พิจารณาขนาดของผู้ใส่ / ขนาดของผ้าอ้อม: ควรเลือกซื้อผ้าอ้อมที่มีขนาดเหมาะสมกับผู้สูงอายุ ใส่แล้วไม่หลวมหรือคับจนเกินไป
  • พิจารณาถึงคุณภาพของผ้าอ้อมแต่ละชนิด: คุณภาพของผ้าอ้อมผู้ใหญ่สำเร็จรูปที่ดีย่อมใส่แล้วรู้สึกสบาย ป้องกันการรั่วซึมและซึมซับได้ดี ระบายอากาศและความร้อนดี ไม่ทำให้อับชื้น และลดการเกิดผดผื่นจากความอับชื้น

 

  1. ผ้ากันเปียก และแผ่นรองซับ ช่วยในการซับปัสสาวะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อป้องกันการเลอะที่นอน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดเชื้อโรคติดข้างในที่นอนได้

 

  1. สำลีม้วน และกระดาษทิชชู กระดาษเปียกใช้สำหรับเช็ดทำความสะอาดผู้สูงอายุ เช่น หลังจากถ่ายอุจาระหรือระหว่างเปลี่ยนแพมเพิส

 

  1. อุปกรณ์ทำความในการดูแลบาดแผล และทำความสะอาดก็ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ได้มาตรฐาน อีกทั้งควรเลือกที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม เพื่อป้องกันการระคายเคือง และอาการแพ้สารเคมีบางประเภทของผู้ป่วยได้

 

  1. อาหารและสายยางทางอาหารสำหรับผู้ป่วย

สำหรับเรื่องอาหารการกินของผู้ป่วย จะต้องระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ เพราะถ้าหากผู้ป่วยที่นอนติดเตียงนอนรับประทานอาหาร อาจจะทำให้ผู้ป่วยเกิดการสำลักอาหารได้และที่แย่ไปกว่านั้นก็คืออาจจะทำให้เศษอาหารหลุดเข้าไปในหลอดลมจนส่งผลให้ปอดเกิดการอักเสบติดเชื้อได้  หรือเศษอาหารมีชิ้นใหญ่ อาจทำให้ไปอุดตันหลอดลมจนกระทั่งขาดอากาศหายใจได้เลยทีเดียว เพราะฉะนั้น ผู้ดูแลจะต้องมีวิธีการดูแลเอาใจใส่ คอยสังเกตุอาการผู้ป่วยให้มากเป็นพิเศษ หรืออาจจะใช้วิธีการให้อาหารทางสายยาง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่เพียงพอ แต่การให้อาหารทางสายยาง ผู้ดูแลจะต้องมีความรู้ มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการให้อาหารทางสายยางแก่ผู้ป่วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างการให้อาหารทางสายยาง รวมไปถึงการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆตามมา

สิ่งที่ต้องดูแลให้มากเป็นพิเศษก็คือควรระมัดระวังไม่ให้ผู้ป่วยเกิดการสำลัก ก่อนที่จะให้ผู้ป่วยได้รับประทานอาหารให้ผู้ป่วยนั่งตัวตรงและพยายามให้ผู้ป่วยนั่งตัวตรงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลังจากรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรให้ผู้ป่วยได้นั่งอยู่ในท่าเดิมเพื่อให้อาหารได้ย่อยประมาณ 1-2 ชั่วโมงแล้วค่อยนอนลง อย่างไรก็ตาม แนวทางการรับประทานอาหารของผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารอ่อนที่สามารถย่อยง่ายและทำให้ผู้ป่วยสามารถกลืนได้อย่างสะดวก เพื่อป้องกันการเกิดการสำลักอาหาร และที่สำคัญที่สุด หากผู้ป่วยต้องให้อาหารทางสายยางในเรื่องของความสะอาด ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ผู้ดูแลจะต้องทำความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆในการให้อาหารทางสายางอย่างสะอาด เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมที่จะให้อาหารทางสายยาง รวมไปถึงอาหารที่จะนำมาให้ผู้ป่วยจะต้องมีความสะอาดปลอดภัยและที่สำคัญควรผ่านการออกแบบสูตรโดยนักโภชนาการผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายและถ้าหากผู้ป่วยมีโรคอื่นๆร่วมด้วย ก็จะสามารถให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่ปลอดภัยกับโรคด้วย

 

ทั้งนี้อุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงอาจแตกต่างกันตามความต้องการและความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยติดเตียงแต่ละท่าน ผู้ดูแลจะต้องมีความเอาใจใส่ในการดูแลผู้ป่วยให้มากเป็นพิเศษ เนื่องจากผู้ป่วยที่นอนติดเตียงนั้นไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จึงต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้ดูแลในการฟื้นฟูสมรรถภาพต่างๆให้กับผู้ป่วยติดเตียง