รักษาแผลกดทับไม่ยากอย่างที่คิด

รักษาแผลกดทับ

รักษาแผลกดทับไม่ยากอย่างที่คิด การดูแลผู้ป่วยที่มีแผลกดทับ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากผู้ป่วยได้รับการใส่ใจดูแลเป็นอย่างดี ก็จะทำให้แผลของผู้ป่วยหายเร็ว ลดโอกาสการเกิดแผลใหม่ๆ ขึ้นมา แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ คิดว่าเป็นแค่แผลธรรมดา อาจทำให้กลายเป็นแผลขั้นรุนแรงมากได้

การดูแลผู้ป่วยที่มีแผลกดทับ

กลุ่มผู้ป่วยที่พบปัญหาแผลกดทับ

  1. ผู้ป่วยสูงอายุนอนติดเตียงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือ ต้องการคนดูแลในบางเวลา
  2. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน หรือไทรอยด์
  3. ผู้ป่วยที่ขยับร่างกายได้ลำบาก เช่น ผู้ป่วยที่มีแขนขาอ่อนแรง
  4. ผู้ป่วยจากอุบัติเหตุ เช่น กระดูกหัก ทำให้เคลื่อนไหวได้น้อย
  5. ผู้ป่วยที่ขาดสารอาหาร ขาดน้ำ ผิวหนังบาง
  6. ผู้ป่วยที่ควบคุมการขับถ่ายของตัวเองไม่ได้ ทำให้เกิดความอับชื้นจากการใส่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่

หัวใจสำคัญในการรักษาแผลกดทับ คือ การลดภาวะเสี่ยงจากการกดทับ ช่วยให้ผู้ป่วยเกิดแรงกดทับที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งน้อยลง การดูแลแผล บรรเทาอาการเจ็บแผล ป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งการรักษาแบบองค์รวมจะช่วยให้สามารถดูแลได้ครบทุกด้าน เมื่อผู้ดูแล/ญาติมีความรู้และเข้าใจในการดูแลแผลกดทับพบว่าแผลกดทับจะดีขึ้น วิธีการรักษาแผลกดทับ ได้แก่

  1. ลดแรงกดทับ โดยจัดท่านอนผู้ป่วยติดเตียงให้พลิกตัวทุก 2 ชั่วโมง และทำการพลิกตัวผู้ป่วยติดเตียงด้วยความระมัดระวัง เพราะหากพลิกผิดท่า หรือไม่ดี อาจทำให้เกิดแรงเสียดสีและเป็นแผลได้เช่นกัน หากนอนตะแคงควรนอนที่ 30 – 45 องศา นอนหนุนศีรษะไม่สูงเกิน 30 องศา ไม่นั่งกดทับแผล หากเป็นไปได้ควรเลือกที่นอน และเบาะนั่งที่ลดแรงกดทับ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ
  2. ดูแลแผล เนื่องจากแผลจะหายในที่ที่มีความชุ่มชื้นอยู่บ้าง ดังนั้นในการทำแผลแพทย์จะพิจารณาน้ำหลั่งจากแผล ถ้าน้ำหลั่งเยอะ จะใช้วัสดุที่ดูดซับได้ดี แต่ถ้าน้ำหลั่งน้อยมาก แพทย์จะใช้วัสดุปิดแผลที่ไม่ติดแผลมากนัก จากนั้นแพทย์จะพิจารณาพื้นแผล เนื้อตาย ขอบแผล ประเมินภาวะติดเชื้อ โดยจะเลือกวัสดุปิดแผลที่เหมาะกับประเภทของแผลเป็นสำคัญ เพื่อให้แผลหายเร็วขึ้นและลดการเสียดสีที่ผิวหนัง ผู้ดูแลควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดในการดูแลแผล
  3. การตัดเนื้อตาย แพทย์จะทำการตัดเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายออกไป เพราะแผลกดทับจะหายได้ต้องไม่มีการติดเชื้อหรือเนื้อเยื่อตาย โดยแพทย์อาจนำส่วนของกล้ามเนื้อ ผิวหนัง หรือเนื้อเยื่อในร่างกายของผู้ป่วยมาปิดแผลและกระดูกในบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากแผลกดทับ และแพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะและการดูแลต่าง ๆ เพิ่มเติมตามความเหมาะสม

