วิธีแก้ภาวะกลืนลำบากในผู้ป่วยติดเตียง

ภาวะกลืนลำบากเป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้ป่วยติดเตียง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้เช่น  ปอดติดเชื้อจากการสำลักและภาวะทุพโภชนาการ เป็นต้น  ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวทำให้นอนโรงพยาบาลนานหรือเสียชีวิตได้ การดูแลจัดการภาวะกลืนลำบากที่ถูกต้องโดยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะกลืนลำบากของผู้ป่วย  และญาติ/ผู้ดูแลมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้

การกลืนเป็นการทํางานที่ซับซ้อนของร่างกายโดยอาศัยการทํางานของกล้ามเนื้อหลายมัด หากมีความผิดปกติของระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการกลืนทําให้เกิดภาวะกลืนลําบากซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องเหมาะสมอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ  เช่นภาวะขาดน้ำและอาหาร  ภาวะปอดอักเสบติดเชื้อ  เป็นต้น

การกลืนแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะช่องปาก (oral  phase)  เป็นขั้นตอนที่เตรียมให้อาหารพร้อมสําหรับกลืน  โดยเมื่ออาหารเข้าสู่ปาก  ลิ้นจะทําหน้าที่เคลื่อนตัวเพื่อนําอาหารเหล่านั้นไปที่บริเวณ ฟันเพื่อรอการบดเคี้ยวให้มีขนาดเล็กลง และถูกคลุกเคล้ากับน้ำลายเพื่อให้มีความอ่อนนุ่ม  ระยะนี้มีการทํางานประสานกันระหว่างขากรรไกร  ลิ้น  กระพุ้งแก้ม  เพดานอ่อน  และกระดูก  Hyoidเกิดการเคลื่อนไหวเป็นจังหวะ จากนั้นลิ้นจะยกตัวขึ้นผลักดันให้สิ่งพร้อมกลืน  เคลื่อนตัวลงสู่คอหอย
  2. ระยะคอหอย (pharyngeal phase) เมื่ออาหารถูกส่งเข้ามาที่คอหอย เพดานอ่อนยกตัวขึ้นเพื่อป้องกันการท้นของอาหารเข้าสู่โพรงจมูก มีการหดตัวของกล้ามเนื้อ Pharyngealconstrictor จากบนลงล่างเพื่อเป็นการเคลื่อนอาหารลงสู่หลอดอาหาร  นอกจากกลไกการเคลื่อนตัวของอาหารแล้วยังเกิดการปิดของสายเสียง  มีการยกตัวขึ้นของกล่องเสียงจากการทํางานของกล้ามเนื้อกลุ่ม suprahyoid และ thyrohy-oid  และการเคลื่อนของฝาปิดกล่องเสียงลงมาปิดกล่องเสียงเพื่อป้องกันการสําลัก ร่วมกับหูรูดหลอดอาหารส่วนบนเปิด เพื่อให้อาหารเคลื่อนเข้าสู่หลอดอาหาร  ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ  1-2  วินาทีช่วงขณะที่มีการกลืนจะมีการหยุดหายใจชั่วคราว  นานประมาณ 0.3-1  วินาทีทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณอาหารที่กลืนลงไป
  3. ระยะหลอดอาหาร (esophageal  phase)  เป็นระยะที่อาหารอยู่ที่หลอดอาหาร  เมื่ออาหารผ่านหูรูดหลอดอาหารส่วนบนมาแล้ว  อาหารจะมีการเคลื่อนตัวเข้าสู่กระเพาะอาหารโดยการบีบตัวของกล้ามเนื้อหลอดอาหาร ภาวะแทรกซ้อนอันเกิดจากภาวะกลืนลำบากในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ภาวะขาดน้ำ ภาวะขาดอาหาร และที่สำคัญคือการสำลักอาหาร การป้องกันภาวะปอดอักเสบจากการสำลักที่ดี คือการดูแลจัดการภาวะกลืนลำบากที่ดี ผู้ป่วยและญาติหรือผู้ดูแลยังมีส่วนร่วมที่สำคัญอย่างยิ่งในการปฏิบัติตัวและดูแลผู้ป่วย ดังนั้นความรู้เกี่ยวกับภาวะกลืนลำบาก เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

การดูแลสุขภาพช่องปากในผู้ป่วยติดเตียงที่มีภาวะกลืนลำบากมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากกล้ามเนื้อใบหน้าและช่องปากอ่อนแรงทำให้มีปัญหาการบดเคี้ยว และไม่สามารถควบคุมทิศทางการเคลื่อนไหวของลิ้น เกิดอาการไอ สำลักง่าย เกิดปัญหามีการสะสมของเศษอาหาร บริเวณด้านข้างกระพุ้งแก้มด้านหน้าใต้ลิ้น เพดาน เกิดกลิ่นปาก ฟันผุ เหงือกอักเสบและเกิดการติดเชื้อ ซึ่งหากมีการดูแลสุขภาพช่องปากได้ดี ก็จะช่วยลดปัญหาที่เกิดกับช่องปากและการติดเชื้อที่ปอดได้

