ผู้ป่วยที่นอนติดเตียงนั้น ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายได้มากนัก จึงจำเป็นต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ ส่วนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ควรเป็นผู้แนะนำให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ญาติ และผู้ป่วยที่นอนติดเตียง ในบางกรณีอาจต้องใช้วิธีการรักษาหรือเครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์เป็นพิเศษ จึงจำเป็นจะต้องรับการดูแลจากแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดีควรพยายามให้ผู้ป่วยที่นอนติดเตียงเหล่านี้ได้กลับไปรับการดูแลจากลูกหลาน หรือญาติโดยเร็ว เนื่องจากพบว่าการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ผู้ใกล้ชิดและความเคยชินดั้งเดิมของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ติดเตียงนั้นจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
สิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยต้องนอนติดเตียงมักมาจากสาเหตุที่แตกต่างกัน เช่น สาเหตุจากโรคหลอดเลือดสมองการผ่าตัด หรือการประสบอุบัติเหตุ ซึ่งแต่ละสาเหตุที่กล่าวมาจะเกิดได้จากภาวะในร่างกายที่ผิดปกติ หรืออาจเกิดจากความประมาทของผู้ป่วยเองที่ได้ทำให้เป็นเช่นนั้น
นอกเหนือจากสาเหตุต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น ผู้สูงอายุ ซึ่งมักจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมเกิดขึ้นกับอวัยวะทุกระบบในร่างกายซึ่งเป็นไปตามกฎของธรรมชาติที่พบบ่อยและมองเห็นเด่นชัด คือความเสื่อมที่เกิดขึ้นกับระบบการเคลื่อนไหว ซึ่งหมายรวมถึงกระดูก ข้อ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ มีผลทำให้สมรรถภาพทางกายของผู้สูงอายุลดลง ไม่ค่อยกระฉับกระเฉง ปวดเมื่อยเนื้อตัวและข้อต่อต่างๆ พละกำลังลดน้อย นอกจากนี้ยังมีผลกระทบทางด้านจิตใจอีกด้วย ดังนั้นเป้าหมายในการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้สูงอายุจึงต้องมุ่งเน้นทั้งทางด้านกายและจิตใจร่วมกันไป และผู้ที่จะทำหน้าที่อย่างนี้ได้ดีที่สุดคือ ลูกหลาน
เมื่อผู้สูงอายุในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว จะพบว่าร่างกายจะเสื่อมโทรมจนต้องนอนบนเตียงตลอดเวลาผู้ป่วยนอนติดเตียงมีทั้งผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองได้โดยใช้อวัยวะบางส่วน ซึ่งการดูแลและฟื้นฟูสมรรถภาพให้กับผู้ป่วยนอนติดเตียงคือการที่จะต้องดูแลทั้งสมรรถภาพทางกายและทางใจไปพร้อม ๆ กัน
การดูแลและฟื้นฟูสมรรถภาพให้กับผู้ป่วยนอนติดเตียงจะต้องดูแลให้ครอบคลุม เพื่อให้ผู้ป่วยติดเตียงสามารถช่วยเหลือตนเองได้และกลับมามีวิถีชีวิตปกติหรือใกล้เคียงเดิมให้ได้มากที่สุด ทั้งเรื่องความเป็นอยู่ เรื่องสุขภาพทางกาย สุขภาพใจ การรับประทาน การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยหรือผู้ที่ดูแลผู้ป่วย หากท่านมีผู้ที่อยู่ในความดูแลสามารถนำวิธีดังต่อไปนี้ใช้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงในความดูแลของท่านได้
- การรับประทาน
อาหารการกินเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัย 4 ที่มนุษย์จะต้องมี และการกินก็มีผลต่อการมีชีวิตอยู่ ผู้ป่วยนอนติดเตียงนอกจากจะต้องรับประทานอาหารให้ครบหมวดหมู่ อาหารที่อ่อนและย่อยง่ายแล้ว ท่าทางในการรับประทานอาหารอย่างการประคองหรือปรับเตียงให้หลังผู้ป่วยตั้งตรงขณะที่รับประทานอาหาร ก็จะช่วยให้อาหารที่ทานไหลผ่านลงกระเพาะได้สะดวกมากขึ้น หากไม่ทำตามนี้อาจทำให้ผู้ป่วยนอนติดเตียงสำลักหรือปอดอักเสบได้ และหลังจากทานอาหารแล้วควรนั่งอยู่ในท่าดังกล่าวราวๆ 1-2 ชั่วโมง ก่อนจะให้นอนขนานกับพื้นเตียงหรือที่นอนตามปกติ การเลือกอาหารให้กับผู้ป่วยติดเตียงถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง เพราะหากผู้ป่วยไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพออาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับภาวะทุพโภชนาการซึ่งเป็นสภาวะของร่างกายที่ได้รับอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ได้รับสารอาหารไม่ครบ ทำให้ขาดสารอาหารร่วมกับการขาดพลังงาน ทำให้เกิดโรค เช่น โรคขาดโปรตีน โรคขาดวิตามินต่าง ๆ และภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ เป็นต้น เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะทุพโภชนาการ และสารอาหารที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยติดเตียง
- การนอน
การนอนสำหรับผู้ป่วยนอนติดเตียงมักทำให้เกิดแผลกดทับตามร่างกาย เช่น สะโพก ต้นขา ส้นเท้าและตาตุ่ม ซึ่งเป็นบริเวณที่เป็นปุ่มกระดูกเมื่อถูกกดทับเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดแผล การเลือกที่นอนที่ออกแบบมาสำหรับผู้ป่วยติดเตียง เพื่อช่วยลดแรงกดทับและแผลกดทับ จึงมักเป็นทางเลือกที่ผู้ดูแลมองหา เพราะเมื่อเกิดแผลกดทับ ระดับความรุนแรงของแผลอาจมีตั้งแต่ผิวหนังไม่ฉีกขาดแต่มีรอยแดงที่มีระดับความรุนแรงที่น้อย ผิวหนังหลุดลอกบางส่วนมีแผลตื้น ๆ หรืออาจสูญเสียผิวหนังบริเวณนั้นไปทั้งหมด หรืออาจถึงขั้นที่รุนแรงมากและสูญเสียผิวหนังไปทั้งหมดจนถึงชั้นกล้ามเนื้อ เอ็นและกระดูก ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวด และมีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นนอกจากการเลือกที่นอนที่ช่วยลดแรงกดทับแล้ว ผู้ดูแลยังควรดูแลด้วยการให้ผู้ป่วยพลิกตะแคงเปลี่ยนท่าทุก 2 ชั่วโมง โดยไม่ลากหรือทำให้เกิดการเสียดสีที่จะทำให้เกิดแผลจะเป็นการดูแลและฟื้นฟูสภาพทางร่างกายไม่ให้มีระดับความรุนแรงที่มากขึ้น ซึ่งส่งผลดีโดยตรงต่อผู้ป่วยนอนติดเตียง
- การขับถ่าย
การขับถ่ายเป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีส่วนทำให้ผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อได้ เพราะผู้ป่วยบางท่านไม่สามารถลุกเข้าห้องน้ำเองได้ หรือลุกได้แต่ก็ไม่สะดวกเพราะลักษณะทางกายภาพผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป เพื่อความสะดวกสบายในการขับถ่าย แต่สิ่งที่ต้องเสี่ยงตามมาหากไม่มีการเปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูปชิ้นใหม่ทันทีอาจเกิดหมักหมมของมูลหรือของเหลวที่ขับถ่ายออกมา และเมื่อมีแผลดังกล่าวก็อาจทำให้แผลติดเชื้อจากสิ่งสกปรกที่ขับถ่ายออกมาในที่สุด การดูแลจึงควรเปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูปทุกครั้งที่มีการขับถ่ายไม่ว่าจะขับถ่ายเป็นมูลหรือของเหลวก็ตาม เพื่อลดการระคายเคืองซึ่งจะนำไปสู่การเกิดแผลและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของผู้ป่วยนอนติดเตียงอีกด้วย
