วิธีดูแลผิวหนังผู้ป่วยติดเตียง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่ผิวหนัง

ผิวหนังเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญ ทำหน้าที่ห่อหุ้มและให้ความอบอุ่น กับอวัยวะภายในร่างกาย และยังทำหน้าที่ในการป้องกันการติดเชื้อ เมื่อผิวหนังได้รับบาดเจ็บถูกทำลาย จากแรงกด แรงเบียด แรงดึงรั้งจากการผูกยึด การติดเชื้อ การลอกพลาสเตอร์ และความอับชื้นจากอุจจาระและปัสสาวะทำให้เกิดการเสียหายหรือถูกทำลายต่อผิวหนัง และเนื้อใต้ผิวหนัง จนเกิดการสูญเสียหน้าที่ และมีลักษณะทางกายภาพ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ เป็นผื่นแดง ผื่นคัน ถลอก ฉีกขาดกลายเป็นบาดแผล

สาเหตุที่ผิวหนังผู้สูงอายุถูกทำลายได้ง่าย เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากภาวะสูงอายุ โดยเซลล์ผิวหนังมีอัตราการสร้างเซลล์ใหม่เพื่อทดแทนเซลล์เดิมลดลงถึง 50 เปอร์เซนต์ และมีการเจริญเติบโตช้า รวมถึงเส้นเลือดฝอยมีการสร้างลดลงไปด้วย มีผลให้เซลล์แบ่งตัวลดลง ผิวหนังใหม่ที่เจริญขึ้นมาทดแทนต้องใช้ระยะเวลานานขึ้น คอลลาเจนและอีลาสตินถูกสร้างน้อยลง ทำให้ผิวหนังบาง มีความยืดหยุ่นน้อย ซึ่งง่ายต่อการฉีกขาด หรือหลุดลอก ต่อมไขมันลดทั้งจำนวนและประสิทธิภาพการทำงาน มีผลให้มีไขมันเคลือบผิวหนังลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง ทำให้ผิวแห้งและมีอาการคันได้ง่าย อีกทั้งมีปริมาณของไขมันใต้ผิวหนังลดลง ทำให้ขาดไขมันป้องกันแรงกระแทก ความชื้นของผิวหนังชั้นนอกลดลง ทำให้ผิวชั้นนี้เปราะ การรับรู้ความเจ็บปวดของปลายประสาทที่ผิวหนังก็ลดลง ไม่สามารถตอบสนองต่ออันตรายที่มีต่อผิวหนังได้ทันท่วงที ผิวหนังผู้สูงอายุจึงถูกทำลายได้ง่าย

ปัญหาเรื่องผิวหนังไม่มีความแข็งแรงมักพบในผู้ป่วยที่จำกัดการเคลื่อนไหว เช่นผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์  และผู้สูงอายุ  พบมากที่สุดในผู้ป่วยติดเตียง

วิธีดูแลสุขภาพผิวหนัง เพื่อส่งเสริมให้ผิวหนังของผู้ป่วยติดเตียงให้มีความแข็งแรง ดังนี้

1. ควรหลีกเลี่ยงการจัดท่านั่งศีรษะสูง 90 องศา หรือนั่งตัวตรง 90 องศา และท่านอนตะแคง 90 องศาเพราะเป็นท่าที่เกิดแรงกดสูงสุดบริเวณก้นกบ หัวไหล่ สะโพก ตามลำดับ ควรจัดท่านอนศีรษะสูง30 องศา โดยควรมีหมอนสอดคั่นระหว่างหัวเข่าและระหว่างตาตุ่มทั้ง 2 ข้าง เพื่อป้องกันการกดทับเฉพาะที่และการใช้หมอนรองบริเวณน่อง หรือขาส่วนล่าง เพราะเป็นท่านอนที่เกิดแรงกดบริเวณก้นกบและส้นเท้าต่ำสุดและท่านอนตะแคงโดยให้ศีรษะทำมุมกับที่นอน 30 องศา เพราะเป็นท่านอนที่เกิดแรงกดบริเวณหัวไหล่และสะโพกน้อยที่สุด  แต่การให้ผู้ป่วยนอนท่าเดียวนาน ๆ ก็อาจพบความไม่สุขสบายและเกิดผิวหนังถูกทำลายได้ จึงควรมีการช่วยเปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อลดระยะเวลาการกดทับต่อผิวหนัง

2. การพลิกตะแคงตัวร่วมกับการใช้ที่นอนลดแรงกดทับ การพลิกตะแคงตัวเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อให้เนื้อเยื่อบริเวณที่ถูกกดทับนาน ๆ ได้รับออกซิเจนรวมถึงสารอาหาร และช่วยลดอาการปวดหลัง การพลิก
ตะแคงตัว เป็นวิธีที่สามารถป้องกันการเกิดผิวหนังถูกทำลายได้ดี ค่าใช้จ่ายถูกที่สุด แต่การพลิกตะแคง และการเปลี่ยนท่า ควรพิจารณาตามสภาพของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดผิวหนังถูกทำลาย ไม่ควรปล่อยให้นั่งหรือนอนนานเกิน 2 ชั่วโมง

