ผู้ป่วยติดเตียงนอนหลับยากทำอย่างไรดี

ผู้ป่วยติดเตียงนอนหลับยากทำอย่างไรดี

การนอนหลับเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์เพื่อคงความมีสุขภาพดีทั้งร่างกาย จิตใจ และเป็นกิจกรรมประจําวันที่สําคัญสําหรับชีวิต  การนอนหลับมีความสําคัญกับบุคคลทั้งในเวลาปกติและเวลาเจ็บป่วย  ถ้าบุคคลใดโดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียงด้วยแล้ว  มักจะพบปัญหาเกี่ยวกับการนอนไม่หลับหรือนอนหลับยาก  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพตามมา

ความไม่สุขสบายจากอาการเจ็บป่วย และความวิตกกังวลเกี่ยวกับอาการของโรค ทำให้นอนหลับยากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสมดุลการทำงานของร่างกายและจิตใจ ทำให้ฟื้นหายจากโรคช้า และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน มีผลทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม อาจรุนแรงจนถึงมีอาการประสาทหลอน หูแว่ว ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เอะอะโวยวาย สับสนขึ้นได้  จนเกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมา เช่นโรคจิตหลอน โรคขาดสารอาหาร  ทำให้เพิ่มความรุนแรงของอาการนอนไม่หลับหรือหลับยากขึ้น และอาจต้องพึ่งยานอนหลับต่อมา

ปัจจัยเกี่ยวข้องที่ทำให้ผู้ป่วยติดเตียงนอนไม่หลับหรือนอนหลับยาก

1.ปัจจัยภายใน

  • พบในผู้ป่วยติดเตียงที่สูงอายุมากกว่าวัยอื่นๆ พบผู้ป่วยติดเตียงเพศหญิงมากกว่าผู้ป่วยติดเตียงเพศชาย ในผู้ป่วยติดเตียงเพศหญิงนั้นเกี่ยวข้องกับการหมดประจำเดือนเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทําให้เกิดอาการร้อนวูบวาบและมีเหงื่อออกในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการรบกวนการนอนหลับของผู้หญิง
  • การเจ็บป่วยทำให้เกิดความไม่สุขสบายแก่ผู้ป่วยติดเตียง และตามมาด้วยอาการนอนไม่หลับ
  • ความปวดของผู้ป่วยติดเตียง เช่น ปวดข้อ ปวดเมื่อยตามตัว
  • ความวิตกกังวล ความเครียดของผู้ป่วยติดเตียง ได้แก่ ความวิตกกังวลเรื่องการจ็บป่วยทางด้านร่างกาย มีความเครียดว่ากลัวเป็นภาระของครอบครัว ฯ

2. ปัจจัยภายนอก

  • เสียงรบกวน โดยเสียงที่รบกวนทําให้ระยะเวลาตั้งแต่เข้านอนจนกระทั่งหลับนานขึ้น ทําให้ตื่นกลางคืนบ่อย หลับต่อยากหลังจากตื่น และทําให้ผู้ป่วยติดเตียงตื่นเช้ากว่าปกติ
  • แสงสว่างในห้องที่จ้าเกินไป สายตาผู้ป่วยติดเตียงจะมีความไวต่อแสงมาก การสัมผัสกับแสงตลอดเวลาทําให้ผู้ป่วยติดเตียงรู้สึกไม่สุขสบายและรบกวนการนอนหลับได้
  • อุณหภูมิที่สูงหรือต่ำเกินไปจะรบกวนการนอนหลับของผู้ป่วยติดเตียงได้ ดังนั้นการให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายผู้ป่วยติดเตียงควรเป็นเสื้อผ้า ผ้าห่ม หมวก และถุงเท้าควรหลีกเลี่ยงการใช้กระเป๋าน้ำร้อน หรืออุปกรณ์ทําความร้อนด้วยไฟฟ้า เพราะอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้
  • ลักษณะของที่นอนที่นิ่มหรือแข็งเกินไป  ที่นอนที่ไม่นุ่มและแข็งเกินไปสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ที่นอนผู้ป่วยติดเตียง – Seniacare 

ผู้เขียนขอแนะนำวิธีช่วยแก้ปัญหา  การนอนหลับยากของผู้ป่วยติดเตียงโดยรวบรวมข้อมูลมาจากงานวิจัยได้กล่าวว่า  วิธีช่วยแก้ปัญหาการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยไม่ใช้ยา ได้แก่ การใช้ดนตรี การให้สัมผัสแสง การใช้เทคนิคการผ่อนคลาย และการสร้างมโนภาพ ดังนี้

1.โดยดนตรี  ดนตรีสามารถนํามาใช้กับผู้ป่วยติดเตียงให้หลับนานขึ้น กล่าวคือคุณภาพของการนอนหลับดีขึ้น ระยะเริ่มต้นของการนอนหลับลดลง และจำนวนการตื่นในตอนกลางคืนลดลง โดยในการฟังจะเป็นเพลงบรรเลงไม่มีเนื้อร้อง ประกอบกับเสียงธรรมชาติ ได้แก่ เสียงน้ำไหล เสียงคลื่น เสียงลมและเสียงนกร้อง เพลงประเภทช้า (soothing music)ในลักษณะเพลงที่ผ่อนคลาย และทําให้ผู้ป่วยมีความสุข  การให้ฟังเพลงบรรเลงประเภทผ่อนคลายจากเพลงไทย เพลงสากล หรือเสียงธรรมชาติ บรรเลงต่อเนื่องกัน ควรเลือกเพลงที่ผู้ป่วยชื่นชอบ ฟังก่อนนอน 30 นาที จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการนอนหลับได้ดีขึ้น