- การออกกำลังกาย
สำหรับผู้ป่วยติดเตียงแล้ว การที่ต้องใช้ชีวิตบนเตียงทั้งวันทั้งคืนคงเป็นสิ่งที่สร้างความรู้สึกแย่ให้กับผู้ป่วยติดเตียงไม่มากก็น้อย เพราะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามต้องการและต้องอยู่กับที่เป็นเวลานานหรือบางคนอาจจะทั้งชีวิตที่เหลืออยู่ สิ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยนอนติดเตียงมีสภาพทางร่างกายและจิตใจที่ดีคือการทำให้ผู้ป่วยที่นอนติดเตียงมีความสุขและสามารถดำรงชีวิตอยู่กับสิ่งที่เป็นได้ โดยการทำกายภาพบำบัดหรือออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวบ้าง นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยนอนติดเตียงที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ยิ่งต้องให้กำลังใจกันมาก ๆ โดยการชวนพูดคุยหรือเล่าเรื่องราวที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกผ่อนคลายสบายใจ ซึ่งจะช่วยลดความเครียดจากสิ่งที่เผชิญได้หรือมีกำลังใจในการต่อสู้จนสามารถฟื้นตัวจนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ด้วยกำลังกายและกำลังใจดังที่กล่าวมา
ในผู้ป่วยนอนติดเตียงนั้น กล้ามเนื้อเริ่มมีมวล หรือขนาดเล็กลง สารอาหารพวกไกรโครเจนและเกลือแร่ที่จำเป็นในการทำงานของกล้ามเนื้อก็จะมีสะสมอยู่น้อย จึงทำให้พลังของกล้ามเนื้ออ่อนลง รู้สึกเหมือนไม่ค่อยมีกำลังยกของหนัก ไม่ค่อยไหว หรือเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย การบริหารและออกกำลังกายที่เหมาะสมจะช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นได้โดยตรง ร่วมกับการพักผ่อนและอาหารที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดผลดีกับอวัยวะอื่นๆ ด้วย เช่น ปอด หัวใจ เส้นเลือด สมอง จิตใจ และควรจะค่อยเป็นค่อยไปไม่หักโหม
สรุปว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายในผู้ป่วยนอนติดเตียงจะต้องทำกันเป็นระบบ และในแง่มุมต่างๆ พร้อมกันไป ลูกหลานและผู้ใกล้ชิดควรมีความรู้และความเข้าใจในธรรมชาติของผู้ป่วยนอนติดเตียง แนวทางคือ โภชนาการที่เหมาะสม การพักผ่อนที่เพียงพอ ความรักและการดูแลเอาใจใส่จากลูกหลานและสังคม มีงานอดิเรกและปรับวิถีทางชีวิตประจำวันให้ได้ออกแรงเคลื่อนไหวบ้าง การออกกำลังกายที่เหมาะสม ไม่หักโหม
การดูแลผู้ป่วยนอนติดเตียงที่กล่าวไปเป็นเพียงบางส่วนที่สามารถนำไปปฏิบัติตามได้ แต่การจะดูแลผู้ป่วยมีกลุ่มอาการที่ต่างกันทำให้การดูแลและฟื้นฟูอาจมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันตามกลุ่มอาการ ทั้งนี้การปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้รู้ในด้านนี้โดยตรงจะทำให้การรักษา การดูแลและฟื้นฟูเป็นไปได้อย่างราบรื่นและฟื้นตัวได้ดีผู้ป่วยสุขกายสบายใจ บุตรหลาน ญาติพี่น้องก็สบายใจไปด้วยนั่นเอง