3. การหลีกเลี่ยงการขัดถูบริเวณผิวหนัง เป็นการลดแรงเสียดสีซึ่งเป็นการทำลายผิวหนัง ควรใช้ผ้าขนหนูนุ่ม ๆ ซับผิวหนังให้แห้งหรือควรปล่อยให้ผิวหนังแห้งเอง การหลีกเลี่ยงลอกเทปแผ่นปิดแผล หรือการลอกพลาสเตอร์ออกจากผิวหนังที่ไม่ถูกวิธี พบว่าควรเริ่มตั้งแต่เลือกใช้พลาสเตอร์ให้ถูกต้องกับชนิดอุปกรณ์ และติดเทปให้ติดกับผิวหนัง โดยใช้แรงกดเบา ๆควรยืดระยะเวลาการลอกพลาสเตอร์ หากเป็นไปได้ไม่ควรน้อยกว่า 24 ชั่วโมง ดึงพลาสเตอร์ส่วนที่ชิดผิวหนังออกในแนวราบอย่างช้า ๆ ด้วยความระมัดระวัง หากผิวหนังมีคราบกาวของพลาสเตอร์ ควรเช็ดออกด้วยน้ำมันมะกอก หลีกเลี่ยงการติดพลาสเตอร์ซ้ำบริเวณเดิม และควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงผิวหนังที่ผ่านการลอกพลาสเตอร์อย่างต่อเนื่องในช่วง 24 ชั่วโมงแรก

4. การป้องกันไม่ให้ผิวหนังสัมผัสกับอุจจาระและปัสสาวะ เนื่องจากการสัมผัสกับปัสสาวะเป็นเวลานาน ๆ ทำให้เกิดการระคายเคืองจากความชื้น ผิวหนังชั้นนอกสุดจะอ่อนแอ เปื่อยลอก ถูกทำลายได้ง่าย

5. การเลือกใช้ผ้าอ้อมอนามัย เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันการซึมเปื้อน รั่วซึม ในผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการขับถ่าย

 

คำแนะนำเรื่องการดูแลผิวหนังและการบำรุงผิวแก่ผู้ป่วยติดเตียง

1 การทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำเพียงอย่างอย่างเดียว พบว่า ไม่เพียงพอสำหรับการชะล้างสิ่งสกปรกของร่างกาย

2.การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการดูแลและบำรุงผิวหนัง ได้แก่ โลชั่นหรือครีม ใช้ทาบริเวณผิวหนัง
โดยเป้าหมาย เพื่อป้องกันหรือบรรเทาความแห้งของผิวหนัง ทำให้ผิวหนังมีความเนียนนุ่ม ชุ่มชื้น เป็นการช่วยส่งเสริมความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของผิวหนัง

3.ภาวะโภชนาการ เป็นสารบำรุงผิวที่ดีที่สุด เพราะอาหารช่วยให้ผิวพรรณสดชื่น และดูอ่อนวัยได้
ดังนั้นผู้ป่วยติดเตียงควรเน้นรับประทานอาหารประเภท โปรตีนจากเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกปลา และปลาทะเลน้ำลึก จะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ส่งเสริมการสร้างเซลล์ผิวใหม เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโภชนาการอาหารสำหรับผู้ป่วยติดเตียง

สรุปการดูแลผิวหนังในผู้ป่วยติดเตียงให้มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่ผู้ดูแลต้องมีความเอาใจใส่เป็นพิเศษทีเดียว  ตั้งแต่การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหนัง ได้แก่โลชั่น หรือครีม ใช้ทาบริเวณผิวหนัง เพื่อป้องกันหรือบรรเทาความแห้งของผิวหนัง ทำให้ผิวหนังมีความเนียนนุ่ม ชุ่มชื้น เป็นการช่วยส่งเสริมความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของผิวหนัง  และการดูแลเรื่องการรับประทานอาหาร เน้นโปรตีนจากเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกปลา ซึ่งจะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ส่งเสริมการสร้างเซลล์ผิวใหม่ให้ผู้ป่วยติดเตียง เพื่อทำให้ผิวหนังไม่ให้ถูกทำลาย และยังช่วยให้ผิวหนังสามารถทำหน้าที่เป็นปกติได้นานที่สุด  สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ผู้ดูแลควรทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใสอยู่เสมอ การคิดบวกทำให้ผู้ดูแลสามารถดูแลบุคคลอันเป็นที่รักอย่างมีความสุข