วิธีการรักษาภาวะกลืนลำบาก

  1. ปรับอาหาร เพื่อการฝึกกลืน โดยควรให้มีการประเมินระดับความสามารถการกลืนและเลือกชนิดอาหารที่ให้เหมาะสม ตามเป้าหมายการรักษา
  2. การออกกำลังกายกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน เช่นการออกกำลังกายกล้ามลิ้น คอ
  3. การกระตุ้นการรับความรู้สึก เพื่อให้เกิดกลไกการกลืน ทั้งทางกายภาพและการใช้ยา
  4. ใช้เทคนิคและอุปกรณ์ช่วยกลืน เพื่อให้กลืนได้อย่างปลอดภัย
  5. การดูแลสุขภาพช่องปาก เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อในช่องปาก

ผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องให้อาหารทางสายยางญาติ/ผู้ดูแลต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ ดังนี้

1.ญาติ/ผู้ดูแลต้องเรียนรู้การเตรียมอาหารปั่น (อาหารเฉพาะโรค: อาหารสำหรับโรคเบาหวาน อาหารสำหรับโรคไต อาหารสำหรับโรคความดันโลหิตสูง ) ควรเลือก/จัดลักษณะอาหารที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย และการฝึกทักษะการให้อาหารทางสายยางที่ถูกต้อง

2.ญาติ/ผู้ดูแลควรจัดท่านอนผู้ป่วยติดเตียงขณะให้อาหารและหลังให้อาหาร  โดยจัดศีรษะผู้ป่วยสูงอย่างน้อย 30 นาที ควรปฏิบัติทุกครั้งและสม่ำเสมอ

สำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่พอช่วยเหลือตัวเองได้ญาติ/ผู้ดูแลควรปฏิบัติดังนี้

1.ญาติ/ผู้ดูแลควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันโดยการจัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสม เช่น ชามก้นลึก ถ้วยมีหู แก้วมีหลอดดูด ช้อนที่มีที่ยึดติดกับมือ เป็นต้น

2.ญาติ/ผู้ดูแลควรดูแลเรื่องการออกกำลังกายกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืนของผู้ป่วย เช่นการออกกำลังกายกล้ามลิ้น คอ

3.ญาติ/ผู้ดูแลควรดูแลสุขภาพช่องปากของผู้ป่วย เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อในช่องปาก

ขอฝากวิธีแก้ปัญหาภาวะกลืนลำบากของผู้สูงอายุ

1.ปรับอาหารผู้สูงอายุหรือผู้ใกล้ชิดเลือกชนิดของอาหารที่ใช้ในการฝึกกลืนอย่างเหมาะสม ได้แก่ อาหารอ่อนที่ย่อยง่ายและมีรสจืด

2.รับประทานปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง

3.เลือกใช้ช้อนที่มีขนาดเล็กลง และหลุมไม่ลึก ทำให้ปริมาณการรับประทานอาหารต่อคำลดลง รวมถึงปริมาณน้ำที่น้อยลงในแต่ละคำจะช่วยลดอาการสำลักได้

4.ใช้สารเพิ่มความหนืดผสมในทั้งอาหารเหลว และของเหลว เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีปัญหากลืนลำบากมีความปลอดภัยมากขึ้น

5.ใช้เทคนิคช่วยกลืน คือ จัดท่าให้ศีรษะ และลำตัวของผู้สูงอายุ สามารถชดเชยกลไกการกลืนที่บกพร่องไป เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการรับประทานอาหารทางปากมากขึ้น

6.ดูแลสุขภาพช่องปาก เพื่อลดการสะสมของแบคทีเรีย ลดความเสี่ยงของการเกิดปอดอักเสบจากการสำลัก โดยแปรงฟันวันละ 2 ครั้งเช้าเย็น บ้วนปากด้วยน้ำเปล่าหลังรับประทานอาหาร ใช้ไหมขัดฟัน

7.เช็ดทำความสะอาดช่องปากและลิ้นหลังอาหารทุกมื้อ ดูแลเอาอาหารที่ค้างในปากออกให้หมดเพื่อเลี่ยงการเกิดเชื้อราในช่องปาก และช่วยให้ผู้สูงอายุมีรอยยิ้มที่สดใส

8.พบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอทุก 6 เดือน

สรุป ผู้ป่วยติดเตียงมีความเปลี่ยนแปลงทางกายรวมทั้งมีโรคร่วมต่าง ๆ  ส่งผลให้เกิดปัญหากลืนลําบากตามมาได้ ญาติ/ผู้ดูแลควรคิดถึงภาวะนี้  เนื่องจากภาวะกลืนลําบากนี้ทําให้เกิดภาวะแทรกซ้อน คือ ภาวะขาดน้ำ ขาดอาหารส่งผลให้ผู้ป่วยติดเตียงมีความสามารถในการช่วยเหลือตนเองลดลง หากเป็นรุนแรงจะเกิดปอดอักเสบจากการสําลักซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตตามมาได้ ทั้งนี้ญาติ/ผู้ดูแลควรมีความรู้ ความเข้าใจ ผลกระทบของภาวะกลืนลําบาก ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วย และครอบครัวในการรักษา รวมทั้งความพร้อมของญาติ/ผู้ดูแลด้วย