แบคทีเรียอันตรายกับผู้ป่วยติดเตียงอย่างไร?

ในประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น มีภูมิอากาศเหมาะสมแก่การเจริญเติบโต และขยายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตนานาชนิดตั้งแต่จุลินทรีย์ เห็ด รา ตลอดจนพืชและสัตว์นานาพันธุ์ ซึ่งจุลินทรีย์ ราและเห็ด เหล่านี้สามารถสร้างสารพิษชีวภาพที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ได้  สารพิษชีวภาพคือ สารที่เกิดจากกระบวนการทางสรีรวิทยาของสิ่งมีชีวิตต่างๆ เมื่อคนหรือสัตว์ได้รับสารดังกล่าวนี้เข้าไปในร่างกายแล้ว ก่อให้เกิดพยาธิสภาพทำให้เจ็บป่วยจนกระทั่งถึงแก่ชีวิตได้

สารพิษซึ่งสร้างจากจุลินทรีย์ ก่อให้เกิดอาการเด่นทางระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ปวดมวนท้องคลื่นไส้อาเจียน อุจจาระร่วง เป็นต้น ส่วนใหญ่เริ่มเกิดอาการภายใน 24-72 ชั่วโมง และระยะเวลาที่ป่วยมักไม่เกิน 1-2 วัน เรียกสารชีวพิษที่ก่อให้เกิดอาการดังกล่าว คือกลุ่มแบคทีเรียนั่นเอง  ถ้าแบคทีเรียเพียงจำนวนน้อยเข้าสู่ร่างกายในกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงจะพบอาการรุนแรงทีเดียว

ขอกล่าวแบคทีเรียชนิดที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยติดเตียง

1.อีโคไล (Escherichia coli) คือ แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้เล็กของคนและสัตว์ ส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตรายต่อคน และยังสำคัญต่อลำไส้ด้วย แต่บางสายพันธุ์ก็ทำให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกายได้ เช่น ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจและโรคปอดบวม เป็นต้น โดยเชื้ออีโคไลสามารถแพร่สู่คนผ่านทางอาหารและน้ำที่ปนเปื้อน รวมทั้งการสัมผัสกับคนและสัตว์ก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน นอกจากนี้ เชื้ออีโคไลบางสายพันธุ์อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่มีอันตรายร้ายแรงอย่างไตวายได้อีกด้วย  เชื้ออีโคไลหากปนเปื้อนไปในอาหารกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงจะมีอาการท้องเสียรุนแรงได้

2.สเตรปโทคอกคัส( Streptococcus) คือ แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ มากมาย แบ่งออกเป็นกลุ่มเอและกลุ่มบี โดยกลุ่ม (เอ) หรือที่เรียกว่า GAS มักส่งผลต่อผิวหนังและคอ โดยอาจทำให้เกิดความผิดปกติบางอย่างในร่างกาย เช่น โรคแผลพุพอง เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ คออักเสบ ไข้อีดำอีแดง เป็นต้น แต่บางคนอาจมีเชื้อชนิดนี้อยู่ในร่างกายโดยไม่แสดงอาการใด ๆ เลยก็ได้  ถ้าเชื้อสเตรปโทคอกคัสกลุ่ม (เอ) ปนเปื้อนมาบริเวณแผลผู้ป่วยติดเตียง จะพบแผลอักเสบและจะรุนแรงขึ้น

กล่าวคือโดยทั่วไปเมื่อผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากแบคทีเรีย  การรักษาคือตามอาการและประคับประคอง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการพยากรณ์โรคที่ดีและมักหายเป็นปกติภายใน 18-36 ชั่วโมง โดยไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ แต่เมื่อเป็นในผู้ป่วยที่อ่อนแอเช่นผู้ป่วยติดเตียง จะพบว่ามีอาการรุนแรงที่มากกว่าคนปกติ ดังนั้นการป้องกันจึงสำคัญที่สุด

การป้องกันผู้ป่วยติดเตียงห่างไกลแบคทีเรีย ทำได้ดังนี้

1.เก็บอาหารของผู้ป่วยเข้าตู้เย็นทันที หลังจากปรุงเสร็จใหม่ๆ โดยเฉพาะอาหารพวกเนื้อสัตว์

2.ไม่รับประทานอาหารที่สกปรก หรืออาหารที่สงสัยว่าจะเสียรวมทั้งอาหารปรุงสำเร็จหรืออาหารสำเร็จพร้อมปรุงที่ไม่ได้มาตรฐาน แม้ว่าจะนำมาอุ่นให้เดือดแล้วก็ตาม

3.ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ล้างวัตถุดิบด้วยการเปิดน้ำให้ไหลผ่านก่อนปรุงหรือก่อนรับประทาน ไม่ใช้เขียงร่วมกันระหว่างของดิบและของที่ปรุงสุกแล้ว เป็นต้น

4. ไม่รับประทานไข่ดิบ เนื้อสัตว์ดิบและอาหารทะเลดิบๆ รวมทั้งน้ำนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ เพราะเชื้อบางชนิดเช่น Salmonellae สามารถพบได้ในลำไส้ของสัตว์เลี้ยงแทบทุกชนิดทั้งสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และไข่อาจติดเชื้อได้ตั้งแต่ยังไม่สร้างเปลือก

5.ล้างมือให้สะอาดก่อนหรือหลังทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ล้างมือก่อนและหลังดูแลผู้ป่วย ก่อนรับประทานอาหาร ก่อนทำแผล หลังจากเข้าห้องน้ำ

6.ควรดูแลเรื่องการออกกำลังกายผู้ป่วยติดเตียงอย่างสม่ำเสมอ  เพราะการออกกำลังกายนั้นช่วยคลายเครียด เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้ผู้ป่วยติดเตียงมีร่างกายแข็งแรง ลดความเสี่ยงต่อโรคภัยต่าง ๆ ลงได้

7.ไม่ใช้ภาชนะของผู้อื่นและไม่ใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่นในการรับประทานอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย

8.ไม่ควรบีบ เกา แกะ บริเวณที่เป็นแผลหรือสิวในผู้ป่วยติดเตียง เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียได้

9.หากเกิดแผลในผู้ป่วยติดเตียง ควรทำความสะอาดและใช้ผ้าปิดแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่หากแผลมีความรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง

แม้แบคทีเรียบางชนิดอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่บางชนิดก็อาจเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อีกทั้งแบคทีเรียยังเป็นเชื้อจุลชีพที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ดังนั้น จึงขอสรุปเรื่องการดูแลผู้ป่วยติดเตียงให้ห่างไกลแบคทีเรีย  ควรใช้ความระมัดระวังและการป้องกันในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างเต็มที่  แต่เชื้อแบคทีเรียอันตรายก็ยังอาจมีโอกาสเล็ดลอดเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยติดเตียงได้ ดังนั้น หากเกิดความผิดปกติใด ๆ ขึ้นกับผู้ป่วยติดเตียง โดยเฉพาะอาการที่อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีไข้ ผิวหนังบวมแดง ถ่ายเป็นมูกเลือด เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาอย่างถูกวิธีโดยเร็ว