ผู้ป่วยติดเตียงควรนอนพักอย่างไร ผลเสียของการไม่ได้นอนหรือนอนไม่เพียงพอ

การนอนหลับไม่ได้ หรือนอนได้ไม่เพียงพอเป็นหนึ่งในปัญหาที่ผู้ป่วยติดเตียงหลายๆท่านเจอ ไม่ว่าจะเกิดจากความกังวล อารมณ์และความแปรปรวนในร่างกาย หรือจากการถูกรบกวนระหว่างนอนเนื่องจากการรักษาพยาบาล หรือแม้แต่การพลิกตัว เหล่านี้ ล้วนมีผลกระทบต่อการพักผ่อนของผู้ป่วย เนื่องจากการนอนหลับเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์  โดยมนุษย์ใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งในสามของชีวิตไปกับการนอน การนอนที่ไม่เพียงพอและไม่มีคุณภาพ จะส่งผลกระทบในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านร่างกาย พบว่าผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับมักจะมีอาการอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น มีปัญหาด้านความคิด ง่วงนอนเวลากลางวัน ฮอร์โมนในร่างกายทำงานผิดปกติ รวมไปถึงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกรบกวน ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย  ด้วยเหตุนี้คุณภาพการนอนหลับจึงมีความสำคัญในชีวิตมนุษย์

ผลกระทบทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจเมื่อผู้ป่วยติดเตียงนอนไม่เพียงพอมีดังนี้

1.ผลกระทบต่อระบบประสาท เมื่อปริมาณการนอนหลับในเวลากลางคืนลดลงและมีภาวะพร่องของการนอนหลับ จะพบความแปรปรวนด้านร่างกาย จิตใจและอารมณ์ ได้แก่ ตาพร่า มือสั่น รีเฟล็กซ์ลดลง การได้ยิน และการมองเห็นลดลง อ่อนล้า เฉื่อยชา ความจํา การใช้เหตุผล และตัดสินใจช้าลง สับสนและประสาทหลอน ความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมลดลง

2. ผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและการซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่สึกหรอ จะทำให้กระบวนการสร้างและซ่อมแซมร่างกายลดลง ทำให้การฟื้นหายจากโรคช้า รวมทั้งเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ และเกิดอาการอ่อนเพลียทำให้ความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆ ลดลง

3.ผลกระทบต่อการทํากิจกรรมประจําวัน เช่น อาการง่วงเหงาหาวนอน ขาดความกระตือรือร้น  อ่อนเพลีย  หรือขาดสมาธิในการทํากิจกรรมต่างๆ

4.ผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันส่งผลให้ประสิทธิภาพการทํางานของระบบภูมิคุ้มกันลดลง

5.ผลกระทบต่อระบบการเผาผลาญจะทําให้น้ำหนักตัวลดลงจากการเผาผลาญที่มากขึ้นจากการนอนไม่หลับ

6.ผลกระทบด้านจิตใจและอารมณ์ พบว่าผู้ป่วยที่มีปัญหาการนอนหลับจะมีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียวได้ง่าย ซึมเศร้าหรือหวาดระแวง แรงจูงใจลดลง

7.ผลกระทบต่อสัมพันธภาพกับผู้อื่น ผู้ป่วยที่นอนหลับไม่เพียงพอ จะมีอาการหงุดหงิดง่ายและขาดสมาธิ  ขาดความกระตือรือร้น  ไม่ต้องการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมครอบครัว  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสัมพันธภาพกับผู้อื่น

เมื่อผู้สูงอายุเกิดการเจ็บป่วยและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง ปัญหาการนอนหลับจะพบมากยิ่งขึ้น ได้แก่ความไม่สุขสบายและความเจ็บปวดจากอาการของโรค รวมถึงความวิตกกังวลทั้งจากโรคและการรักษา ประกอบกับอายุที่มากขึ้นทําให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย กลัว วิตกกังวล

ขอแนะนำการส่งเสริมการนอนหลับแก่ผู้ป่วยติดเตียง

1.การฝึกสุขวิทยาในการนอนหลับ ทําได้โดยการเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา

2. การจัดสิ่งแวดล้อมให้อากาศถ่ายเทสะดวก อุณหภูมิห้องควรอยู่ในช่วง 21-27 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเคยชินกับการนอนในอุณหภูมิที่ต่างกันของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย แต่ควรจะเป็นอุณหภูมิที่เย็นสบายไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกร้อนจนเหงื่อออก ความเงียบ และเครื่องนอน การใช้ที่นอนที่ไม่แข็ง หรือไม่นุ่นจนเกินไป การปิดไฟให้มืดสนิท หรือหรี่ไฟให้แสงสว่างน้อยที่สุด บรรยากาศที่เหมาะสม ไร้เสียงและกลิ่นรบกวนจะช่วยให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ดี

3.การวางแผนจัดกิจกรรมการพยาบาลเพื่อไม่ให้รบกวนผู้ป่วยโดยไม่จําเป็น เนื่่องจากผู้ป่วยต้องถูกปลุกบ่อยครั้งเพื่อรับการรักษาพยาบาล หรือปลุกตอนเช้าเพื่่อทําความสะอาดร่างกายและรับประทานอาหาร หรือแม้แต่เพื่อพลิกตัวป้องกันแผลกดทับ ดังนั้นควรจัดลําดับความสําคัญของการทํากิจกรรมการพยาบาล และพิจารณาว่ากิจกรรมใดบ้างที่ไม่จําเป็นต้องทําในระหว่างที่ผู้ป่วยนอนหลับ หากเป็นไปได้ควรทํากิจกรรมการพยาบาลขณะที่ผู้ป่วยตื่่น หากไม่สามารถทําได้ ก็ควรหลีกเลี่ยงการปลุกผู้ป่วย

4.การผ่อนคลายโดยการนวดกดจุดฝ่าเท้า เป็นวิธีการกดนวดกระตุ้นฝ่าเท้ารวมทั้งหลังเท้าและข้อเท้าตามตำแหน่งพื้นที่สะท้อน ซึ่งเป็นตัวแทนอวัยวะในร่างกายเพื่อให้มีผลเกิดแก่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ปรับร่างกายให้เกิดความสมดุล แก้ไขภาวะความไม่สมดุลเพื่อทำให้ร่างกายกลับคืนสู่สภาวะปกติ ช่วยให้ระบบการไหลเวียนโลหิตภายหลังการนวดกดจุดฝ่าเท้าจะส่งผลให้ร่างกายผ่อนคลายความตึงเครียดและการเกร็งตัวของระบบกล้ามเนื้อ

5. ดนตรีบำบัด พบว่าดนตรีทำให้นอนหลับ โดยการทำให้ผ่อนคลาย และเบี่ยงเบนความสนใจ ลดการทำงานของระบบประสาทและต่อมไร้ท่อ ระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติก ช่วยให้ความวิตกกังวลลดลง ลดอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ ความดันโลหิต และเสียงสวดมนต์ร่วมกับเสียงดนตรีที่นุ่มนวลจะมีผลต่อการนอนหลับ ทำให้ผู้ป่วยหลับได้ดีขึ้น

ขอสรุปวิธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วยติดเตียงที่ส่งเสริมคุณภาพการนอนหลับที่ดีขึ้น  คือ การสร้างสุขนิสัยในการนอนหลับ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการนอนหลับ การปรับเปลี่ยนความคิดเพื่อลดความวิตกกังวล การใช้เทคนิคการผ่อนคลายต่างๆ เพื่อส่งเสริมการนอนหลับ  และการใช้ดนตรีบําบัดโดยการผสมผสานดนตรีกับบทสวดมนต์เพื่อประกอบเป็นเพลงธรรมะ  น่าจะช่วยให้ผู้ป่วยติดเตียงที่นับถือศาสนาพุทธมีคุณภาพการนอนหลับดีขึ้น นอกจากคุณภาพการนอนหลับของผู้ป่วยติดเตียงดีขึ้นแล้วยังส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวจากโรคในผู้ป่วยติดเตียงดีขึ้นด้วย