ที่นอนป้องกันแผลกดทับ

ผู้ป่วยติดเตียงที่เป็นแผลกดทับ การดูแลรักษาแผลกดทับในผู้ป่วยติดเตียงไม่ยากอย่างที่คิด
โดยผู้ดูแลมีความรู้และเข้าใจในการทำแผล ดังนี้

1.การทำความสะอาดแผลที่อยู่ในระยะเริ่มและขยายกว้าง
1.1 ควรล้างแผลกดทับเบาๆ ควรทำเฉพาะผิวหนังรอบๆ แผลกดทับเท่านั้น หลีกเลี่ยงการขัดถูแผล
1.2 น้ำยาที่ใช้ล้างแผลกดทับต้องไม่มีพิษต่อเซลล์ ได้แก่ น้ำเกลือ ส่วนน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น Povidone – Iodine , Chlorhexidine, Dekin- solution, Hydrogen peroxide ไม่ควรใช้ในระยะแผลเริ่มและขยายกว้าง เพราะจะทำลายเซลล์ที่จำเป็นในการซ่อมแซมแผล ทำให้แผลกดทับหายช้า

2.การทำความสะอาดแผลติดเชื้อหรือแผลเนื้อตาย
2.1 ผู้ดูแลควรใช้น้ำยาทำความสะอาดแผล น้ำเกลือ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อล้างแผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผลติดเชื้อจากการปนเปื้อน
2.2 ผู้ดูแลควรกำจัดเศษเนื้อตายและสิ่งแปลกปลอมต่างๆบริเวณปากแผล เพราะจะเป็นแหล่งให้แบคทีเรียเจริญได้ดี ผู้ดูแลจึงควรตัดเล็มเศษเนื้อตายออกให้หมด เพื่อเซลล์ใหม่จะงอกขยายเจริญมาปกคลุมแผลได้ดี
2.3 ผู้ดูแลควรกำจัดช่องหรือโพรงที่อยู่ภายใต้ผิวหนัง เนื่องจากช่องหรือโพรงมักมีสารคัดหลั่งจากแผลซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่ดีของแบคทีเรีย ผู้ดูแลควรทำการอุดช่องหรือโพรงอย่างหลวมๆ ด้วยก๊อสหรือวัสดุที่เหมาะสมด้วยการฉีดล้าง ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับแผลลึกมีโพรง ทำโดยใช้กระบอกฉีดยาบรรจุน้ำเกลือปราศจากเชื้อฉีดล้างทำความสะอาดแผล 2-3 ครั้งจนกระทั่งน้ำยาทำความสะอาดแผลที่ใช้มีความใส
2.4 ผู้ดูแลควรดูแลเรื่องความสะอาดของอุปกรณ์รอบตัวผู้ป่วยเป็นพิเศษ เลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันแบคทีเรีย เพื่อช่วยปกป้องแผลกดทับจากการติดเชื้อ

การสอนและให้ความรู้โดยเน้นย้ำการป้องกันการเกิดแผลกดทับแก่ญาติ/ผู้ดูแลจะเป็นการป้องกันแผลกดทับได้อย่างดี ถ้าญาติ/ผู้ดูแลได้ทบทวนการดูแลแผลกดทับใน”คู่มือปฏิบัติการดูแลแผลกดทับ”จะเข้าใจดียิ่งขึ้น โดยด้านอื่นๆญาติ/ผู้ดูแลควรมีความรู้เพิ่มด้วย เช่นการส่งเสริมโภชนาการให้ผู้ป่วยติดเตียง การจัดท่านอนให้ผู้ป่วยติดเตียง การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เมื่อญาติ/ผู้ดูแลรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของทีมสุขภาพในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ญาติ/ผู้ดูแลจะมีความภูมิใจในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง อันเป็นที่รักและเกิดความสุขในการดูแล

ดูแลผู้ป่วยติดเตียง