2.การให้สัมผัสแสง จัดให้ผู้ป่วยติดเตียงได้รับการสัมผัสแสงจากหลอดไฟ fluorescent ที่ติดอยู่หัวเตียงนอน เปิดไฟเวลา 10.00-15.00 น. คือ ควรมีการจัดสิ่งแวดล้อมทางด้านแสงภายในห้องผู้ป่วยโดยให้ผู้ป่วยได้รับแสงสว่างในช่วงกลางวัน  และลดการได้รับแสงในช่วงกลางคืนจะช่วยให้การนอนหลับลึกขึ้น การจัดให้ผู้ป่วยติดเตียงได้รับแสงในช่วงเวลากลางวัน จะทําให้ช่วงเวลาในการนอนหลับเปลี่ยนแปลงไป ช่วงตื่นในระยะการนอนหลับจะลดลง เวลานอนยาวนานขึ้น เวลาการเคลื่อนไหวร่างกายขณะหลับลดลง และการนอนหลับมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น แสงมีความสําคัญที่ช่วยในการปรับจังหวะชีวิตที่เกี่ยวกับวงจรการนอนหลับช่วงตื่นในระยะการนอนหลับจะลดลง เวลานอนยาวนานขึ้น เวลาการเคลื่อนไหวร่างกายขณะหลับลดลง และการนอนหลับมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

3.การใช้เทคนิคการผ่อนคลาย ให้ผู้ป่วยนึกถึงสิ่งที่สวยงาม หรือสถานที่ที่สวยงาม เพื่อให้ร่างกายเกิดความผ่อนคลาย ร่วมถึงการจัดสิ่งแวดล้อมภายในห้องผู้ป่วยให้โล่ง สะอาด การใช้เทคนิคการผ่อนคลาย ผู้ป่วยมีคุณภาพการนอนหลับดีขึ้นตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้น

4.การสร้างมโนภาพ  โดยให้ผู้ป่วยมีการผ่อนคลายในที่นอนและท่าที่สุขสบาย และให้ผู้ป่วยนึกถึงสิ่งที่สวยงาม หรือสถานที่ที่สวยงาม เพื่อให้ร่างกายเกิดความผ่อนคลาย รวมถึงการจัดสิ่งแวดล้อมภายในห้อง มีการจัดบรรยากาศที่มีความเหมาะสมไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป อุณหภูมิที่สูงหรือต่ำเกินไปจะรบกวนการนอนหลับของผู้ป่วยได้  ควรมีอุปกรณ์อํานวยความสะดวกอยู่ใกล้ๆ การผสมระหว่างการผ่อนคลายและมโนภาพเป็นการช่วยผู้ป่วยที่นอนหลับยากได้ดีขึ้น  ส่งผลสำหรับการทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้นานขึ้น

ในช่วงท้ายผู้เขียนขอสรุปดังนี้  เมื่อคนที่เรารักเป็นผู้ป่วยติดเตียงและประสบปัญหาการนอนไม่หลับหรือนอนหลับยาก สิ่งสำคัญที่อยากฝากไว้สำหรับผู้ดูแลในเรื่องการนอนไม่หลับหรือนอนหลับยาก คือ การใช้เทคนิคการผ่อนคลายและการสร้างมโนภาพ โดยให้ผู้ป่วยมีการผ่อนคลายนอนในที่นอน และท่าที่สุขสบาย ผู้ดูแลอาจมีการนวดบริเวณแขนและขาแก่ผู้ป่วย มีการพูดคุยร่วมกันและให้ผู้ป่วยนึกถึงสิ่งที่สวยงาม หรือสถานที่ที่สวยงามเพื่อให้ร่างกายเกิดความผ่อนคลาย  รวมถึงการจัดสิ่งแวดล้อมภายในห้องนอน    ผู้ดูแลควรเลือกให้เหมาะกับผู้ป่วยติดเตียงที่ดูแลด้วย  เพราะผู้ป่วยติดเตียงแต่ละรายอาจมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน  ในบางรายอาจจะแค่การผ่อนคลายก็เพียงพอ หรือบางรายอาจต้องใช้การสัมผัสแสงร่วมกับเทคนิคการผ่อนคลาย  บางรายอาจต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยจัดการแก้ปัญหานอนหลับยากของผู้ป่วยติดเตียง  โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจมีการใช้ยาที่ปลอดภัยกับผู้ป่วยร่วมด้วย  เมื่อผู้ดูแลหยิบยื่นเทคนิคการผ่อนคลายและการสร้างมโนภาพมอบให้กับคนที่เรารักทีเป็นผู้ป่วยติดเตียงแล้ว  ผู้ดูแลก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วยติดเตียงนอนหลับได้อย่างเพียงพอและจะช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยติดเตียงได้ดีขึ้น