ผู้ป่วยติดเตียงควรกินอาหารแบบใด

เมื่อผู้สูงอายุเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง จนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง ปัญหาที่สำคัญและพบได้บ่อยของผู้ป่วยติดเตียง คือปัญหาเกี่ยวกับภาวะทุพโภชนาการซึ่งเป็นสภาวะของร่างกายที่ได้รับอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ได้รับสารอาหารไม่ครบ ทำให้ขาดสารอาหารร่วมกับการขาดพลังงาน ทำให้เกิดโรค เช่น โรคขาดโปรตีน โรคขาดวิตามินต่าง ๆ และภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ เป็นต้น

สาเหตุของการเกิดภาวะทุพโภชนาการเกิดจาก 

1) การรับประทานอาหารได้น้อยกว่าปกติ เนื่องจาก ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับการเคี้ยว การกลืนจากพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นของโรค

2) ภาวะที่ร่างกายต้องการสารอาหาร และพลังงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยอยู่ในภาวะเจ็บป่วยเกิดภาวะเครียด ความเครียดทางกายภาพและอยู่ในภาวะวิกฤตต่างๆ การเจ็บป่วย ทำให้ร่างกายมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น (Hypermetabolism)และสลายโปรตีนมากขึ้น สูญเสียไนโตรเจน (Nitrogen loss) เพิ่มขึ้นกว่าปกติ เกิดความไม่สมดุลระหว่างความต้องการใช้พลังงานและสารอาหารที่ได้รับ

ภาวะโภชนาการเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อภาวะสุขภาพของผู้ป่วยติดเตียง เนื่องจากวัยสูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย พบว่าผู้สูงอายุที่มีภาวะเป็นผู้ป่วยติดเตียงจะมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดทุพโภชนาการ  ปัญหาการย่อยการดูดซึม  ปัญหาการขับถ่าย  ปัญหาความต้องการใยอาหารเพิ่มเป็นพิเศษ  ปัญหาความต้องการรับอาหารทางสายยาง  เหล่านี้เป็นเหตุให้ผู้ป่วยติดเตียงควรได้รับประทานอาหารสูตรเฉพาะ แต่ยังคงมีสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างเสริมสุขภาพครบ 5 หมู่อย่างครบถ้วน นั่นคือ

หมู่ที่ 1 เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ ให้สารอาหารประเภทโปรตีน ที่มีหน้าที่เสริมสร้างและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย เนื้อสัตว์ที่ผู้ป่วยติดเตียงควรรับประทานคือ เนื้อสัตว์ที่ไม่มีหนังหรือไขมันมากเกินไป ควรรับประทานประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะต่อมื้อ

ในคนปกติทั่วไปร่างกายต้องการโปรตีนประมาณ วันละ 0.8-1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น ผู้ที่มีน้ำหนัก 60 กิโลกรัม ต้องการโปรตีนประมาณ 48-60 กรัมต่อวัน เมื่อผู้ป่วยติดเตียงมีภาวะแผลกดทับขึ้น  ร่างกายมีความจําเป็นในการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ต่อสู้กับการติดเชื้อ ซ่อมแซมกระดูก  ร่างกายมีความต้องการโปรตีนมากกว่า 2 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แหล่งโปรตีนจากอาหารได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ นม ชีส โยเกิร์ต ถั่วลิสง พืชตระกูลถั่ว

ปลา เหมาะมากสำหรับผู้ป่วยติดเตียง แต่ควรแกะก้างออกให้หมด

ไข่ เป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยติดเตียงเพราะมีคุณค่าทางอาหารสูงมาก ไข่แดง มีธาตุเหล็กในปริมาณสูง ปกติสามารถรับประทานได้สัปดาห์ละ 3-4 ฟอง แต่ถ้าผู้ป่วยติดเตียงที่มีปัญหาไขมันในเลือดสูงควรลดจำนวนลงหรือบริโภคเฉพาะไข่ขาวเท่านั้น

ไข่ขาว จัดเป็นแหล่งของโปรตีนคุณภาพดี เนื่องจากมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบทุกชนิด โดยมีโปรตีนเป็นองค์ประกอบประมาณ ร้อยละ 11 นอกจากนี้ ยังพบว่าโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบในไข่ขาว ยังสามารถแสดงคุณสมบัติเชิงหน้าที่ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้ เช่น มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ กระตุ้นการเจริญของเซลล์ และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ไข่ขาวจึงเป็นแหล่งของโปรตีนที่เหมาะสม สำหรับนำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ที่มีความต้องการโปรตีนสูง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังเหมาะกับผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยในระยะพักฟื้น และผู้ป่วยติดเตียง

นม เป็นอาหารที่มีแคลเซียมและโปรตีนสูง ผู้ป่วยติดเตียงควรดื่มวันละ 1 แก้ว สำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่มีปัญหาไขมันในเลือดสูงหรือน้ำหนักตัวมากอาจดื่มนมพร่องมันเนยหรือนมถั่วเหลืองแทนได้

– ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นอาหารที่มีโปรตีนสูงและราคาถูก ใช้แทนอาหารพวกเนื้อสัตว์ได้

หมู่ที่ 2 ข้าว แป้ง น้ำตาล เผือก มัน อาหารหมู่นี้ให้สารอาหารคาร์โบไฮเดรตมีหน้าที่ให้พลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกาย ผู้ป่วยติดเตียงต้องการอาหารหมู่นี้ลดลงกว่าวัยทำงาน จึงควรรับประทานอาหารกลุ่มนี้แต่พออิ่ม คือ ข้าวมื้อละ 2 ทัพพี ควรเลือกเป็นข้าวไม่ขัดสี หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสหวานจัดและของหวาน

หมู่ที่ 3 ผักต่าง ๆ ผักให้สารอาหารพวกวิตามินและแร่ธาตุ ผู้ดูแลควรเลือก ผักหลาย ๆ ชนิดสลับกันแก่ผู้ป่วยติดเตียง ควรปรุงโดยวิธีต้มสุกหรือนึ่งเพราะจะทำให้ย่อยง่ายและช่วยให้ขับถ่ายเป็นปกติ แต่ละวันผู้ป่วยติดเตียงควรรับประทานผักให้ได้มื้อละ 2 ทัพพี

หมู่ที่ 4 ผลไม้ต่างๆ เป็นอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกายคล้ายอาหารหมู่ที่ 3 มีวิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย และยังมีรสหวานหอม มีปริมาณของน้ำอยู่มาก ทำให้ ร่างกายสดชื่นเมื่อได้กินผลไม้ ผู้ป่วยติดเตียงสามารถกินผลไม้ได้ทุกชนิดและควรกินผลไม้ทุกวันเพื่อจะได้รับวิตามินซีและเส้นใยอาหาร ควรเลือกผลไม้ที่มีเนื้อนุ่ม เคี้ยวง่าย เช่น มะละกอ กล้วยสุก ส้ม ควรรับประทานอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 6-8 ชิ้น สำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่อ้วนหรือเป็นเบาหวานให้หลีกเลี่ยงผลไม้หวานจัด เช่น ทุเรียน ลำไย ขนุน เป็นต้น

หมู่ที่ 5 ไขมันจากสัตว์และพืช อาหารหมู่นี้นอกจากจะให้พลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกายแล้ว ยังช่วยดูดซึมวิตามินที่ละลายในน้ำ เช่น วิตามินเอ ดี และเค ผู้สูงอายุติดเตียงต้องการไขมันในปริมาณน้อย แต่ก็ขาดไม่ได้ และถ้าบริโภคไขมันมากเกินไป จะทำให้อ้วน ไขมันอุดตันในเส้นเลือด นอกจากนั้นยังทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อหลังอาหารได้ ควรใช้น้ำมันพืชที่มีกรดไลโนเลอิกปรุงอาหาร เช่น น้ำมันงา น้ำมันมะกอก ควรหลีกเลี่ยงการใช้ไขมันจากสัตว์

กล่าวโดยสรุป สำหรับผู้ป่วยติดเตียงหากต้องรับประทานเนื้อสัตว์ต่างๆ ควรอยู่ในกลุ่มโปรตีนเช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ เพราะจะมีความนุ่มมากกว่าเนื้อชนิดอื่นๆ เพื่อทำให้ผู้ป่วยสามารถบดเคี้ยวอาหารได้ง่าย กลืนอาหารได้ง่าย ป้องกันการสำลัก นอกจากนี้ ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ ก็สามารถรับประทานได้แต่ควรปรุงให้สุกก่อนโดยการต้มให้เปื่อยแล้วจึงนำไปให้ผู้ป่วยติดเตียงรับประทาน

สิ่งที่ต้องดูแลให้มากเป็นพิเศษก็คือควรระมัดระวังไม่ให้ผู้ป่วยติดเตียงเกิดการสำลัก ก่อนที่จะให้ผู้ป่วยติดเตียงได้รับประทานอาหารให้ผู้ป่วยนั่งตัวตรงและพยายามให้ผู้ป่วยนั่งตัวตรงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลังจากรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรให้ผู้ป่วยได้นั่งอยู่ในท่าเดิมเพื่อให้อาหารได้ย่อยประมาณ 1-2 ชั่วโมงแล้วค่อยนอนลง อย่างไรก็ตาม แนวทางการรับประทานอาหารของผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารอ่อนที่สามารถย่อยง่ายและทำให้ผู้ป่วยสามารถกลืนได้อย่างสะดวก เพื่อป้องกันการเกิดการสำลักอาหาร และที่สำคัญที่สุด หากผู้ป่วยติดเตียงต้องให้อาหารทางสายยางในเรื่องของความสะอาด ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ผู้ดูแลจะต้องทำความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆในการให้อาหารทางสายยางอย่างสะอาด เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมที่จะให้อาหารทางสายยาง รวมไปถึงอาหารที่จะนำมาให้ผู้ป่วยติดเตียงจะต้องมีความสะอาดและปลอดภัย